x close

เด็กอารมณ์ดี..สมองดี

แม่และเด็ก

เด็กอารมณ์ดี..สมองดี
(modernmom)
โดย : นภัส

         พ่อแม่ย่อมหวังจะให้ลูกเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กที่เก่ง ดี และมีความสุข ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ให้ลูก เป็นเรื่องที่ควรปลูกฝังตั้งแต่เล็ก เพราะจะส่งผลถึงการพัฒนาสมองและการเรียนรู้ของลูกต่อไป

พัฒนาการทางสมองของลูกขวบปีแรก

         สมองไม่ใช่แค่เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกายเท่านั้น หากแต่ยังเป็นสิ่งที่บ่งบอกความเป็นตัวตนผ่าน การคิด การไตร่ตรอง แยกแยะสิ่งผิดถูก อารมณ์ ความรู้สึก และสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ไว้มากมาย

         สมองของทารกแรกเกิด เมื่อครบกำหนดคลอดจะมีน้ำหนัก 500 กรัม และมีเซลล์สมองประมาณ 1 แสนล้านเซลล์ โดยไม่มีการสร้างเพิ่มเติมอีก แต่ด้วยสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูที่เหมาะสมของพ่อแม่นั่นเอง มีอิทธิพลต่อการพัฒนาสมองอย่างยิ่ง

อารมณ์ดีสมองดีจริงหรือ

         นพ.อุดม เพชรสังหาร จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง กล่าวถึงนิยามและอารมณ์ดีว่า

         "อารมณ์ดีเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ เมื่อรู้สึกว่าตัวเองรอดปลอดภัยแล้วมนุษย์ถึงจะเรียนรู้ หากไม่รู้สึกว่าปลอดภัย ก็จะไม่รับไม่เรียนรู้อะไรทั้งนั้น เช่นเดียวกับเด็ก การจะทำให้ลูกอารมณ์ดีก็ต้องเริ่มต้นจากแม่ เพราะการแสดงอารมณ์แจ่มใสร่าเริงให้เด็กรับรู้ ถือเป็นสัญญาณหนึ่ง ที่ทำให้เด็กรับรู้ได้ว่าเขาปลอดภัย เหมือนเวลาเราเห็นหมาแยกเขี้ยวกับหมากระดิกหาง ก็รู้ได้ว่าอันไหนคุกคามหรือเป็นมิตร เมื่อเด็กรู้สึกปลอดภัยแล้ว ระบบลิมบิกก็ทำงาน ส่งให้ฮอร์โมนที่เป็นสุขเกิดขึ้น วงจรเกี่ยวกับความสุข (Reward Circuit) ก็ทำงาน พอเด็กมีความสุขการเรียนรู้ก็จะเกิด"

         "Safety Need เป็นความต้องการอันสำคัญของเด็ก อย่างบอกว่าเมื่อเขารู้สึกปลอดภัย การเรียนรู้ของเขาก็จะเป็นการเรียนรู้ที่จะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นการเรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเอง แต่หากไม่มีจะกลายเป็นการเรียนรู้เพียงเพื่อเอาตัวรอดจากอันตรายนั้น แต่จะไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เหมือนเด็กที่เรียนเก่ง IQ ดี จะกังวลอยู่กับเกรด จะไม่ค่อยได้มองสิ่งรอบตัว มีเพื่อนจะไม่รู้ว่าคนนี้มาจากไหน เป็นคนยังไง แต่จะไปคิดว่าเพื่อนคนนี้จะช่วยเราได้ยังไง มองอยู่แค่นี้ไม่มองเรื่องอื่นๆ เพราะเขาไม่มีความรู้สึกปลอดภัยในตัวเอง"

         ด้วยเหตุนี้ นิยามคำว่าอารมณ์ดีของเด็กจึงเปลี่ยนไป จากที่วัดกันจากรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เปลี่ยนเป็นการสร้างความรู้สึกปลอดภัยอบอุ่น แล้วลูกจะเกิดความมั่นใจและเห็นคุณค่าในตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือมิติที่ก่อให้เกิดพัฒนาการทางสมองและการเรียนรู้ได้มากกว่า

5 เทคนิคให้ลูกน้อยอารมณ์ดี

1.นวดให้สบายตัว

         เพียงการลูบไล้หลังอาบน้ำไปตามกล้ามเนื้อช่วงแขนช่วงขา มือ และเท้าของลูกเบาๆ โดยลงน้ำหนักบริเวณอุ้งมือและหัวแม่มือ อาจจะใช้โลชั่น(ที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ ไม่เหนียวเหนอะตัว) ด้วยก็ได้ ขณะที่นวดอย่าลืมพูดคุยกับลูกด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน อารมณ์ที่ดีของคุณแม่ด้วย

         การนวดช่วยกระตุ้นให้โลหิตไหลเวียนได้ดี ช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผ่อนคลาย ลูกจะรู้สึกสงบสุขมากขึ้น และจะรับรู้ได้ถึงความรัก ความอบอุ่นที่ส่งผ่านมา ลูกก็จะอุ่นใจและมั่นใจว่าจะเติบโตอยู่ในโลกนี้ได้อย่างมีความสุข

