น้ำหนักทารกในครรภ์แต่ละสัปดาห์ควรเพิ่มเท่าไหร่ เช็กให้แน่ใจว่าน้ำหนักของลูกเหมาะสม และคุณแม่ไม่มีภาวะน้ำหนักเกิน
สิ่งหนึ่งที่คุณหมอย้ำนักย้ำหนากับคุณแม่ตั้งครรภ์ทั้งหลายคือน้ำหนักคนท้องและน้ำหนักทารกในครรภ์ เพราะเป็นสิ่งแรกที่จะบอกได้ว่าเด็กในท้องเติบโตอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือเปล่า น้ำหนักคุณแม่เกินหรือไม่ เนื่องจากจะส่งผลต่อสุขภาพของแม่และเด็กโดยตรง ว่าแต่น้ำหนักทารกในครรภ์แต่ละสัปดาห์ควรหนักเท่าไหร่ และคุณแม่ควรดูแลตัวเองยังไงบ้าง กระปุกดอทคอมมีคำตอบมาฝาก
น้ำหนักทารกในครรภ์บอกอะไรได้บ้าง
คุณแม่อยากรู้มั้ยว่าทำไมน้ำหนักของทารกในครรภ์จึงสำคัญ และสามารถบอกอะไรได้บ้าง
น้ำหนักทารกมากกว่าเกณฑ์
การที่ลูกน้อยมีน้ำหนักมากเกินไปนั้นอาจเสี่ยงต่อปัญหาต่าง ๆ ในอนาคต ซึ่งหากน้ำหนักทารกในครรภ์มากเกินไปอาจเป็นสัญญาณของโรคต่าง ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคต เช่น โรคเบาหวานในเด็ก และโรคอ้วนในเด็ก นอกจากนี้อาจส่งผลให้มีความเสี่ยงต่าง ๆ ตามมา ได้แก่
- เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด
- ทารกเสี่ยงมีรูปร่างที่ผิดปกติ (จากการบอบช้ำระหว่างคลอด)
- ทารกเสี่ยงเสียชีวิตทั้งในครรภ์และหลังคลอด
- คุณแม่เสี่ยงมีภาวะคลอดยากและมีแนวโน้มต้องผ่าคลอด
น้ำหนักทารกน้อยกว่าเกณฑ์
การที่ลูกมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ก็ไม่ใช่เรื่องดี เพราะส่งผลต่อความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะตามมา ได้แก่
- ทารกเสี่ยงมีการติดเชื้อในครรภ์ เช่น เชื้อเริม
- ทารกเสี่ยงมีความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือมีโครโมโซมผิดปกติ
- ทารกเสี่ยงพิการแต่กำเนิด
- ทารกเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ
- ทารกอาจมีโรคร้ายต่าง ๆ ตามมาในอนาคตได้ง่าย
นอกจากนี้การที่ทารกมีน้ำหนักน้อยเกินไปยังบ่งบอกได้ถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของคุณแม่ เช่น การสูบบุหรี่ ใช้สารเสพติด และอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพของคุณแม่ เช่น คุณแม่มีน้ำหนักตัวน้อย มีภาวะโลหิตจาง ป่วยเป็นโรคหัวใจ และมีปัญหาการนำเข้าออกซิเจนจากคุณแม่ไปยังลูกที่ต่ำเกินไปได้อีกด้วย
น้ำหนักทารกในครรภ์แต่ละสัปดาห์ควรเท่าไหร่
น้ำหนักทารกในครรภ์จะมีมาตรฐานอยู่ว่าแต่ละสัปดาห์ทารกควรจะหนักเท่าไหร่ สรุปได้คร่าว ๆ ดังนี้
อายุครรภ์ |
น้ำหนักทารก |
1-3 สัปดาห์ | 0 กรัม |
4-8 สัปดาห์ | 1 กรัม |
9 สัปดาห์ | 2 กรัม |
10 สัปดาห์ | 7 กรัม |
12 สัปดาห์ | 14 กรัม |
13 สัปดาห์ | 23 กรัม |
14 สัปดาห์ | 43 กรัม |
15 สัปดาห์ | 70 กรัม |
16 สัปดาห์ | 100 กรัม |
17 สัปดาห์ | 140 กรัม |
18 สัปดาห์ | 190 กรัม |
19 สัปดาห์ | 240 กรัม |
20 สัปดาห์ | 300 กรัม |
21 สัปดาห์ | 360 กรัม |
