x close

12 เทคนิค เสริมความฉลาดเจ้าตัวน้อย

แม่และเด็ก

12 เทคนิค เสริมความฉลาดเจ้าตัวน้อย
(Mother & Care)
เรื่อง : Orawana

         ชวนคุณพ่อคุณแม่มากระตุ้นสมองของลูกน้อยตั้งแต่แบเบาะ เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของสมองน้อย ๆ เตรียมพร้อมสำหรับพัฒนาการก้าวต่อไป ด้วยเทคนิคง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ

         สมองของทารกแรกเกิดที่ปกติ จะมีน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม มีเซลล์ประสาทประมาณ 100 หมื่นล้านเซลล์ สมองเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด เพราะควบคุมการเจริญเติบโตและการเคลื่อนไหวของร่างกาย และจะมีความไวต่อสิ่งต่าง ๆ มากกว่าผู้ใหญ่สองเท่าการทุ่มเทในการกระตุ้นสมองลูกให้ฉลาดในช่วงแรกของชีวิต จึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญมากที่สุด

กระตุ้นพัฒนาการสมองลูกน้อยเมื่อไรดี

         เซลล์สมองเริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่แรกเริ่มตั้งครรภ์ ตั้งแต่ลูกน้อยมีอายุประมาณ 8 สัปดาห์ จะสร้างและเพิ่มทั้งจำนวนและขนาดเกิดเป็นเนื้อสมอง และเส้นใยประสาทที่เชื่อมโยงกับสมองและเชื่อมโยงกันเองเกิดเป็นข่ายใยเส้นประสาทอย่างมากและรวดเร็วเรื่อยไปจนกระทั่งคลอดออกมา และในช่วงวัยขวบปีแรกนั้นก็เป็นช่วงทองที่ควรจะกระตุ้นพัฒนาลูกน้อยค่ะ

กระตุ้นพัฒนาการสมอง ทำได้อย่างไร

1.เลี้ยงดูด้วยความรักความอบอุ่น

         สิ่งกระตุ้นพัฒนาการสมองที่ดีที่สุดของลูกตั้งแต่วัยแรกเกิด คือ ประสบการณ์ความรักจากพ่อและแม่ ทั้งการมองหน้าสบสายตา เห่กล่อมโอบกอดรัดด้วยสัมผัสที่นุ่มนวลอบอุ่น นอกจากจะเชื่อความผูกพันระหว่างกันแล้ว ลูกยังเรียนรู้ว่าตัวเองสำคัญ มีความค่า จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของสมองของลูกให้มีพัฒนาการการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้น

2.หมั่นพูดคุยกับลูก

         หมั่นพูดคุยกับลูกในขณะที่ทำกิจวัตรประจำวันร่วมกัน เช่น ตอนอาบน้ำ สระผมเปลี่ยนผ้าอ้อม ให้นม การโต้ตอบแบบตัวต่อตัว จะช่วยสร้างการเชื่อมต่อของสมอง ส่งผลต่อทักษะการใช้ภาษาและเพิ่มพูนความผูกพันได้อีกด้วย

3.พัฒนาสมองลูกด้วยนิทาน

         ถึงเวลานอนก็ยังพัฒนาสมองลูกได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยนิทานให้ลูกฟังก่อนนอน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ภาในเด็กเล็ก และเตรียมพร้อมเรื่องภาษาและสำเนียงการพูดต่อไปในอนาคต แถมยังช่วยสร้างบรรยากาศอบอุ่นให้ลูกหลับฝันดี ซึ่งการที่ลูกได้หลับเต็มที่ยังช่วยให้สมองทำงานได้ดี เกิดการสร้างเครือข่ายเส้นใยสมอง ส่งผลให้ลูกฉลาดเรียนรู้ได้ดีอีกด้วย

4.สมาธิก็สำคัญ

         แรกเกิดก็มีสมาธิได้ จากงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าสมาธิมีความสัมพันธ์กับการทำงานของสมอง เวลาเด็กนิ่งเป็นระยะเวลาหนึ่งนั้น สมองส่วนหน้าทำหน้าที่ดูแลการแก้ปัญหาจะเกิดคลื่นสมองอย่างหนึ่งชื่อว่า อัลฟา (Alpha) ทำให้สมองรับและเก็บข้อมูลในเรื่องที่สนใจได้ดี โดยในเด็กอ่อนคุณแม่สามารถสร้างสมาธิได้ด้วยการอุ้มลูกแนบอกขณะให้นม พูดคุย มองหน้า และสบตาให้ลูกได้จดจ่อและรู้สึกสงบนิ่ง ก็สามารถทำให้เกิดสมาธิได้ค่ะ

5.จัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสมอง

         ลูกจะเรียนรู้ได้ดีถ้าอยู่ในภาวะที่มีสมาธิ ดังนั้นจัดมุมหนึ่งในบ้านให้มีของเล่นเสริมสมาธิ เช่น บล็อกไม้ จิ๊กซอว์ ไม่ควรหาของเล่นให้ลูกหลายชิ้น เพราะลูกจะสับสนขาดสมาธิ

