x close

รับมือเมื่อลูกดื้อเงียบ !

แม่และเด็ก

ลูกดื้อเงียบ !
(รักลูก)
โดย : พรภิรมย์ เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ พญ.กุสุมาวดี คำเกลี้ยง จิตแพทย์เด็ก กรมสุขภาพจิต

          รู้จักและรับมืออย่างเหมาะสมกับอาการดื้อเงียบของเด็ก ๆ วัย 1- 3 ปี ยามไม่ได้ดั่งใจ

          อาการดื้อเงียบเป็นพัฒนาการทางอารมณ์อย่างหนึ่งของเด็กในวัย 2-2 ขวบครึ่ง ซึ่งก็มีสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

          1. พ่อแม่เข้มงวดเกินไป ตีกรอบให้ลูกมากเกินไป ก็จะส่งผลให้ลูกรู้สึกอึดอัด ข้องใจ ได้ยินอะไรก็มักจะทำเป็นหูทวนลม ไม่สนใจอะไร จนดูเหมือนลูกดื้อเงียบได้

          2. ตามใจลูกมากเกินไป เมื่อลูกไม่ได้อะไรตามที่ต้องการ ก็จะแสดงอาการไม่พอใจออกมา และยิ่งคุณพ่อคุณแม่ต่อว่า เจ้าตัวเล็กก็จะยิ่งแสดงอาการดื้อออกมาให้เห็น ส่งผลให้ลูกกลายเป็นเด็กปรับตัวยากค่ะ

          3. ปกป้องลูกมากเกินไป คุณพ่อคุณแม่บางคนกลัวลูกจะทำผิด จึงทำให้ลูกหมดทุกอย่าง ซึ่งจะส่งผลให้เขาติดนิสัยและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ กลายเป็นเด็กเฉื่อยชา ไม่กล้าที่จะทำอะไร ในที่สุดก็จะไม่กล้าคิด ไม่กล้าตัดสินใจอะไรด้วยตัวเอง

          4. พ่อแม่ทอดทิ้งลูก หรือไม่มีเวลาดูแล ซึ่งลูกก็จะรู้สึกว่าไม่มีใครรัก หมดกำลังใจที่จะทำตามสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการ สุดท้ายก็จะกลายเป็นเด็กดื้อ และแสดงการต่อต้านออกมา

          5. พ่อแม่มีพฤติกรรมรุนแรงต่อลูก เช่น การทำโทษที่รุนแรง การด่าว่าเวลาโกรธลูก เป็นการตอกย้ำให้ลูกรู้สึกอยากแก้แค้น ซึ่งวิธีการของเขาก็จะแสดงออกโดยการไม่พูดหรือไม่ทำตามคำสั่งนั่นเอง

          6. พ่อแม่ไม่คงเส้นคงวา เช่น คำสั่งหรือการห้ามลูกทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ควรจะให้เหมือนกันทุกครั้ง หากวันนี้ห้าม แต่อีกวันลูกสามารถทำได้ ลูกก็อาจจะสับสน ทำตัวไม่ถูก เพราะไม่เข้าใจว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องการอะไร

          7. ความหมายที่ไม่ชัดเจน การที่คุณพ่อคุณแม่พูดมากเกินไป หรือน้อยเกินไป อาจทำให้ลูกไม่เข้าใจได้ค่ะ เนื่องจากตามพัฒนาการของลูกแล้ว เด็กวัยนี้ยังมีเหตุผลค่อนข้างน้อย ลูกก็จะไม่เข้าใจและทำตามไม่ถูก

          8. สัมพันธภาพในครอบครัวแย่ ถ้าบรรยากาศในบ้านมีแต่ความตึงเครียด ผู้ใหญ่ทะเลาะกัน การสอนลูกก็จะมีหลายมาตรฐาน เป็นเหตุให้เด็กรู้สึกสับสนและไม่มั่นคงได้ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีความรักและความเข้าใจลูก ลูกก็จะรับรู้ว่าตนเองเป็นที่รักและมีคุณค่า ก็จะตอบสนองคุณพ่อคุณแม่ด้วยความรัก ความเคารพ และชื่อฟังผู้ใหญ่เสมอ

          9. ทัศนคติพ่อแม่เป็นสิ่งสำคัญ หากคุณพ่อคุณแม่มองการดื้อของลูกเป็นปัญหา ลูกก็จะเป็นฝ่ายผิดอยู่ตลอดเวลา การแก้ปัญหาก็จะไม่ได้ผลเพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่ยอมรับ ทั้ง ๆ ที่การดื้อของลูกนั้นเป็นพัฒนาการปกติตามวัยของเขาที่จะก้าวต่อไปสู่การเป็นตัวของตัวเองเท่านั้นเอง