22 สัปดาห์ | 430 กรัม |
23 สัปดาห์ | 500 กรัม |
24 สัปดาห์ | 600 กรัม |
25 สัปดาห์ | 660 กรัม |
26 สัปดาห์ | 760 กรัม |
27 สัปดาห์ | 875 กรัม |
28 สัปดาห์ | 1,000 กรัม |
29 สัปดาห์ | 1,200 กรัม |
30 สัปดาห์ | 1,300 กรัม |
31 สัปดาห์ | 1,500 กรัม |
32 สัปดาห์ | 1,700 กรัม |
33 สัปดาห์ | 1,900 กรัม |
34 สัปดาห์ | 2,000 กรัม |
35 สัปดาห์ | 2,400 กรัม |
36 สัปดาห์ | 2,600 กรัม |
37 สัปดาห์ | 2,900 กรัม |
38 สัปดาห์ | 3,100 กรัม |
39 สัปดาห์ | 3,300 กรัม |
40 สัปดาห์ | 3,500 กรัม |
ประเมินน้ำหนักทารกจากอะไร
สำหรับคุณแม่ที่สงสัยว่าจะสามารถหาน้ำหนักของทารกได้อย่างไร มีเทคนิคและเกณฑ์การวัดดังนี้ค่ะ
- ขนาดตัวทารก - เป็นวิธีดั้งเดิมที่ใช้ประเมินน้ำหนัก โดยการคาดคะเนน้ำหนักด้วยมือของสูติแพทย์จากการตรวจร่างกาย เป็นวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากสะดวกและไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่วิธีนี้อาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้มาก
- ประเมินน้ำหนักโดยมารดา - ใช้ในการประเมินน้ำหนักในครรภ์หลัง ๆ และประเมินน้ำหนักทารกที่อายุครรภ์ครบกำหนด
- การใช้คลื่นเสียงความถี่สูง - เป็นการวัดสัดส่วนทารกในครรภ์ โดยการวัดความยาวของทารก การวัดความกว้างของศีรษะทารก การวัดเส้นรอบวงศีรษะ การวัดเส้นรอบท้อง การวัดความยาวกระดูกต้นขา
คุณแม่ควรได้รับสารอาหารยังไง
สำหรับคุณแม่ที่อยากจะปรับการกิน โดยเฉพาะช่วงอายุครรภ์ 14-28 สัปดาห์ ควรกินอาหารเพิ่มจากก่อนตั้งครรภ์ 300 kcal ต่อวัน โดยควรมีสารอาหารดังนี้
- โปรตีน เพื่อการสร้างเสริมและการเจริญเติบโตของเซลล์ เนื้อเยื่อ เช่น เนื้อปลา อกไก่ ไข่ ถั่ว เต้าหู้ นมและผลิตภัณฑ์จากนม
- คาร์โบโฮเดรต เช่น ข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง แป้ง เผือก มัน
- ธาตุเหล็ก ช่วยในการบำรุงเลือด ป้องกันภาวะโลหิตจาง เช่น ตับ ไข่แดง เนื้อแดง อาหารทะเล เนื้อปลา ถั่วชนิดต่าง ๆ ผักใบเขียวเข้ม เมล็ดธัญพืช หากคุณแม่ได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพออาจส่งผลต่อพัฒนาการสมองของทารกได้
- วิตามินซี ช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก เช่น ส้ม มะนาว กีวี ฝรั่ง และผักใบเขียวเข้ม
- ไอโอดีน เช่น อาหารทะเล เกลือทะเล เพื่อป้องกันโรคคอพอกและสติปัญญาบกพร่องจากการขาดสารไอโอดีนในทารก
- แคลเซียม ช่วยสร้างกระดูกให้ทารกในครรภ์ เช่น นม ปลา งา ผักใบเขียว โดยเฉพาะปลาเล็กปลาน้อยและอาหารทะเลต่าง ๆ
- น้ำ ควรดื่มน้ำประมาณวันละ 6-8 แก้ว เพื่อช่วยให้ระบบขับถ่ายของคุณแม่ดีขึ้น
ทราบแบบนี้แล้วคุณแม่ตั้งครรภ์ก็ควรจะใส่ใจในเรื่องของน้ำหนักทั้งของตัวเองและลูกน้อยในครรภ์ จะได้แข็งแรงทั้งแม่และลูกเลยนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : cryoviva.com, med.cmu.ac.th, bnhhospital.com