2. ฟังเพลงให้สบายใจ

         การเปิดเพลงจังหวะเบาๆ สบายๆ ให้ลูกฟัง จะช่วยเรียกความสนใจของลูกให้จดจ่ออยู่กับท่วงทำนอง สงบนิ่ง และไม่โยเย อีกทั้งดนตรียังเป็นหนึ่งในหลายวิธีที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของสมอง ทำให้เส้นใยประสาทแตกแขนงมากขึ้น ซึ่งคุณแม่อาจจะร้องให้ลูกฟังเองก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด

3.จัดบ้านเพื่อลูกน้อย

         สภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่ดี ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ลูกอารมณ์ดีได้ โดยอยู่ในที่อากศถ่ายเท ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป มีพื้นที่ให้ได้สำรวจ ได้เล่นอย่างสนุกสนานและปลอดภัย โดยเลือกใช้สีให้เหมาะสม เช่น สีส้ม จะสดใสเหมาะแก่การเล่นและเรียนรู้

4.มาเล่นกันดีกว่า

         ของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับลูกวัยขวบปีแรกก็คือคุณพ่อคุณแม่ โดยการเล่นแบบง่าย ๆ เช่น จ๊ะเอ๋ เก็บของ การเอาของเล่นสุดโปรด ไปวางไว้ตรงหน้าให้ได้เอื้อม ไขว่คว้า เป็นการบริหารกล้ามเนื้อลำตัว แขน ขา และยังช่วยฝึกการใช้ประสาทตาให้สัมพันธ์กับมืออีกด้วย

         ทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมทางร่างกายให้แข็งแรง ความพร้อมของกล้ามเนื้อบริเวณส่วนต่าง ๆ ไว้สำหรับการเคลื่อนไหว และมีความพร้อมทางอารมณ์ สำหรับการออกสู่โลกกว้างในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นต่อไป

5.พ่อแม่ก็ต้องอารมณ์ดี

         และมีการแสดงออกต่อลูกอย่างเหมาะสม สัมผัสลูกด้วยความอ่อนโยน พูดจาด้วยน้ำเสียงที่อบอุ่น และมีตอบสนองต่อความต้องการลูก เช่น เมื่อร้องก็มีคนมาโอบอุ้ม เมื่อหิวก็มีคนมาดูแล ลูกก็จะรู้สึกปลอดภัย และพร้อมต่อพัฒนาการต่าง  ๆ ได้ดี

         Window of Opportunity หรือหน้าต่างแห่งโอกาสของลูกจะอยู่ในช่วง 6 ปีแรก หากคุณพ่อคุณแม่ตอบสนองลูกได้อย่างเหมาะสม เริ่มต้นแต่เนิ่น ๆ และดูแลให้ราบรื่นไปตลอดก็มั่นใจได้ว่า ลูกน้อยจะเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กที่เก่ง ดี และมีความสุขแน่นอน

อารมณ์ต่าง ๆ ของลูกน้อย

อารมณ์รัก

         โดยเฉพาะใน ช่วง 6 เดือนแรก ลูกต้องการความรัก ความใกล้ชิดและเอาใจใส่จากแม่มากที่สุด การที่ได้อยู่ในอ้อมกอดแม่ ได้ดูดนมแม่ ได้กลิ่นของแม่ ก็ทำให้เขารู้สึกอบอุ่นและอารมณ์ดีมากเท่านั้น

โกรธ / ไม่ชอบ

         เมื่อลูกรู้สึกอึดอัดไม่สบายตัว หิว หรือเจ็บไข้ หากไม่ได้รับการตอบสนองจากแม่ หรือคนรอบข้าง ซึ่งแสดงออกโดยการร้องไห้ออกมา

กลัว

         ยิ่งกับเด็กขวบปีแรกที่พ่อแม่ยังเป็นศูนย์กลางในโลกของเขา อารมณ์กลัวเกิดจากการพบสิ่งแปลกใหม่ หรือคนแปลกหน้าที่ไม่คุ้นเคยจะเข้ามาขออุ้ม เด็กก็จะกลัวจนร้องไห้ออกมาได้

         หากลูกมีอะไรเข้ามากระทบกระเทือนจนเกิดความรู้สึกกลัว โกรธ หรือไม่ชอบ สมองส่วนลิมบิก ซิสเต็ม จะแปลข้อมูลออกมาเป็นความเครียด หรือไม่มีความสุข แล้วสร้างฮอร์โมนคอร์ดิโซลออกมาทำลายสมอง โดยเฉพาะส่วนความคิด ความฉลาด อารมณ์ และความทรงจำอีกด้วย




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เด็กอารมณ์ดี..สมองดี อัปเดตล่าสุด 19 มิถุนายน 2556 เวลา 14:44:39 1,487 อ่าน
TOP