ดื้อเงียบขัดพัฒนาการ

          การเรียนรู้ชะงักลง เพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถเข้าถึงและไม่สามารถส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกได้ เช่น ด้านสติปัญญา ลูกก็จะไม่มีความคิดริเริ่ม ทำอะไรไม่ได้ กลายเป็นเด็กเฉื่อย ส่งผลให้สติปัญญาด้อยลง

          การเข้าสังคมมีปัญหา เพราะเมื่อไม่สามารถไห้ความร่วมมือกับใครได้ ไม่ทำตามที่ผู้ใหญ่บอกก็จะทำให้ไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครอยากคุยด้วย พัฒนาการทางสังคมก็จะแย่ลง

          ไม่รู้จักอารมณ์ของตัวเอง เด็กดื้อเงียบมักจะเต็มไปด้วยความเศร้า ความกลัว ความกังวล และไม่มั่นใจในตนเอง หากคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถเข้าไปช่วยชี้แนะหรือจัดการอารมณ์ของลูกได้ ทักษะการเรียนรู้อารมณ์ของลูกก็จะแย่ลงไปด้วย

          การแสดงออกที่ไม่เหมาะสม เมื่อลูกดื้อก็จะมีกำแพงกั้นกลางระหว่างตัวเองกับพ่อแม่ ซึ่งลูกก็อาจจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่เป็น บางครั้งอาจกลายเป็นเด็กที่ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าตัดสินใจ

          พัฒนาการด้านภาษาช้า วัย 2-3 ขวบเป็นวัยที่กำลังหัดพูด ช่างถาม แต่หากลูกดื้อเงียบก็จะขาดพัฒนาการในเรื่องการถาม ขาดการสรุปใจความ การใช้ภาษาก็จะด้อยลง

          ปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมยาก เช่น เมื่อถึงวัยที่จะต้องไปโรงเรียนแล้ว ก็อาจไม่สามารถปรับตัวภายในโรงเรียนได้ ซึ่งจะส่งผลให้ลูกขาดวินัย ขาดความอดทน และเอาแต่ใจ

การป้องกันปัญหาลูกดื้อเงียบนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ดังนี้

          1. เข้าใจความดื้อของลูก เพราะอาการดื้อของลูกเป็นเรื่องของธรรมชาติ ถ้าเห็นว่าลูกดื้อ คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจและหาสาเหตุว่ามาจากอะไร เช่น มาจากลูก จากคุณพ่อคุณแม่ การเลี้ยงดู หรือสัมพันธภาพ ลองปรับให้ตรงจุดดู เพราะการที่ลูกดื้อ เป็นการแสดงความเป็นตัวของตัวเอง

          2. สังเกตอารมณ์ลูกน้อย ถ้าคุณพ่อคุณแม่เจ้าอารมณ์ ลูกก็จะเจ้าอารมณ์ตาม กลายเป็นเป็นเด็กเลี้ยงยาก แต่ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ใจเย็น อารมณ์ดี ลูกก็จะเป็นเด็กดีว่านอนสอนง่ายไปด้วย

          เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจอารมณ์ของลูกให้ได้ค่ะ ถ้าลูกเป็นเลี้ยงยาก คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องใจเย็นๆ อาจจะต้องกำหนดขอบเขตเล็กน้อย เมื่อเขาต้องการแสดงออก เพื่อให้เขาได้เป็นตัวของตัวเองและรู้จักกาลเทศะด้วย

เด็กดื้อมีอยู่ 3 แบบ

          1. ดื้อเงียบ โดยทั่วไปเด็กก็จะรับคำสั่ง เช่น ค่ะ ครับ แต่เด็กดื้อเงียบส่วนใหญ่จะไม่ทำตามคำสั่งของพ่อแม่ และมักแสดงอาการ นิ่ง เงียบ ไม่ตอบคำถาม เฉื่อยชาหรือไม่ร่วมมือ

          2. ดื้อตาใส ทำตัวไม่รู้ไม่ชี้ ไม่แสดงอาการแข็งขืนหรือต่อต้าน นิ่งๆ และเด็กบางคนก็จะกล้าสบตากับผู้ใหญ่ ที่เป็นเช่นนี้เพราะไม่รู้หรือไม่เข้าใจคำสั่งเท่านั้นเอง

          3. ดื้อต่อต้าน การแสดงออกชัดเจน คือจะทำตรงกันข้ามกับที่ผู้ใหญ่สั่ง ไม่เชื่อฟัง โต้เถียงประชดประชัน ฯลฯ

           ความเข้าใจคือสิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันและแก้ไขในทุก ๆ ปัญหา การดื้อคือการเรียนรู้ในอีกแบบหนึ่งของลูก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลให้อยู่ในความเหมาะสม






ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รับมือเมื่อลูกดื้อเงียบ ! อัปเดตล่าสุด 24 มีนาคม 2557 เวลา 16:14:40 6,240 อ่าน
TOP