x close

ลูกน้อยสะอาดได้ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า

แม่และเด็ก

ลูกน้อยสะอาดได้ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า
(Mother & Care)
เรื่อง : วิภาวี

            เรื่องความสะอาดของเด็กอ่อน เป็นเรื่องที่คุณแม่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของลูกยังบอบบางต่างจากผู้ใหญ่ โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ที่ยังรู้จักลูกไม่ดีพอ ขาดประสบการณ์ในเรื่องนี้ มักรู้สึกเป็นกังวล (กล้า ๆ กลัว ๆ) กับภารกิจดังกล่าว ดังนั้น วิธีการดูแลทำความสะอาดลูกน้อยอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไปนี้ จะช่วยลดความกังวลใจให้กับคุณแม่ก่อนลงมือปฏิบัติจริงค่ะ

ผม
            เด็กบางคนเกิดมามีผมมาก บางคนมีผมน้อย ต้องยกให้กับเรื่องของธรรมชาติที่สร้างมา ยังไม่ต้องกังวลที่ต้องดูแล คือ วิธีการทำความสะอาดมากกว่า คุณแม่ควรสระผมวันละครั้ง แต่ถ้าอากาศหนาวเย็นหรือเป็นหวัด ก็ควรเว้นระยะการสระผม อาจสระเพียงวันเว้นวันก็พอ

          เรื่องต้องระวัง : ขณะที่ล้างแชมพูออก คุณแม่ต้องระวังน้ำกระเด็นเข้าตา หรือหากกลัวว่าลูกจะสะดุ้งตกใจกับการสระผมใช้น้ำค่อย ๆ ลูบศีรษะ พอให้ลูกรู้สึกตัวก่อน ส่วนไขที่ติดมากับศีรษะ หากยังไม่หลุด ก็ไม่ต้องไม่แกะออก ใช้น้ำมันสำหรับเด็กทาทิ้งไว้ แล้วค่อย ๆ ใช้แปรงสำหรับเด็กหรือผ้านุ่มๆ เช็ดหลังสระผม เดี๋ยวก็หลุดไปเอง

ดวงตา

            ในเด็กแรกเกิด ดวงตายังทำงานประสานได้ไม่ดีนัก หากคุณแม่สังเกตว่า ดวงตาของลูกดูไม่สัมพันธ์กัน ก็ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ค่ะ จนกว่าจะ 8-10 สัปดาห์ไปแล้ว การทำงานของดวงตาก็จะดีขึ้น

            การดูแลดวงตาเด็กเล็กนั้น เพียงใช้สำลีก้อนชุบน้ำอุ่นค่อยๆ เช็คจากหัวตาไล่ลงไปหางตา ส่วนใบหน้า ถ้าเห็นว่าเลอะหรือมีรอยแดง เป็นผดผื่น อาจเช็ดหน้าด้วยผ้าสะอาด ชุบน้ำบิดหมาดเช็ดเบาๆ ได้ค่ะ

          เรื่องต้องระวัง : ลูกอาจมีน้ำตาไหลอยู่ตลอดเวลาในช่วงแรกเกิด เป็นเพราะกลไกธรรมชาติ ร่างกายสร้างไลโซไซน์ (lysozyme) ขึ้นมา คอยทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ อีกไม่นานก็จะหายไปไม่ต้องทำอะไรกับดวงตาของลูก แต่หากมีขี้ตามาก ลูกลำบากที่จะลืมตา ก็ควรเช็ดออก อาจนวดบริเวณหัวตา (ต่อมน้ำตา) เบา ๆ เพื่อให้ท่อน้ำตาเปิด

            ถ้าขี้ตาเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือปนเขียวหนังตาบวมขึ้น ตาขาวเริ่มมีสีแดงจากการอักเสบ แสดงว่าอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอทันที

ช่องปาก

            การทำความสะอาดช่องปาก ควรทำทุกครั้งหลังที่กินนมเสร็จ โดยใช้ผ้าสะอาดพันปลายนิ้วชุบน้ำอุ่น เช็ดบริเวณสันเหงือกและกระพุ้งแก้ม เมื่อฟันเริ่มมีขึ้นให้คุณแม่ทำความสะอาดภายในปาก โดยใช้ผ้าสะอาดพันที่มือคุณแม่แล้วเช็ดที่บริเวณเหงือก ฟันกระพุงแก้ม และลิ้น

          เรื่องต้องระวัง : ระวังเรื่องการดิ้นของลูก เพราะอาจทำให้นิ้วของคุณแม่ที่กำลังล้วงเข้าไปในช่องปาก กระแทกเหงือกหรือฟันลูก

จมูก

          ในรูจมูกจะมีขนจมูก ทำหน้าที่ขัดขวางสิ่งสกปรกไม่ให้เข้าไปในระบบหายใจ ทำให้ลูกมักจามได้ คุณแม่อาจรู้สึกว่าลูกเป็นหวัด (หรือเปล่านะ) ที่จริงแล้วเป็นปฏิกิริยาอัตโนมัติที่ธรรมชาติ จะพยายามเอาสิ่งแปลกปลอมออกจากจมูก
กรณีที่ลูกเป็นหวัด มีน้ำมูก ทำความสะอาดได้ โดยใช้สำลีหรือคอตตอนบัดชุบน้ำต้มสุกเช็ดน้ำมูก แต่เพียงตื้น ๆ เท่านั้น

          เรื่องต้องระวัง : หากไม่มีความจำเป็นใด ๆ ก็ไม่ควรแกะ แคะ หรือทำอะไรในรูจมูกของลูก

หู

          ควรทำทุกครั้งหลังอาบน้ำโดยใช้สำลีชุบน้ำอุ่นพอหมาด ๆ เช็ดเบา ๆ บริเวณใบหูด้านนอก และช่วงหลังใบหูจากนั้นซับให้แห้งด้วยผ้านุ่ม แค่ด้านนอกก็พอแล้วค่ะ

