x close

ต่อมน้ำลายลูกป่วย!

ต่อมน้ำลาย

ต่อมน้ำลายลูกป่วย!
(รักลูก)

         หากพบว่าลูกมีก้อนบวมโตบริเวณข้างแก้มหรือใต้คาง และมีอาการใช้ร่วมด้วย สงสัยได้เลยค่ะว่า ต่อมน้ำลายของลูกป่วยแล้วค่ะ

ต่อมน้ำลายง่ายต่อการรับเชื้อ

         ต่อมน้ำลายจะมีทั้งต่อมใหญ่และต่อมเล็กต่อมน้ำลายใหญ่มีทั้งหมด 4 ต่อม อยู่บริเวณ 2 ข้างแก้ม และอีก 2 ต่อมจะอยู่ใต้คางทั้งซ้ายและขวา ส่วนต่อมน้ำลายเล็ก ๆ มีเป็นจำนวนมากอยู่ในช่องปากของเราค่ะ ต่อมน้ำลายมีหน้าที่ผลิตน้ำลายและยังช่วยในการเคี้ยว กลืน และย่อยอาหารในช่องปากค่ะ

         นอกจากนี้ ต่อมน้ำลายยังมีความสำคัญอย่างมากต่ออนามัยในช่องปาก เพราะต่อมน้ำลายที่อยู่ข้างแก้ม จะมีท่อเปิดน้ำลายบริเวณกระพุ้งแก้มในช่องปากทั้ง 2 ข้าง ซึ่งจะอยู่ใกล้ชิดกับฟัน หากไม่ได้ดูแลสุขภาพในช่องปากให้ดีต่อมน้ำลายก็จะกลายเป็นแหล่งรับเชื้อโรคได้ง่าย

โรคต่อมน้ำลายเกิดจากอะไร

         โรคต่อมน้ำลายในเด็กส่วนใหญ่มักเกิดจาก 3 สาเหตุนี้ค่ะ

         1.ต่อมน้ำลายผิดปกติแต่กำเนิด โดยพบว่าถุงน้ำเล็ก ๆ ที่อยู่ในต่อมน้ำลายมีการโป่งพอง หรือมีท่อน้ำลายตีบแคบ ซึ่งจะแสดงอาการเมื่อลูกอายุ 1 ขวบขึ้นไป

         2.การอักเสบติดเชื้อ หรือรู้จักกันว่าโรคคางทูม โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือได้รับเชื้อไวรัสคางทูมจากเด็กคนอื่นผ่านทางน้ำลาย การไอ และการจาม จะพบมากเมื่อลูกเข้าสู่วัยอนุบาล

         ส่วนการอักเสบติดเชื้อของช่องปากและฟันจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรียค่ะ

         3.เนื้องอกของต่อมน้ำลาย มีทั้งเนื้องอกหลอดเลือด และหลอดน้ำเหลือง ซึ่งจะแสดงอาการหลังจากที่เด็กคลอดออกมาแล้วตั้งแต่อายุ 3-4 เดือน เนื้องอกจะค่อย ๆ โตขึ้นแต่จะพบได้น้อยค่ะ

อาการและวิธีรักษา

         ส่วนใหญ่แล้จะแสดงอาการออกมาเป็นก้อนบวมโต เช่น ก้อนหน้าหู ก้อนใต้คาง และบริเวณใต้ขากรรไกร ซึ่งนอกจากจะมีอาการบวมโตแล้ว เด็ก ๆ จะมีไข้ ปวดบวมเป็นก้อน และรู้สึกเจ็บจนสัมผัสก้อนที่บวมไม่ได้เลย แต่ถ้าหากว่าลูกเป็นเนื้องอกในต่อมน้ำลาย คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตลูกว่ามีก้อนบวมโตที่บริเวณต่อมน้ำลายหรือไม่ เพราะเนื้องอกจะค่อย ๆ โตขึ้นช้า ๆ โดยไม่มีอาการเจ็บปวดค่ะ

         การรักษาโรคต่อมน้ำลาย คุณหมอจะแนะนำให้รักษาตามอาการก่อนค่ะ โดยเฉพาะโรคต่อมน้ำลายที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส คุณพ่อคุณแม่ดูแลโดยให้ยาลดไข้ ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่ไปสู่คนอื่น แต่ถ้าลูกมีการติดเชื้อและอักเสบมาก ๆ จนเป็นหนองค้างอยู่ในท่อน้ำลาย คุณหมอจะให้กินยาปฏิชีวนะ และอาจแนะนำให้ผ่าตัด เพื่อเจาะระบายหนองออก

ป้องกันโรคต่อมน้ำลายให้ลูก

         วิธีป้องกันโรคต่อมน้ำลายที่ง่ายที่สุด คือ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคคางทูม เริ่มฉีด เมื่อเด็กอายุ 9-10 เดือน ฉีดซ้ำอีกเข็มตอนอายุประมาณ 4-6 ปี และควรปลูกฝังให้เด็ก ๆ ดูแลสุขภาพในช่องปากให้สะอาดสอนวิธีแปรงฟันให้ถูกวิธี เพราะถ้าหากดูแลช่องปากไม่สะอาด อาจเกิดการติดเชื้อในช่องปากและกระจายสู่ต่อมน้ำลายได้

         ส่วนโรคต่อมน้ำลายที่เกิดจากความผิดปกติมาแต่กำเนิดหรือเป็นเนื้องอกไม่สามารถป้องกันได้ จึงควรหมั่นสังเกตความผิดปกติบริเวณต่อมน้ำลายที่เกิดขึ้นกับลูกว่ามีอาการบวมโตหรือไม่

         แม้ว่าโรคต่อมน้ำลายในเด็กจะพบได้ไม่บ่อย แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกต หากพบความผิดปกติเกิดขึ้นกับลูก จะได้รักษาได้อย่างรวดเร็วและถูกวิธีค่ะ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 29 ฉบับที่ 346 พฤศจิกายน 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ต่อมน้ำลายลูกป่วย! อัปเดตล่าสุด 25 พฤศจิกายน 2554 เวลา 15:02:15 38,500 อ่าน
TOP