x close

ลูกป่วย..ไม่ป่วย สังเกตอย่างไร

แม่และเด็ก ไข้

ป่วย...ไม่ป่วย (รักลูก)
เรื่อง : สิริพร

          เมื่อลูกหายใจเอาเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไป ก็จะถูกขับออกมาเป็นเสมหะ ซึ่งเป็นกระบวนการกำจัดสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคของร่างกายทางหนึ่ง

เสมหะ...ตัวนำโรค?

          เสมหะสามารถเกิดได้กับเด็กวัยทารกแรกเกิดไปจนถึงเด็กโตค่ะ เสมหะไม่ได้เป็นต้นเหตุของการเกิดโรค เป็นเพียงอาการอย่างหนึ่งที่เกิดเมื่อร่างกายของเรามีการติดเชื้อทางเดินหายใจ จนมีการกระตุ้นให้เยื่อบุทางเดินหายใจสร้างเสมหะมากขึ้น และค่อย ๆ หายไป เมื่อการติดเชื้อลดลง

          หากลูกมีเสมหะพร้อมกับอาการร่วมอื่น ๆ อาจเป็นตัวบ่งชี้ว่า ลูกของเราอาจจะกำลังป่วยเป็นโรคอยู่ก็ได้ค่ะ โดยเฉพาะในวัยเบบี้ คุณพ่อคุณแม่จะต้องหมั่นสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิดนะคะ

เสมหะลูกเป็นแบบไหนนะ

          ลองสังเกตอาการของลูกกันดูนะคะว่า มีเสมหะและอาการร่วมอื่น ๆ ที่บ่งบอกว่าลูกเรากำลังป่วยอยู่หรือไม่

1.อาการนี้...ลูกยังไม่ป่วย

          วัยเบบี้ จะสังเกตเห็นสีของเสมหะไม่ได้ค่ะ เพราะเด็กเล็ก ๆ ไม่สามารถไอหรือบ้วนเสมหะออกมาเองได้ แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตได้ ก็คืออาการร่วมเหล่านี้

         เป็นหวัด/มีไข้ไม่สูง

         มีน้ำมูกเล็กน้อย

         ไอแห้ง ๆ

         ไอมีเสียงเสมหะ (หายใจดังครืดคราด)

         ยังกินนม/ดูดนมได้ดี

         ยิ้มแย้ม แจ่มใส ไม่เซื่องซึม

         ไม่มีอาเจียน

         กินอาหารได้ตามปกติ

          หากลูกมีเสมหะพร้อมกับอาการร่วมข้างต้น แล้วอาการค่อย ๆ ดีขึ้น ภายใน 2-3 วัน ก็วางใจได้ว่าลูกเราอาจแค่เป็นหวัดธรรมดา ไม่ได้ป่วยเป็นโรคอันตรายร้ายแรง

2.อาการนี้...ลูกป่วยแล้วนะ

          ถ้าลูกมีเสมหะ แล้วมีอาการร่วมที่เยอะขึ้น ดังต่อไปนี้ ก็ให้คุณแม่สันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่า ลูกเราอาจไม่ได้ป่วยเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดาแล้ว

         เสมหะมีสีเขียวหรือเหลือง (แสดงว่าติดเชื้อแบคทีเรีย) หรือมีสีขาวขุ่น (แสดงว่าติดเชื้อไวรัส)

         หายใจเร็ว

         ชายโครงหรือหน้าอกบุ๋มเวลาหายใจ

         ซึมลง ไม่ยิ้มแย้มแจ่มใสเหมือนเดิม

         ร้องไห้ งอแง

         ไม่ยอมกินนม

         อาเจียน เบื่ออาหาร

          ทั้งหมดนี้แสดงว่าลูกมีอาการรุนแรงมากขึ้น และต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว บางโรคมีเสมหะไม่มากอาการไม่รุนแรง แต่หากมีการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างแล้ว อาการก็จะเพิ่มความรุนแรงขึ้นได้ เช่น มีอาการหลอดลมฝอยอักเสบ หอบหืด หรืออาจติดเชื้อทางปอดและตับ จนทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ และตับอักเสบได้ในที่สุด

ป้องกันเสมหะ...ห่างไกลโรค

          วิธีการป้องกันลูกจากเสมหะ ก็คือป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจ หรือป้องกันหวัด ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ ดังนี้

         ให้อยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก คุณพ่อคุณแม่ควรจัดสภาพแวดล้อมที่บ้านให้ดูสะอาด ปราศจากเชื้อโรค โดยเฉพาะในลูกวัยเบบี้ ควรหลีกเลี่ยงการพาลูกไปที่ชุมชน ห้างสรรพสินค้า เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากผู้อื่น เพราะเด็กเล็กเสี่ยงติดหวังได้ง่าย


         ใส่ใจสุขอนามัย คุณพ่อคุณแม่ที่คอยดูแลลูกอย่างใกล้ชิดนั้น จำเป็นที่จะต้องใส่ใจในความสะอาด และสุขอนามัยของตัวเองอย่างสม่ำเสมอด้วยค่ะ ถ้าหากเราเป็นหวัดก็ควรใส่หน้ากากอนามัยไว้ เพื่อป้องกัน ควรจะล้างมือให้สะอาดก่อนทุกครั้งที่อุ้ม หรือเล่นคลุกคลีกับลูก


         พักผ่อนให้เพียงพอ หากเป็นลูกวัยเรียนไม่สบาย ควรให้ลูกหยุดโรงเรียน เพื่อจะได้นอนพักผ่อนอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายดี นอกจากได้ดูแลลูกอย่างใกล้ชิดแล้ว ยังป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปยังเพื่อน ๆ และคุณครูที่โรงเรียนด้วย


         ฉีดวัคซีนป้องกัน ปัจจุบันมีวัคซีนช่วยป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจได้ การฉีดวัคซีนจึงเป็นอีกวิธีหนึ่ง ที่ช่วยให้ลูกห่างไกลจากโรคได้

          อย่างไรก็ดี หากลูกรักมีเสมหะ และมีอาการร่วมอื่น ๆ ที่รุนแรง คุณแม่ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอโดยเร็ว เพื่อจะได้ทำการรักษาได้ตรงจุด และทันท่วงทีนะคะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 30 ฉบับที่ 350 มีนาคม 2555



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลูกป่วย..ไม่ป่วย สังเกตอย่างไร อัปเดตล่าสุด 5 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 11:38:45 20,598 อ่าน
TOP