INSULIN กับการตั้งครรภ์

 อินซูลินตั้งครรภ์
อินซูลินเป็นตัวหลักในการทำหน้าที่รักษาระดับน้ำตาลในกระแสเลือด


INSULIN กับการตั้งครรภ์
(modernmom)
เรื่อง : นพ.อานนท์ เรืออุตตมานันท์ สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ

          อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่เรารู้จักกันมานาน อินซูลินสร้างมาจากตับอ่อน ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด เมื่อเรากินอาหารประเภทแป้งหรือน้ำตาล เมื่อดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดแล้ว ก็จะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น มีส่วนหนึ่งที่ถูกนำไปใช้เป็นพลังงานในการดำรงชีวิตประจำวัน ส่วนที่เหลือร่างกายก็จะหลั่งฮอร์โมนอินซูลินนี้แหละอกมาจากตับอ่อน เอาน้ำตาลส่วนเกินนี้เข้าไปเก็บสะสมในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย กินเข้าไปเยอะ ก็เหลือใช้เยอะก็ย่อมต้องเอาไปสะสมเยอะ กินเยอะก็เลยต้องอ้วนเยอะตามนั้นเลย

รู้จักหน้าที่อินซูลิน

          คนที่เป็นเบาหวานต้นตอก็คือ อินซูลิน นั่นเองครับ เพราะอินซูลินเป็นตัวหลักในการทำหน้าที่รักษาระดับน้ำตาลในกระแสเลือด อะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้อินซูลินไม่เพียงพอ เช่น ตับอ่อนสร้างอินซูลินได้ไม่เพียงพอ มีอะไรไปด้านฤทธิ์อินซูลิน มีอะไรไปทำลายอินซูลิน หรือมีอะไรที่ทำให้เซลล์ที่สะสมน้ำตาลเกิดดื้อต่ออินซูลิน พอมีปัญหาอย่างนี้เกิดขึ้น น้ำตาลในกระแสเลือดก็จะเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ กลายเป็นภาวะเบาหวานนั่นเองครับ

          เมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นจะมีอาการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในตัวคุณแม่มากมาย ฮอร์โมนทั้งเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนสองตัวหลัก ๆ ที่สร้างมาจากรกก็จะไปต่อต้านฤทธิ์ของอินซูลิน ยิ่งฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นมากเท่าไร อินซูลินก็ทำงานได้น้อยลงเท่านั้น อินซูลินจะโดนต้านฤทธิ์มากสุดในช่วง 24-28 สัปดาห์

อินซูลินกับอาการเบาหวาน

          คุณแม่ที่เป็นเบาหวานมาแต่เดิม พอตั้งครรภ์อาการก็จะแย่ลง การควบคุมน้ำตาลในเลือดทำได้ยาก มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ง่าย คลอดแล้วเบาหวานก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม แต่คุณแม่บางคนไม่เคยเป็นเบาหวานมาก่อนเลย พอมาเจอฮอร์โมนในระหว่างที่ตั้งครรภ์ก็เลยกลายเป็นเบาหวาน ซึ่งก็มักจะเป็นแบบชั่วคราว หลังคลอดไปแล้วก็มักจะหายเป็นปกติ ตอนตั้งครรภ์แล้วเป็นเบาหวาน น้ำตาลในเลือดที่ปกติแล้วจะประมาณ 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร น้ำตาลอาจขึ้นไปถึงสองร้อยสามร้อย หวานหยดเผลอ ๆ นอนหลับแล้วมดอาจจะลากไปกินเลยก็ได้ แต่ก็แปลกที่มักไม่มีอาการผิดปกติอะไร บางรายอาจมีหิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลีย เวลามาตรวจฝากครรภ์ก็จะตรวจพบว่ามีน้ำตาลรั่วออกมาในปัสสาวะมโหฬาร ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงมากกว่าปกติ ก็จะสามารถส่งผ่านไปยังทารกในครรภ์ได้ ทำให้ทารกมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงตามไปด้วย แต่ฮอร์โมนอินซูลินของคุณแม่มีขนาดโมเลกุลใหญ่กว่าไม่สามารถผ่านรกไปถึงทารกในครรภ์ได้ ทารกจึงได้รับน้ำตาลไปเลี้ยงมากกว่าปกติตลอดการตั้งครรภ์ น้ำตาลที่สูงนี้ก็จะเปลี่ยนไปเป็นไกลโคเจนไปสะสมไว้ที่ตับ รวมทั้งเปลี่ยนไปเป็นไขมันสะสมตามตัวตามแขนตามขา โดยเฉพาะบริเวณไหล่ ทำให้ทารกมีรูปร่างอ้วนใหญ่มาก เป็นเหตุให้คลอดยากหรือคลอดติดไหล่ เป็นอันตรายต่อทั้งตัวแม่และทารก

ตรวจวัด คัดกรอง เบาหวาน

          ในเมื่อเป็นเบาหวานตอนตั้งครรภ์แล้วทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และไม่มีอาการ แล้วจะรู้ได้ยังไงกันล่ะว่าใครจะเป็นใครไม่เป็น...?

