x close

6 วิธี ลดเสี่ยงสาร BPA ในพลาสติก



6 วิธี ลดเสี่ยงสาร BPA ในพลาสติก
(รักลูก)
เรื่อง : เกื้อกูล

         ทราบกันดีว่า Bisphenol A หรือ BPA เป็นสารเคมีที่ใช้ในการผลิตพลาสติกใสที่มีความแข็งแรง สามารถป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียในอาหารหรือป้องกันการเกิดสนิมจากกระป๋องได้ แต่ก็ส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน

         สถาบันป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา รายงานว่า คนอเมริกันมีสาร BPA อยู่ในร่างกายมากกว่าร้อยละ 90 ซึ่งคุณหมอ Deborah Ann Mulligan อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัย Nova Southeastern กล่าวว่า "เมื่อ BPA สัมผัสกับอาหารหรือของเหลว แม้จะเป็นเพียงจำนวนเล็กน้อยสารเคมี ก็สามารถเข้าสู่ร่างกายของเราได้แล้ว แต่ในปัจจุบันก็นับว่าเป็นเรื่องยากทีเดียวที่เราจะหลีกเลี่ยงมันได้"

         ก่อนหน้านี้พบว่าสาร BPA จะเป็นตัวสกัดกั้นการทำงานของต่อมไร้ท่อในร่างกาย และล่าสุดได้มีงานวิจัยใหม่ พบว่า สาร BPA มีส่วนเชื่อมโยงกับการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก โรคอ้วน โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด และส่งผลให้มีปัญหาด้านการสืบพันธุ์ และที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือเด็กเล็ก ๆ ที่ระบบการขับสารพิษของร่างกายยังไม่ดีพอ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันลูกน้อยจากสารพิษ และปกป้องครอบครัวของเราจาก BPA อ่านข้อมูลเรื่องน่ารู้กัน

         1.ให้ลูกกินนมแม่ อย่างน้อย 12 เดือน นอกจากลูกจะได้รับสารอาหารต่าง ๆ แล้ว ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากสาร BPA ขณะเดียวกันคุณแม่เองก็ลดโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านมอีกด้วย

         2.สังเกตตัวเลขบนฉลาก โดยเฉพาะตัวเลขที่อยู่บนฉลากขวดพลาสติก เนื่องจากขวดนมหรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีการรีไซเคิลใหม่ จะมีเลขที่กำกับเอาไว้ 3 หรือ 7 หลัก และจะมีตัวอักษร PC ติดอยู่บนฉลากด้วย ซึ่งก็อาจมีสาร BPA อยู่ด้วยเช่นกัน

         3.จุดหลอมเหลว หรือคุณสมบัติของการทนความร้อน ใช่ว่าพลาสติกที่ทนความร้อนได้ดีจะไม่มีสาร BPA นะคะ เพราะยิ่งของเหลวมีความร้อนมากขึ้น เท่าไร ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มระดับสาร BPA ในภาชนะพลาสติกมากขึ้นเท่านั้น จึงไม่ควรอุ่นอาหารที่บรรจุในภาชนะพลาสติกด้วยไมโครเวฟนะคะ

         4.ใช้แก้วแทนพลาสติก โดยเฉพาะเมื่อต้องอุ่นอาหารด้วยเตาไมโครเวฟ การใช้แก้วหรือสแตนเลส ย่อมปลอดภัยกว่าพลาสติกแน่นอน

         5.หลีกเลี่ยงพลาสติกที่มีรอยร้าวหรือขุ่นมัว โดยเฉพาะภาชนะที่ใช้ใส่อาหารของเด็กทารก

         6.อ่านฉลากทุกครั้ง ก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และหากไม่แน่ใจก็ต้องสอบถามพนักงานขายในร้าน เพื่อหลีกเลี่ยงพลาสติกที่มีสาร BPA ปนเปื้อน ยิ่งใกล้ตัวยิ่งไม่ควรมองข้าม ทราบอย่างนี้แล้วอย่าลืมนำไปปฏิบัติกันนะคะ






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 29 ฉบับที่ 345 ตุลาคม 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
6 วิธี ลดเสี่ยงสาร BPA ในพลาสติก อัปเดตล่าสุด 6 ธันวาคม 2554 เวลา 15:25:46
TOP