คลอดก่อนกำหนด...ควรรู้เพื่อป้องกัน

คลอดก่อนกำหนด
การป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนด จะทำให้คุณแม่ได้ลูกน้อยที่สมบูรณ์แข็งแรง

คลอดก่อนกำหนด...ควรรู้เพื่อป้องกัน
(รักลูก)

          เนื่องจากปัจจุบันการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดเกิดขึ้นบ่อย ๆ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทางสูติศาสตร์ก่อให้เกิดภาวะทุพพลภาพและการตายของทารกได้ถึงร้อยละ 75 ภาวะเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด คือภาวะที่มีการเจ็บครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะนับตั้งแต่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ และก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ในกรณีที่น้ำหนักทารกแรกคลอดน้อยกว่า 2,500 กรัม เรียกว่าทารกน้ำหนักแรกคลอดน้อย พบได้ประมาณร้อยละ 7-12 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งแตกต่างกันไปในประชากรแต่ละกลุ่ม

สาเหตุการคลอดก่อนกำหนด

          สาเหตุที่แท้จริงนั้นไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจเกิดได้หลายสาเหตุโดยปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อยคือมีประวัติการคลอดก่อนกำหนด และการตั้งครรภ์แฝด นอกจากนี้พบว่าชนชาติผิวสีมีเปอร์เซ็นต์คลอดก่อนกำหนดสูงกว่าด้วย

          คุณแม่ที่มีประวัติการคลอดก่อนกำหนด จะเพิ่มโอกาสเป็นร้อยละ 17-37 หรือมีโอกาสเกิดการคลอดก่อนกำหนดเป็น 2.5 เท่าตามจำนวนการตั้งครรภ์คลอดก่อนกำหนด และโอกาสเกิดลดลงตามจำนวนการตั้งครรภ์ที่คลอดครบกำหนดครับ

          ส่วนปัจจัยเสี่ยเรื่องการติดเชื้อก็ทำให้เกิดภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดได้ รวมทั้งภาวะความผิดปกติของมดลูกด้วย

ภาวะที่จำเป็นต้องคลอดก่อนกำหนด

          พบได้ร้อยละ 20-30 ของการคลอดก่อนกำหนด มาจากโรคแทรกซ้อนทางอายุรกรรม ศัลยกรรม หรือสูติกรรม ที่เป็นอันตรายต่อมารดาหรือทารก ทำให้ต้องสิ้นสุดการตั้งครรภ์ก่อนครบกำหนด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดต่อมารดาและทารก ภาวะดังกล่าวได้แก่ ภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรง ภาวะความดันโลหิตสูงเรื้อรัง ภาวะเบาหวาน ภาวะรกเกาะต่ำ ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด และภาวะทารกโตช้าในครรภ์ ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์คลอดที่การตั้งครรภ์ยังไม่ครบกำหนด

การวินิจฉัยภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด

          ขึ้นกับการตรวจพบการหดรัดตัวของมดลูก และการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูก โดยจะมีการหดรัดตัวอย่างน้อย 4 ครั้งใน 20 นที หรือ 6 ครั้งใน 60 นาที และปากมดลูกบางตัว อย่างน้อยกว่าร้อยละ 80 หรือปากมดลูกคุณแม่เปิดมากกว่า 1 เซนติเมตร การวินิจฉัยภาวะนี้คุณหมออาจต้องใช้ยาระงับการหดรัดตัวของมดลูกโดยไม่จำเป็น ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อมารดา และทารกในครรภ์

          ส่วนวิธีอื่น ๆ ที่ช่วยวินิจฉัยภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด ได้แก่ การวัดความยาวของปากมดลูกโดยคลื่นเสียงความถี่สูงการตรวจหา Fetal Fibronectin จากปากมดลูก และช่องคลอด ถ้าความยาวของปากมดลูกโดยคลื่นเสียงความถี่สูงน้อยกว่า 25 มิลลิเมตร ที่อายุครรภ์ 24 สัปดาห์ ถือว่าเกิดภาวะเสี่ยงต่อการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด

ผลของภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด

          อาจก่อให้เกิดภาวะทุพพลภาพและการตายของทารกได้ถึงร้อยละ 75 ซึ่งภาวะแทรกซ้อนของทารกที่คลอดก่อนกำหนด ได้แก่ การหายใจล้มเหลว เลือดออกในสมอง การติดเชื้อในทางเดินอาหาร การติดเชื้อในกระแสเลือด ชักและเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวนั้น จะแปรผกผันกับอายุครรภ์ที่คลอดก่อนกำหนด โดยอายุครรภ์ที่ทารกคลอดยิ่งน้อย โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนยิ่งมากขึ้น

การป้องกัน

          ได้แก่ การนอนหลับ การใช้ยาปฏิชีวนะ การมีเพศสัมพันธ์ การเย็บปากมดลูก และการใช้ยาอื่น ๆ แม้การนอนพักยังไม่พบว่าได้ประโยชน์ทั้งครรภ์แฝดและครรภ์เดี่ยว แต่ก็ช่วยให้ร่างกายคุณแม่ได้อยู่นิ่ง ไม่เคลื่อนไหว ส่วนยาปฏิชีวนะก็จะใช้รักษากลุ่มที่มีภาวะเสี่ยงสูง

          ในแง่ของการมีเพศสัมพันธ์ คุณแม่ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างอายุครรภ์ 20-26 สัปดาห์ในสตรีตั้งครรภ์กลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด

          ส่วนการเย็บผูกปากมดลูกเพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนดสามารถลดการคลอดก่อนกำหนดลงได้ เฉพาะกลุ่มการตั้งครรภ์เดี่ยวที่มีประวัติการคลอดก่อนกำหนดและตรวจพบปากมดลูกสั้น

          คุณแม่อาจได้รับคำแนะนำให้ได้รับยาระงับการหดรัดตัวของมดลูก ซึ่งมีประสิทธิภาพในการดูแลรักษาภาวะเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด โดยยืดระยะเวลาของการคลอดออกไป การเลือกใช้ยาคุณหมอจะพิจารณาให้เหาะสมกับคุณแม่แต่ละราย เพื่อรอฤทธิ์ของยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่ให้ร่วมด้วย ซึ่งออกฤทธิ์กระตุ้นการเจริญเติบโตของปอดของทารก นอกจากนี้ยังมีเวลาให้หมอส่งคุณแม่ที่มีภาวะดังกล่าวไปยังโรงพยาบาลที่มีความสามารถในการดูแลทารกแรกคลอดก่อนกำหนด

          แต่คุณหมอจะไม่ให้ยาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไม่ได้ช่วยลดอัตราการเกิดการเป็นซ้ำของภาวะเจ็บครรภ์คลอดและการคลอดก่อนกำหนดอย่างมีนัยสำคัญ และไม่ได้เพิ่มค่าเฉลี่ยของอายุครรภ์เมื่อคลอด และยืดเวลาการคลอดอออกไป ดังนั้นถ้าคุณแม่มีอาการเจ็บครรภ์คลอดซ้ำ คุณหมอจะให้ยาระงับการหดรัดตัวของมดลูกซ้ำ ก็เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะมีเวลาส่งคุณแม่ไปยังโรงพยาบาลที่มีความสามารถในการดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดได้

          คุณแม่จะเห็นได้ว่าการคลอดก่อนกำหนดเป็นเรื่องสำคัญต่อคุณแม่ทุกคน โดยเฉพาะในคุณแม่ที่เคยคลอดก่อนกำหนดมาก่อน คุณแม่ควรได้พบคุณหมอที่ฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ เพื่อจะได้ตรวจหาความเสี่ยงของการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด และได้รับการป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนด ซึ่งจะทำให้คุณแม่ได้ลูกที่สมบูรณ์แข็งแรงนะครับ






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 32 ฉบับที่ 379 สิงหาคม 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คลอดก่อนกำหนด...ควรรู้เพื่อป้องกัน อัปเดตล่าสุด 12 กันยายน 2557 เวลา 14:24:11 4,664 อ่าน
TOP
x close