          ทางการแพทย์เราก็จะเรียกว่าการตรวจคัดกรอง ตรวจหาคนที่มีความเสี่ยงที่จะมาภาวะเบาหวานสูง คุณแม่ที่เข้าข่ายผู้ต้องสงสัยก็คือ เคยคลอดลูกที่มีน้ำหนักมากกว่า 4,000 กรัมขึ้นไปในการตั้งครรภ์ครั้งก่อนหน้านี้ ทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือแรกคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ แท้งโดยไม่ทราบสาเหตุติดต่อกัน 3 ครั้งขึ้นไป คุณแม่มีน้ำหนักตัวมากหรืออ้วนมาก ตรวจพบว่ามีน้ำตาลในปัสสาวะติดต่อกัน 2 ครั้งในระหว่างมาตรวจครรภ์ คุณแม่มีประวัติเป็นเบาหวานในครอบครัว หรือคุณแม่มีอายุมากตั้งแต่ 35 ปี ขึ้นไป

          สำหรับการตรวจคัดกรอง ในเบื้องต้นจะใช้การตรวจที่เรียกว่า การรับประทานน้ำตาล 50 กรัม Glucose Challeng Test ซึ่งไม่ต้องอดอาหารมาก่อน คุณหมอจะให้กินน้ำตาล 50 กรัม แล้วเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลใน 1 ชั่วโมงต่อมา ถ้าได้ค่า เกิน 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าผิดปกติ การคัดกรองเบื้องต้นนี้ก็จะได้คุณแม่ต้องสงสัยที่จะมีเบาหวานแฝง ต้องทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธี Glucose Toleance Test (GTT) คราวนี้ต้องงดอาหารมาอย่างน้อย 6 ชั่วโมง แล้วให้รับประทานน้ำตาลขนาด 100 กรัม แล้วตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานน้ำตาล 1 ชั่วโมง 2 ชั่วโมง และ 3 ชั่วโมง ในภาวะปกติ เมื่อกินน้ำตาลแล้ว น้ำตาลจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ตับอ่อนมันก็จะมีตัวตรวจจับว่าน้ำตาลในเลือดสูงเกินไปหรือเปล่า ถ้าเกินกว่าปกติ มันก็จะหลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมา เอาน้ำตาลในเลือดนี้ไปเก็บยังเซลล์กล้ามเนื้อ เซลล์ไขมันต่าง ๆ น้ำตาลในเลือดก็จะลดลงเป็นปกติในไม่ช้า แต่ในคุณแม่ที่เป็นเบาหวาน อินซูลินก็จะทำงานได้ไม่ปกติ พอกินน้ำตาลปี๊บ น้ำตาลก็จะขึ้นไปสูงปรี้ด แล้วกว่าจะเคลียร์ออกไปจากกระแสเลือดก็จะใช้เวลานานมากกว่าปกติ ถ้าตรวจเลือดก่อนกินน้ำตาลที่ 1 ชั่วโมง  2 ชั่วโมง  3 ชั่วโมง ค่าที่ได้สูงเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดก็จะวินิจฉัยได้ว่าคุณแม่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์

ดูแลเมื่อเป็นเบาหวาน

          เมื่อวินิจนัยชัดเจนแล้วว่าเป็นเบาหวาน ก็ต้องทำการรักษาโดยการรักษาเบื้องต้นก็คือ

          ควบคุมอาหาร โดยให้ลดอาหารประเภทแป้งและหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง

          ตรวจวัดระดับน้ำตาลด้วยตนเองอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน คือหลังรับประทานอาหาร 1 ชั่วโมง โดยระดับน้ำตาลที่เหมาะสมได้แก่ หลังรับประทานอาหาร 1 ชั่วโมง ไม่ควรเกิน 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

          ใช้ยา มีปัญหาของเบาหวานในคุณแม่ตั้งครรภ์ก็เพราะอินซูลินการรักษาก็เลยต้องรักษาด้วยอินซูลิน การรักษาระยะแรกก็อาจจะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ต้องปรับขนาดยาอินซูลินให้เหมาะสมให้ระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ปกติและปลอดภัยตลอดการตั้งครรภ์

          เมื่อถึงเวลาคลอดคุณแม่ที่มีภาวะเบาหวาน ทารกก็มักจะตัวโตมากกว่าปกติ ก็อาจทำให้มีโอกาสที่จะต้องผ่าตัดคลอดสูงกว่าปกติ หลังคลอดแล้วทารกต้องได้รับการดูแลจากกุมารแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะมักมีปัญหาเรื่องน้ำตาลในเลือดหลังคลอดต่ำกว่าปกติได้ง่าย หากผ่านช่วงวันสองวันแรกไปแล้วก็ไม่ค่อยมีอะไรให้ตื่นเต้นแล้วครับ

          หลังคลอดไปแล้วคุณแม่ที่เป็นเบาหวานอยู่แล้วก็คงต้องติดตามการรักษาต่อไป ส่วนคุณแม่ที่เป็นเบาหวานเฉพาะในระหว่างการตั้งครรภ์ เมื่อทารกคลอด ฮอร์โมนตัวที่ไปต้านฤทธิ์อินซูลินก็จะหมดไปอย่างรวดเร็ว ภาวะเบาหวานก็จะหายไปด้วย ก็ตรวจติดตามน้ำตาลในเลือดสักระยะ ยังไงก็ตามควรตรวจร่างกายตรวจหาเบาหวานอยู่เป็นประจำนะครับ เพราะคนที่มีภาวะเสี่ยงก็ย่อมจะมีโอกาสเป็นเบาหวานจริง ๆ เลยได้มากกว่าคนปกตินั่นเองครับ



           
คลิกอ่านความคิดเห็นของ เพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ   



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.19 No.225 กรกฎาคม 2557


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
INSULIN กับการตั้งครรภ์ อัปเดตล่าสุด 1 กันยายน 2557 เวลา 14:57:22 6,165 อ่าน
TOP
x close