x close

ระวังผิวอ่อน ๆ ของลูกติดเชื้อ!



ระวังผิวอ่อน ๆ ของลูกติดเชื้อ!
(รักลูก)

          เมื่อพบว่าลูกมีผื่น ตุ่มใสขึ้นตามบริเวณผิวหนัง ควรดูแลและสังเกตอาการอย่างต่อเนื่องนะคะ เพราะตุ่มเล็ก ๆ นั้นหากเกิดติดเชื้อ อาจลุกลามเป็นอาการที่รุนแรงได้


          ผิวหนังอันบอบบางของลูกน้อย แม้ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี แต่ก็อาจเกิดผื่นผิวหนังได้ และติดเชื้อได้จาก...


          1.เชื้อไวรัส โรคที่พบบ่อยคือหูด (Viral Wart) และหูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum)


          2.เชื้อแบคทีเรีย โรคที่พบบ่อยคือโรคตุ่มน้ำพองใสจากเชื้อแบคทีเรีย (Impetigo)


          3.เชื้อราและเชื้อยีสต์ โรคที่พบบ่อยคือติดเชื้อยีสต์แคนดิดา (Candidiasis) และกลากที่หนังศีรษะ (Tinea Capitis)

อาการที่พบ

โรคผิวหนังติดเชื้อส่วนมากจะเกิดจากการสัมผัสหรือรับเชื้อจากผู้อื่น และยังพบว่ามีโรคที่เกิดจากผิวหนังอ่อนแอจากโรคหืด หรือภูมิแพ้แล้วเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนขึ้นมา ซึ่งสามารถแยกเป็นโรคต่าง ๆ และอาการที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ดังนี้ค่ะ

          หูด พบบ่อยได้ตามมือและเท้า มีลักษณะเป็นหนังหนานูนแข็ง อาจพบจุดเดียวหรือกระจายเพิ่มเป็นหย่อม ๆ

          หูดข้าวสุก พบได้ตามลำตัว แขนขาและใบหน้า แต่จะไม่พบตามมือและเท้า มีลักษณะเป็นเม็ดกลมแดง มีถุงใส มีลักษณะเฉพาะคือจุดบุ๋มสีดำตรงกลาง

          โรคตุ่มน้ำพองใสจากเชื้อแบคทีเรียชนิดแผ่นแห้งแข็ง พบเป็นแผลสะเก็ดสีเหลืองน้ำตาล บนพื้นแดง

          โรคตุ่มน้ำพองใสจากเชื้อแบคทีเรียชนิดถุงน้ำ พบได้น้อยกว่า แต่รุนแรงและเจ็บปวดมากกว่า มีตุ่มใสแตกออกจะมีสะเก็ดสีน้ำตาลหรือเหลืองเข้ม

          โรคเชื้อรา เป็นผื่นเม็ดแดงเล็กกระจายทั่ว ๆ อาจมีหนองบนผื่น มักเกิดตามข้อพับ ก้น และจุดเปียกชื้น

          กลากบนหนังศีรษะและเส้นผม มีหลายแบบ หลายลักษณะ มักถูกวินิจฉัยผิดและรับการรักษาผิดอยู่บ่อย ๆ จนเกิดแผลเป็นบนหนังศีรษะและหัวล้านเป็นหย่อมถาวร

การดูแลเบื้องต้น

         คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลรักษาความสะอาดให้กับลูก และหมั่นสังเกตผิวหนังและหนังศีรษะของลูกเป็นประจำ เนื่องจากเด็ก ๆ ยังดูแลความสะอาดของตัวเองได้ไม่ดีพอและมักมีโอกาสติดเชื้อจากเด็กคนอื่น ๆ ได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถบอกอาการได้ ซึ่งเมื่อพบลักษณะอาการที่น่าสงสัย ควรสังเกตว่ามีอาการรุนแรงหรือไม่ โดยอาจใช้กล้องถ่ายรูปอาการของโรคไว้บ่อย ๆ และพาลูกไปแพทย์อย่างรวดเร็วค่ะ

หากได้รับการรักษาช้า!

         โรคผิวหนังติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีการพัฒนาของโรคช้าอยู่แล้ว หากได้รับการวินิจฉัยช้า ก็อาจจะเพียงทำให้โรคกระจายตัวมากขึ้น และรักษายากขึ้นเล็กน้อย ถ้าเป็นกลุ่มเชื้อไวรัส ก็จะมีโอกาสกระจายสู่ผู้อื่นมากขึ้น ยกเว้นโรคตุ่มน้ำพองใสจากเชื้อแบคทีเรียที่จะมีอาการรวดเร็วรุนแรง และเจ็บปวดมาก

         ส่วนโรคกลากที่หนังศีรษะ มักได้รับการวินิจฉัยที่ผิด เนื่องจากมีลักษณะไม่เด่นชัดตอนเริ่มเป็น และลักษณะโรคมีหลายแบบ เมื่อลูกเป็นโรคนี้ โดยมีอาการขั้นรุนแรงจะมีโอกาสเกิดแผลเป็นบนหนังศีรษะและหัวล้านเป็นหย่อมถาวรได้

การป้องกัน

         ถึงแม้ว่าโรคผิวหนังติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงและอาจสร้างความเจ็บปวดให้กับลูกน้อย แต่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถป้องกันผิวหนังของลูกติดเชื้อได้ด้วยการ

         1.หมั่นดูแลความสะอาดให้กับลูก

         2.ควรตรวจดูสุขภาพอนามัยของผิวหนัง เล็บและเส้นผมโดยสม่ำเสมอ

         3.งดใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น

         4.ระวังการเกิดแผลจากภูมิแพ้ที่บริเวณต่าง ๆ

         5.สอนให้ลูกล้างมือบ่อย ๆ ก่อนทานอาหารและหลังหยิบจับสิ่งของหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ

         6.ดูแลตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการเกาจนเกิดแผลบนผิวหนัง

         7.เด็กเล็กต้องระวังเรื่องการเปียกชื้นจากผ้าอ้อม อุจจาระ ปัสสาวะ ซึ่งมักจะทำให้ผิวหนังอักเสบจนเกิดการติดเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียตามมาได้ค่ะ

          การเฝ้าสังเกตและดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิดจะช่วยให้ลูกห่างไกลจากโรคต่าง ๆ เหล่านี้ได้ค่ะ




                        



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 30 ฉบับที่ 349 กุมภาพันธ์ 2555

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ระวังผิวอ่อน ๆ ของลูกติดเชื้อ! อัปเดตล่าสุด 12 ตุลาคม 2555 เวลา 16:38:28 30,532 อ่าน
TOP