6.กิจวัตรประจำวันที่แน่นอน

         ควรพาลูกน้อยทำกิจวัตรต่าง ๆ ให้เป็นเวลาประจำสม่ำเสมอ ให้ลูกสามารถคาดการณ์ได้นั้น มีแนวโน้มจะเป็นเด็กที่มีสมาธิที่ดี เนื่องจากลูกจะรู้สึกมั่นคงและสบายใจกับสิ่งที่เขาสามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขารู้ว่าในแต่ละวันจะต้องทำอะไรบ้าง

7.ดนตรีคลาสสิก

         การฟังเพลงคลาสสิกในช่วงปีแรกของชีวิตมีผลเชิงบวกต่อระบบประสาท งานวิจัยหลาย ๆ ชิ้น แสดงให้เห็นว่าดนตรีคลาสสิกเป็นเสียงดนตรีที่มีคลื่นเสียงที่เป็นระเบียบ สามารถทำให้ลูกน้อยรู้สึกผ่อนคลาย สมองจึงเปิดรับสิ่งต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และการที่ลูกรู้จักทางด้านอารมณ์ จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ได้อีกด้วย

8.ปกป้องลูกน้อยจากอารมณ์ตึงเครียด

         ความเครียดจะชะลอการพัฒนาสมองของลูกได้ ซึ่งความเครียดในเด็กทารกนั้นเกิดจากการที่รู้สึกถึงสภาพแวดล้อมเป็นอันตราย หรือถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการตอบสนอง ดังนั้นควรตอบสนองความต้องการของลูกและให้ความสนใจอย่างสม่ำเสมอ

9.สิ่งแวดล้อมที่ดี

         สถานที่ที่ดีต้องเป็นสถานที่ๆ เป็นมิตรกับเด็ก มีอุปกรณ์และของเล่นให้เด็กสามารถพัฒนาทักษะมีการจัดสถานที่เป็นสัดเป็นส่วนชัดเจนว่าส่วนไหนทำอะไร ของเล่นควรจัดให้เป็นระเบียบ เด็กทารกแรกเกิดนั้นก็มีการรับรู้ทางสมองแล้ว สามารถรับข้อมูลได้และต้องการข้อมูลป้อนเข้าสมองอย่างมากการให้ลูกได้ยินเสียง ได้เห็นภาพได้เห็นการเคลื่อนไหว ได้สัมผัสได้ดมกลิ่น จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมตามวัยจะช่วยพัฒนาสมองให้มีการทำงานที่มีประสิทธิภาพค่ะ

10.เปิดโอกาสให้ลูกเห็นโลกกว้าง

         ที่นอนหรือเปลของลูกนั้นควรเป็นเปลที่โล่ง เพื่อลูกจะสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวได้ ไม่ควรเป็นเปลที่ปิดรอบด้านที่ลูกไม่สามารถมองเห็นอะไรเลย เพราะสิ่งแวดล้อมรอบตัวลูกจะช่วยให้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ซึ่งเป็นการพัฒนาสมองของลูกในช่วงนี้ได้อย่างดีที่สุด

11.ของเล่นที่เหมาะสมกับพัฒนาการ

         เลือกของเล่นให้เหมาะกับพัฒนาการแต่ละช่วงเดือน โดยเน้นของเล่นที่เสริมทักษะและสร้างความสุข สนุกสนานพร้อมกับการเรียนรู้ วัย 0-3 เดือน เช่น กล่องดนตรี, กระจกชนิดไม่แตกใช้ติดที่เตียงไว้ให้ลูกมองหน้าตัวเอง, โมบายสีสดใส วัย 3-5 เดือน เช่น ของเล่นเขย่า หรือตุ๊กตายางบีบมีเสียง วัย 6-9 เดือน เช่น หนังสือ, บล็อกตัวต่อนิ่ม, ลูกบอลเล็กๆ สำหรับโยนและคลานตามได้ และวัย 9-12 เดือน เช่น ที่หัดเดิน, ม้าโยก, ของเล่นไขลาน, กระป๋องตักทราย เป็นต้น

12.เลือกคนดูแลเด็กที่มีคุณภาพสูง

         พี่เลี้ยงเด็กที่ดีควรมีคุณสมบัติ รักเด็ก, ยิ้มง่าย, ใจดี, มีความรับผิดชอบต่อเด็ก และควรมี IQ พอสมควร ซึ่งบุคลิกและอารมณ์ของพี่เลี้ยงเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถช่วยกระตุ้นสมองและกาเรียนรู้ของลูกน้อย

Tip

        สารอาหารบำรุงสมองลูกน้อย

         การที่สมองจะทำงานได้จำเป็นต้องมีพลังงานที่ได้จากอาหารที่สำคัญสำหรับสมองอย่างสม่ำเสมอ สำหรับเด็กแรกเกิดอาหารที่ดีที่สุดก็คือน้ำนมแม่อย่างน้อย 4-6 เดือน และเมื่อเริ่มอาหารเสริมแล้ว ควรให้อาหารเสริมทุ่ดมด้วยสารอาหารทั้ง 9 ต่อไปนี้ คือ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน กรดไขมัน กรดไลโนเลอิก วิตามินต่างๆ ธาตุเหล็ก ไอโอดีน สังกะสีและทอรีน ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มสารอาหารที่ช่วยในการเจริญเติบโตของสมองและร่างกาย





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.7 No.81 กันยายน 2554


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
12 เทคนิค เสริมความฉลาดเจ้าตัวน้อย อัปเดตล่าสุด 21 สิงหาคม 2557 เวลา 11:37:05 25,035 อ่าน
TOP