อย่าให้ลูกคลาดสายตา ในช่วงวัย 3 - 5 ปี

ภัยใกล้ตัวเด็ก

อย่าให้ลูกคลาดสายตา (รักลูก)
เรื่อง : รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้จัดการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก

         เหตุใด ? ผู้ใหญ่จึงทิ้งให้เด็กน้อยอยู่โดยลำพัง กระทั่งเกิดเหตุที่น่าสลดใจที่สุด

         นอกจากความประมาทแล้ว เชื่อว่ายังมีผู้ใหญ่อีกหลายท่านที่ขาดความเข้าใจในธรรมชาติพัฒนาการของเด็ก เพราะนึกไม่ถึงหลักในการดูแลเด็กที่ยังไม่ถึง 3 ขวบนั้น ก็คือ "อย่าให้คลาดสายตา" "อยู่ในวงแขน" "เห็นและคว้าถึง"

         ไม่ว่าในขณะนั้นหนูน้อยกำลัง นั่ง-เดิน-วิ่งเล่น-อยู่ในห้องน้ำ หรือแม้แต่กำลังนอนหลับอยู่บนที่นอน สำหรับเด็กอายุ 3-5 ปีนั้นใช้หลักว่า "เห็นและเข้าถึง" อย่าให้คลาดสายตา ควรอยู่ในที่ปลอดภัยที่จัดไว้ให้ และเข้าถึงได้ในทันที ที่บอกว่า "อย่าให้คลาดสายตา" เป็นเพราะโลกของเด็กปฐมวัยนี้ คือความตื่นตาตื่นใจ พวกเขาอยากรู้อยากเห็นไปซะทุกอย่าง ประกอบกับพัฒนาการทางร่างกายทำให้พวกเขาเคลื่อนไหวที่คล่องแคล่วยิ่งขึ้น ในขณะที่ยังไม่เข้าใจความเสี่ยง ยังระวังตัวไม่เป็นหลาย ๆ คนจึงเรียกเด็กในวัยไม่เกิน 6 ขวบนี้ว่าเป็น "วัยแห่งอุบัติเหตุรอบ ๆ ตัวแม่"

เสี่ยงต่อการ...จมน้ำ

         ลูก 1 ขวบ-จมถังน้ำคับอนาถ! แม่และป้าต่างออกไปทำงานนอกบ้าน ปล่อยลูกวัยขวบเศษให้อยู่ลำพัง แม้ว่าแม่จะออกไปนั่งขายของห่างไปไม่เกิน 10 เมตร แต่เมื่อกลับมาดูลูก ก็พบว่าหัวและตัวของลูกทิ่มลงในไปถังน้ำที่สูงราว 35 ซ.ม. และมีน้ำอยู่ครึ่งถัง ! ซึ่งมักจะมีน้ำคาอยู่ภายใน เพราะไม่ได้รีบเททิ้งแล้วคว่ำถัง หลังจากใช้งานเสร็จ หรือหากยังใช้งานยังไม่เสร็จก็ควรดูแลลูกเล็ก อย่าให้คลาดสายตา เพราะจะต้องไม่ลืมนะครับว่า การจมน้ำหรือขาดอากาศหายใจนั้น เพียงแค่ 4 นาทีก็อาจเสียชีวิตหรือเกิดภาวะสมองตายกลายเป็นเจ้าชายนิทรา

         ในแต่ละปีมีเด็กทารกอายุน้อยกว่าหนึ่งปีที่เสียชีวิตจากการจมน้ำไม่ว่าจะเป็นตกกระป๋อง ตุ่มหรือถังใบเล็ก อ่างน้ำ กะละมัง ส้วมชักโครก ร่องน้ำ ช่องรูของพื้นบ้านที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ ประมาณปีละ 18 คน และเด็กอายุหนึ่งถึงสองปีอีกกว่า 70 คน

         อย่าปล่อยเด็กเล็กไว้ในอ่างน้ำ หรือกะละมังคนเดียว สำรวจจุดเสี่ยงที่เด็กจะตกน้ำได้ในบ้านและกั้นรั้วหรือซ่อมแซมช่องรูต่าง ๆ หากใช้ส้วมชักโครก ก็ต้องอย่าลืมปิดฝาชักโครกเมื่อไม่ได้ใช้ หากในบริเวณนั้นมีสระว่ายน้ำ มีบ่อ ให้ทำรั้วกั้น เพื่อไม่ให้เด็ก ๆ เข้าไปเล่นโดยไม่มีผู้ใหญ่ดูแล

