ช่วยลูกได้นมแม่ด้วยท่า Kangaroo Care

ท่าให้นมแม่
ยามลูกน้อยแรกเกิดป่วยมักไม่ค่อยมีแรง แต่คุณแม่สามารถช่วยได้ โดยท่าให้นม แคงการูแคร์

ช่วยลูกได้นมแม่ด้วย Kangaroo Care
(รักลูก)
เรื่อง : นภัทร ตรวจสอบข้อมูลโดย พญ.ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล กุมารแพทย์ โรงพยาบาลเซ็นหลุยส์

          ยามลูกน้อยแรกเกิดป่วยมักไม่ค่อยมีแรง ทำให้ดูดนมได้น้อย ร่างกายเลยยิ่งไม่แข็งแรง แต่คุณแม่สามารถช่วยได้ โดยใช้วิธี Kangraroo Care ค่ะ

          แคงการูแคร์ (Kangaroo Care) เป็นการเลียนแบบการดูแลลูกของจิงโจ้ ซึ่งแม่จะให้ลูกอยู่ในถุงหน้าท้องจนลูกเติบโตแข็งแรง เพื่อให้ความอบอุ่นและปกป้องลูกให้ปลอดภัย

          คือการที่แม่ให้ลูกนอนแนบอก ให้ผิวของแม่แนบสัมผัสกับผิวของลูก โดยที่ลูกไม่ต้องสวมใส่เสื้อผ้าหรือถูกห่อหุ้มอยู่ในผ้าลูกจะได้รับการโอบอุ้มอยู่บนอ้อมอกแม่ การให้นมลูกในลักษณะ "ท่าจิงโจ้" นี้จะช่วยให้ลูกได้รับสัมผัสรักจากแม่แบบเต็มที่ค่ะ

ประโยชน์ของแคงการูแคร์และการให้นม "ท่าจิงโจ้"

ลูกน้อยแรกเกิด

          หลังลูกคลอด การที่แม่โอบอุ้มลูกไว้บนอกทันทีอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง และให้นมลูกครั้งแรกในท่าจิงโจ้ มีประโยชน์และมีคุณค่าต่อลูกน้อยมากค่ะ เพราะช่วยให้...

        อุณหภูมิร่างกายของลูกคงที่ เมื่อลูกได้รับความอบอุ่นจากอกแม่ ลูกจะไม่เกิดอาการอุณหภูมิในร่างกายต่ำหรือตัวเย็น

        อัตราการเต้นของหัวใจสม่ำเสมอ เมื่อลูกน้อยนอนอยู่บนอกแม่ ลูกจะได้ยินเสียงหัวใจของแม่ อัตราการเต้นของหัวใจลูกจะปรับตัว ทำให้ลูกหายใจสม่ำเสมอ ระดับออกซิเจนในเลือดเพิ่มขึ้น ความดันโลหิตเป็นปกติ รวมทั้งช่วยลดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจลูกด้วย

          และการที่ลูกได้รับการกอดสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อจากแม่ทันทีหลังคลอด เป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง จะช่วยให้ลูกดูดนมแม่ได้เองโดยแม่ไม่ต้องช่วยเหลือ เพราะท่านี้ช่วยให้ลูกดูดนมได้ง่ายขึ้น และดีขึ้น ทำให้ดูดนมแม่เพียงอย่างเดียวเป็นเวลานานกว่า

          ที่สำคัญการสัมผัสที่ผิว (Skin to skin contact) ทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนที่กระตุ้นการผลิตและการไหลของน้ำนมแม่ ทำให้ปริมาณน้ำนมของแม่เพิ่มขึ้นด้วย ทำให้สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานขึ้น และช่วยให้แม่เจ็บหัวนมน้อยกว่า

          การทำแคงการูแคร์ นอกจากจะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่น คุ้นเคย และปลอดภัย แม่ก็สามารถสัมผัสถึงความรู้สึกของการเป็นแม่ได้ลึกซึ้งขึ้นด้วยค่ะ

ลูกน้อยคลอดก่อนกำหนด

          การสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อในท่าจิงโจ้ อุณหภูมิของแม่จะช่วยควบคุมอุณหภูมิของลูกไม่ให้เย็นหรือร้อนเกินไป และช่วยให้อัตราการหายใจที่เร็วเกินไปของลูกกลับเข้าสู่เกณฑ์ปกติได้ ทำให้ลูกแข็งแรงเร็วขึ้น และออกจากโรงพยาบาลได้เร็วขึ้น

ลูกน้อยปฏิเสธเต้า

          ลูกน้อยไม่ยอมดูดนมแม่ ทั้งที่เคยดูดมาแล้วหยุดดูด หรือติดการดูดจากขวด หากอยากให้ลูกน้อยกลับมาดูดนมจากอกแม่ พบว่าการทำแคงการูแคร์และให้นมในท่าจิงโจ้ จะช่วยให้ลูกกลับมาดูดนมแม่ง่ายขึ้น

ลูกน้อยป่วย

          เวลาที่ป่วยลูกมักไม่ค่อยมีแรง ลูกจะดูดนมได้น้อย ทำให้ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง การที่ให้ลูกน้อยนอนอยู่บนอกแม่ในลักษณะเนื้อแนบเนื้อความเครียดของลูกจะลดน้อยลง การได้ยินเสียงเต้นของหัวใจที่คุ้นเคยของแม่จะช่วยให้ลูกนอนหลับลึกและดีขึ้น ลูกพักผ่อนเพียงพอ จึงทำให้อาการป่วยของลูกดีขึ้นค่ะ

          แต่ไม่ว่าลูกจะป่วยหรือไม่ป่วย อ้อมอกของแม่ก็คือบ้านที่อบอุ่นที่สุดของลูกน้อยนั่นเองค่ะ




    

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 31 ฉบับที่ 377 มิถุนายน 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ช่วยลูกได้นมแม่ด้วยท่า Kangaroo Care อัปเดตล่าสุด 6 ตุลาคม 2557 เวลา 18:50:58 4,872 อ่าน
TOP
x close