          เรื่องต้องระวัง : ไม่ควรแคะ แกะ หรือเช็ดเข้าไปในรูหู เพราะอาจทำให้แก้วหูทะลุได้ และไม่จำเป็นต้องแคะขี้หูให้ลูก

เล็บ

          ในเด็กเล็ก ๆ เล็บมือจะยาวเร็วมาก ต้องหมั่นตรวจดูเล็บทุกสัปดาห์ การดูแลเล็บที่ง่ายที่สุดก็คือ การตัดเล็บ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยค่อย ๆ จับนิ้วมือลูกขึ้นมา สอดปลายกรรไกรไว้ได้เล็บ และดูให้แน่ใจว่าไม่สอดลึกเกินไป และควรตัดตามแนวโค้งของช่วงเล็บแต่ละนิ้วโดยเฉพาะหลังอาบน้ำเสร็จ เล็บลูกจะค่อนข้างนิ่มทำให้ตัดได้ง่ายขึ้น

          เรื่องต้องระวัง : ควรใช้กรรไกรตัดเล็บสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เพราะถูกออกแบบมาให้เหมาะกับนิ้วเล็ก ๆ ของลูก ควรตัดเล็บในขณะที่ลูกนอนหลับ จะได้จับนิ้วลูกได้ถนัดยิ่งขึ้น

สะดือ

        
เป็นส่วนที่ต้องระมัดระวัง ไม่ให้มีการติดต่อรับเชื้อโรคได้ ดังนั้น คุณแม่ควรทำความสะอาดวันละ 2 ครั้ง ช่วงเช้าและเย็นใช้คอตตอนบัดเช็ดสะดือลูก โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อระหว่างสายสะดือกับบริเวณผิวหนังทารก ด้วยแอลกอฮอล์ 70% ตามที่โรงพยาบาลจัดให้

          เรื่องต้องระวัง : ห้ามใช้แป้งเด็กโรยสะดือ เพราะภายนอกดูเหมือนสะดือแห้งดี แต่ส่วนรอยต่อระหว่างสะดือกับผิวหนังหน้าท้องอาจจะยังแฉะ กลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค เกิดการติดเชื้อได้ โดยทั่วไปสะดือเด็กแรกเกิด มักจะค่อย ๆ แห้งไปเองภายใน 7-10 วันหลังคลอด หลังจากสะดือหลุดแล้ว หากสะดือมีกลิ่นเหม็น รอบ ๆ สะดือมีการบวมแดงหรือแฉะ ควรพาเด็กไปพบคุณหมอ

น้องหนู

          จุดซ่อนเร้นของลูกน้อยเป็นส่วนที่บอบบางที่คุณแม่ต้องเอาใจใส่ ให้ความสำคัญในเรื่องความสะอาดให้มากค่ะ

ลูกสาว

          หลังอาบน้ำใช้สำลีชุบน้ำสะอาด เช็ดจากท้องน้อยไล่ลงไปที่อวัยวะเพศจนถึงทวาร และควรเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลังเสมอ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคจากทวารหนักจะเข้าสู่ช่องคลอด

ลูกชาย

          ใช้สำลีชุบน้ำสะอาดเช็ดจากท้องน้อยไปอวัยวะเพศจนถึงทวารหนัก ไม่ต้องพลิกปลายอวัยวะเพศออกมาทำความสะอาด

        
เรื่องต้องระวัง :  เปลี่ยนผ้าอ้อมและทำความสะอาดทุกครั้งที่ลูกปัสสาวะหรืออุจจาระ เพื่อไม่ให้เกิดการหมักหมม (เชื้อโรค) และผดผื่นต่าง ๆ

รู้จักอุปกรณ์ทำความสะอาด

         อ่างอาบน้ำ กะละมัง : เดี๋ยวนี้มีนำเสนอให้คุณแม่เลือกมากมาย แต่สำหรับเด็กแรกเกิด ขนาดอาจไม่ต้องใหญ่มาก จะได้ไม่เวิ้งว้างทำให้คุณแม่รู้สึกกังวลกล้า ๆ กลัว ๆ กับการอาบน้ำ แต่เมื่อลูกโตขึ้น นั่งได้แล้ว อ่างน้ำทั่วไปก็ใช้แทนให้ลูกอาบน้ำได้

         สบู่ แชมพู ฟองน้ำ : ของใช้สำหรับอาบน้ำ ควรเลือกชนิดที่ผลิตสำหรับเด็ก โดยเฉพาะจะดีกว่าค่ะ เพราะผิวเด็กเล็ก ๆ บอบบาง ระคายเคืองสิ่งแปลกปลอมได้ง่าย

         ผ้า : ไม่ว่าผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ ผ้าใช้ห่อตัวและเช็ดตัว หรือผ้าอ้อม ของใช้ประเภทผ้าเครื่องใช้เหล่านี้ต้องคำนึงถึงความสะอาดเป็นสำคัญ

         สำลี : ควรมีไว้ 2 แบบ คือแบบก้อนกลมและแบบพันปลายไม้ เพื่อให้เหมาะกับการใช้งาน เช่น ชนิดก้อนกลม ๆ ใช้สำหรับทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นหรือก้นของลูก ส่วนแบบสำลีพันปลาย (คอตตอนบัด) จะเหมาะกับการทำความสะอาดบริเวณใบหู รูจมูก เป็นต้น





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 Vol.4 No.45 กันยายน 2551

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลูกน้อยสะอาดได้ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า อัปเดตล่าสุด 28 มิถุนายน 2554 เวลา 14:40:46 9,314 อ่าน
TOP