เมื่อแม่ท้องมีไข้ การกินอาหารช่วยลดไข้ได้โดยไม่พึ่งยา
อาหารลดไข้ช่วงท้อง (modernmom)
โดย : แววตา เอกชาวนา นักโภชนาการ
ดื่มน้ำลดไข้
ช่วงที่เป็นไข้ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว แบ่งจิบทีละน้อย เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกาย และป้องกันภาวะขาดน้ำ ถ้ามีอาการไอร่วมด้วยให้หลีกเลี่ยงน้ำเย็น นอกจากน้ำเปล่าแล้ว อาจจิบน้ำสมุนไพรอุ่น ๆ ไม่หวานจัด เช่น น้ำมะตูม น้ำกระเจี๊ยบ น้ำสมุนไพรบางชนิดที่มีน้ำมันหอมระเหย เช่น ขิง ตะไคร้ จะช่วยให้สดชื่น จมูกโล่ง หายใจสะดวกขึ้น และอย่าลืมเลือกอาหารที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ซุป แกงจืดต่าง ๆ
กินผัก ผลไม้สดเป็นประจำ
เพื่อเพิ่มวิติมนซี และวิตามินเอ ซึ่งเป็นสารแอนติออกซิแดนท์ช่วยสร้างภูมิต้านทานทำให้ฟื้นตัวได้เร็ว เช่น ฝรั่ง มะขามป้อม มะละกอ มะม่วง สับปะรด ส้ม แคนตาลูป กีวี สำหรับผักแนะนำให้ทานแบบสด หรือนำไปปั่นเป็นน้ำผัก เช่น น้ำแตงกวา น้ำแครอทคั้นสดผสมมะนาว ควรกินผักผลไม้ อย่างน้อยวันละ 3-5 ชนิด เพื่อร่างกายจะได้รับวิตามินและเกลือแร่อย่างเพียงพอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิต้านทานให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ใยอาหารจากผักและผลไม้ช่วยให้ขับถ่ายได้ดีป้องกันอาการท้องผูก เพราะถ้ามีอาการท้องผูกร่วมด้วยในขณะที่เป็นไข้จะทำให้ร่างกายไม่สุขสบาย
สมุนไพรไทย
หอม กระเทียม กระเพราแดง มีสารพฤษเคมีช่วยป้องกันไข้หวัดโดยตรง มีฤทธิ์ทำลายการทำงานของเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิต้านทานโรค มีน้ำมันหอมระเหย ช่วยให้รู้สึกสดชื่นหายใจคล่อง บรรเทาอาการคัดจมูก ผสมหอมแดง และกระเทียมที่ทุบหรือหั่น เติมใบกะเพราในอาหาร เช่น ต้มยำไก่ ยำไข่ต้ม ปลานึ่งมะนาว ผัดกะเพราเนื้อ
เลือกกินโปรตีนคุณภาพดี
เช่น เนื้อแดงไม่ติดมัน ไก่ ไข่ อาหารทะเล ถึงแม้จะเป็นช่วงที่ไม่สบาย แต่ร่างกายของแม่และทารกในครรภ์ยังต้องการโปรตีนอย่างเพียงพอ เพื่อสร้างกล้ามเนื้อทำให้ร่างกายมีสุขภาพดี นอกจากนี้เนื้อแดงและอาหารทะเลยังมีแร่ธาตุสำคัญคือ สังกะสี ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคช่วยต้านการออกฤทธิ์ของแบคทีเรียและเชื้อไวรัส ทำให้หวัดหายเร็วขึ้น เมนูแนะนำ เช่น ข้าวต้มปลา ไข่ตุ๋น หมูผัดขิง ซุปไก่ตุ๋นยาจีน
ธาตุเหล็ก
ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรค ทำให้ร่างกายแข็งแรง ถ้าขาดจะมีผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันโรคและความเจ็บป่วย เมื่อมีไข้ไม่สบาย จึงควรกินอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ถั่วแดงต้ม หมูผัดพริกหวาน ตับผัดกะเพรา
กินโยเกิร์ตไขมันต่ำเป็นประจำ
โยเกิร์ตย่อยง่ายกว่านมสด มีแคลเซียม โปรตีนและจุลินทรีย์ที่เป็นมิตรต่อร่างกาย ช่วยป้องกันการติดเชื้อ และกระตุ้นระบบภูมิต้านทานให้ทำงานดีขึ้น อาจผสมผลไม้สดในโยเกิร์ตเป็นอาหารระหว่างมื้อ เพื่อเพิ่มพลังงาน และคุณค่าโภชนาการ
กินอาหารครบมื้อ
แบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ กินครั้งละน้อย ๆ เพราะช่วงที่เป็นไข้ร่างกายจะรู้สึกอ่อนล้า ถ้าได้รับพลังงานจากอาหารไม่เพียงพอ จะทำให้ไม่สดชื่น ร่างกายฟื้นตัวได้ช้า การกินอาหารครั้งละน้อยทำให้ร่างกายย่อยอาหารเร็วขึ้น ไม่รู้สึกอึดอัด ช่วงที่เป็นไข้ร่างกายต้องการพักผ่อน การกินอาหารปริมาณน้อยทำให้พักผ่อนได้เร็วขึ้น ไม่ต้องรอให้อาหารย่อยหมดก่อน จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะกรดไหลย้อนในขณะตั้งครรภ์อีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.19 No.226 สิงหาคม 2557