เสี่ยงต่อการ...พลัดตกจากที่สูง

         คุณยายและคุณป้ากำลังนั่งเปิบข้าวด้วยกันอย่างเอร็ดอร่อย จนหลงลืมไปเลยว่าหลานชายวัย 3 ขวบ กำลังนั่งเล่นอยู่อีกห้องหนึ่ง ซึ่งเป็นห้องที่เพิ่งทาสีเสร็จ และเพื่อการระบายลมระบายกลิ่นเหม็นของสีใหม่ จึงได้เปิดหน้าต่างอย่างอ้าซ่า แถมมีโซฟาตัวใหญ่ตั้งอยู่จนชิดขอบหน้าต่าง หลานวัยซนปีนขึ้นไปกระโดดเล่น ขึ้น ๆ ลง ๆ บนโซฟาใหญ่ และแล้วเด็กน้อยก็ร่วงลงมาจากดึกสูงชั้นที่ 21 ของคอนโดหรูกลางเมือง

         เด็กน้อยวัยซน (ก่อน 5 ขวบ) มักเสี่ยงต่อการหกล้มศีรษะฟาดพื้น และพลัดตกจากที่สูง โดยสถานที่เกิดเหตุมักจะเป็นบันไดโซฟา เก้าอี้ หน้าต่าง รถหัดเดิน เครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น ดาดฟ้า หรือระเบียงบ้าน

         การป้องกันไม่ใช่การเอาแต่คอยดุคอยห้าม แต่ควรจัดให้ลูกได้เล่น ได้ออกกำลังกาย ภายใต้การดูแลไม่ให้คลาดสายตาของพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ อีกข้อหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเด็กวัยนี้ก็คือ "กลัวการพรากจากพ่อแม่หรือคนที่รัก"

เสี่ยงต่อการ...มีของติดคอ

         เด็กชายวัย 2 ขวบ หม่ำลูกเชอรี (ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 2 ซ.ม.) เข้าไปทั้งลูก โดยไม่ได้เคี้ยว ทำให้ลูกเชอรีไหลลงคอลงไปอุดหลอดลม แล้วเกิดอาการช็อกจนหมดสติไป แม้ว่าเมื่อถึงโรงพยาบาลแพทย์พยายามนำสิ่งอุดตันจากหลอดลม แต่ก็ไม่ทันการในที่สุดเด็กก็เสียชีวิต

         เด็กน้อยวัยแค่ 1 ขวบ กลืนกระดุมแป๊ะ (โลหะ) เข้าไปติดหลอดลมจนขาดอากาศหายใจ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา เบื้องหลังของกรณีสลดใจนี้ก็คือ เด็กอยู่ในบ้านที่ผลิตกระเป๋าใส่สตางค์ โดยมีกระดุมแป๊ะเป็นส่วนประกอบสำคัญ ที่มักจะตกอยู่ตามพื้น

ป้องกันลูกติดคอ

         1. ในยามลูกกินอาหารก็ควรดูแลอย่างใกล้ชิด อาหารชิ้นโต ๆ ก้อนกลม ๆ หรือแข็ง ๆ ลื่น ๆ ซึ่งกลืนยากหรือเคี้ยวลำบาก เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น ข้าวเหนียว ตังเม ถั่วตัด ฯลฯ

         หากจะให้ลูกกิน ต้องตัดแบ่งเป็นคำเล็ก ๆ ด้วยนะครับ เพื่อป้องกันการติดคอ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นได้เสมอ เวลาจะป้อนอาหารลูกก็ควรให้เพียงคำเล็ก ๆ แล้วรอให้เด็กทานจนหมดปากจึงค่อยป้อนอีก (ไม่ยัดเยียดจนเต็มปาก) เวลาหม่ำข้าวก็อย่าให้เด็กวิ่งหรือกระโดดโลดเต้น เพราะมันเสี่ยงต่อการสำลักอาหาร

         2. เด็กในวัยไม่เกิน 3 ขวบ มักจะชอบสำรวจโลกด้วยการจับของใส่ปาก โดยเฉพาะเมื่อเห็นชิ้นอะไรจิ๋ว ๆ ที่ตกอยู่ตามพื้น ก็มักจะพิสูจน์โดยการหยิบขึ้นมาดูแล้วเอาเข้าปากทันที (หรือแม้แต่จับยัดใส่จมูกตัวเอง)

         ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดผลไม้ทั้งหลาย (ซึ่งมีโอกาสเข้าไปขวางหลอดลม จนเด็กขาดอากาศหายใจ)

         ที่อันตรายสุด ๆ ทำให้เด็กหลายคนต้องเสียชีวิต ก็คือยาเม็ดรักษาโรคต่าง ๆ ที่ผู้ใหญ่ในบ้านเผอเรอทำตกหล่นไว้ตามพื้น ให้เด็กเก็บไปหย่อนใส่ปากโดยคิดว่าเป็นขนม

         ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องเก็บกวาดพื้นบ้านให้เกลี้ยงนะครับ อย่าให้มีเศษวัสดุใด ๆ ตกอยู่ตามพื้นบ้านเป็นอันขาด

การปฐมพยาบาล กรณีมีสิ่งแปลกปลอมในหลอดลม

         การช่วยเหลือให้แบ่งออกเป็นเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปี และเด็กที่โตกว่า 1 ปี ในกรณีที่เด็กยังรู้สึกตัวดีหายใจได้ไม่ลำบาก เพียงแต่มีอาการไอ และมีประวัติสงสัยสำลัก ให้พาไปโรงพยาบาล ในเด็กโตพอที่จะพูดกันรู้เรื่อง ผู้ช่วยเหลือควรพยายามให้เด็กไอแรง ๆ บ่อย ๆ แต่ถ้าเด็กมีอาการหายใจดัง หายใจลำบากอึดอัดต้องพยายามมหาทางแก้ไขภาวะทางเดินหายใจอุดตันนี้โดย

         ในทารกอายุน้อยกว่า 1 ปี ใช้วิธีตบหลัง (back blows) และกระแทกหน้าอก (chest thrusts) โดย

         1. จับเด็กทารกให้คว่ำหน้า ลำตัวคร่อมไปตามท่อนแขนของผู้ช่วยเหลือ ตำแหน่งศีรษะคงที่โดยจับให้แน่นที่ส่วนคางของทารก แล้ววางแขนที่มีทารกคร่อมอยู่ลงไปที่ต้นขาของผู้ช่วยเหลือโดยให้ศีรษะของทารกอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าลำตัว

         2. ใช้ส่วนที่เป็นสันมือตบค่อนข้างแรงจำนวน 5 ครั้ง ตรงด้านหลังของทรวงอกบริเวณระหว่างกระดูกสะบักทั้ง 2 ข้าง

         3. หลังจากตบหลังเด็กแล้ว พลิกเด็กจากท่านนอนคว่ำเป็นท่านอนหงายบน ท่อนแขนอีกข้างหนึ่งซึ่งใช้ตบหลังเด็กทารก โดยวางแขนข้างนี้ไว้บนต้นขาของผู้ช่วยเหลือ และคงให้ระดับศีรษะของเด็กอยู่ต่ำกว่าระดับลำตัว

         4. ใช้นิ้วมือ 2 ข้าง (นิ้วชี้และนิ้วกลาง) กดแบบกระแทกลงบนตำแหน่งเดียวกับการกดหัวใจจากภายนอก คือกดกระแทกลงบนกระดูกยอดอกที่ตำแหน่ง 1 นิ้วมือต่ำกว่าเส้นที่ลากเชื่อมระหว่างหัวนมซ้ายและขวา กดกระแทกแบบเดียวกัน 5 ครั้งติดต่อกัน

         5. ทำขั้นตอน 1-4 หรือหน่วยฉุกเฉินมาถึงที่เกิดเหตุ หรือทำในระหว่างนำส่งโรงพยาบาลจนถึงมือแพทย์

         หวังว่าสิ่งที่นำมาฝากนี้ จะเตือนใจให้ผู้ใหญ่ทุกท่านได้ตื่นตัวและปกป้องลูกน้อยของเราให้รอดพ้นจากอันตรายใกล้ตัว เพื่อให้ลูกเติบโตขึ้นอย่างสมบูรณ์แข็งแรงเป็นแก้วตาดวงใจของคุณพ่อคุณแม่ตลอดไปครับ








ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 31 ฉบับที่ 375 เมษายน 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อย่าให้ลูกคลาดสายตา ในช่วงวัย 3 - 5 ปี อัปเดตล่าสุด 15 กรกฎาคม 2557 เวลา 14:44:35 2,010 อ่าน
TOP
x close