อย่าปล่อยให้ลูกเลือกข้าง เมื่อดูดนมแม่

นมแม่

อย่าปล่อยให้ลูก เลือกข้าง (ดูด)
(รักลูก)
เรื่อง : ก้านแก้ว เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ คุณศิริลักษณ์ ถาวรวัฒนะ พยาบาลวิชาชีพ คลินิกนมแม่ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

          ลูกน้อยของคุณแม่เลือกดูดนมข้างเดียว พอเปลี่ยนมาให้นมอีกข้าง ก็มีอาการหงุดหงิด งอแงไม่เลิกจนกว่าคุณแม่จะเปลี่ยนกลับมาให้นมข้างที่ลูกชอบดูดหรือเปล่าคะ ถ้าลูกมีพฤติกรรมแบบนี้ ควรปรับเปลี่ยนการให้นมก่อนที่นมทั้ง 2 ข้างของคุณแม่จะไม่เท่ากันค่ะ

 2 สาเหตุ ทำหนูติดดูดนมข้างเดียว

          1.ให้นมข้างที่คุณแม่ถนัด ช่วงแรก ๆ ที่คุณแม่ให้นมลูก มักจะให้ตามความถนัดของการอุ้มลูก เช่น คุณแม่ที่ถนัดขวา หรืออุ้มลูกมือขวาก็จะให้ลูกกินนมเต้าซ้าย จึงสังเกตได้ว่าคุณแม่ที่ถนัดขวา หน้าอกด้านซ้ายจะใหญ่กว่าเพราะเป็นเต้านมที่ลูกดูดบ่อย จึงมีการผลิตน้ำนมอยู่เป็นประจำ เต้านมข้างที่ไม่ได้ดูดก็จะผลิตน้ำนมน้อย ขนาดของเต้านมก็จะเล็กลงค่ะ

          2. ลูกติดความเร็วของกระแสน้ำนม เมื่อให้นมลูกไปประมาณ 1 เดือน นมข้างที่คุณแม่ให้ลูกกินประจำน้ำนมจะไหลแรงและเร็วกว่าอีกข้าง สอดคล้องไปกับการเจริญเติบโตของลูกที่เรียนรู้การดูดนมได้ดีขึ้น ซึ่งนมข้างที่เล็กกว่าจะผลิตน้ำนมได้น้อย ไหลช้ากว่าและเป็นน้ำนมข้น มีโซเดียมปริมาณมาก ทำให้มีรสชาติเค็ม แต่นมข้างที่ปริมาณน้ำนมมากกว่า น้ำนมจะใสและมีรสชาติหวานกว่า

 วิธีแก้ปัญหา ดูดนมข้างเดียว

          1. เปลี่ยนท่าให้นม ถ้าเป็นลูกที่ติดดูดนมข้างซ้าย เวลาดูดนมแก้มด้านขวาของลูกจะชิดเต้านมแม่พอดี ถ้าสลับให้ลูกมาดูดนมข้างขวา แก้มด้านขวาก็จะมาอยู่ด้านบนแทน ทำให้ลูกไม่คุ้นเคยประกอบกับมีน้ำนมไหลช้า ลูกก็จะงอแงระหว่างให้นม และไม่อยากดูดนมข้างนั้นได้

          คุณแม่จึงควรเปลี่ยนทำให้นมมาใช้ท่าฟุตบอลค่ะ โดยสลับมาให้ลูกกินนมข้างขวา คุณแม่อุ้มลูกนอนตะแคง ให้ลำตัวและขาของลูกแนบบริเวณเอวคุณแม่ แล้วประคองลูกไว้ การให้นมท่าฟุตบอล แก้มขวาของลูกจะอยู่ติดที่เต้านมคุณแม่ ทำให้ลูกไม่รู้สึกว่าการกินนมของเขาแตกต่างไปจากเดิม

          2. ขยันปั๊มนม ในขณะที่ให้นมลูกข้างที่น้ำนมไหลมาก ก็ให้ปั๊มนมข้างที่น้ำนมไหลน้อยไปพร้อมกันเลย ทำให้สามารถเก็บเป็นสต๊อกน้ำนมได้ด้วย หรือคุณแม่อาจจะปั๊มนมหลังจากที่ลูกกินนมเสร็จก็ได้ แล้วแต่ความสะดวก เพราะการปั๊มนมออกเป็นการกระตุ้นให้เต้านมผลิตน้ำนมออกมามาก ๆ ลดปัญหาที่น้ำนมแต่ละข้างไหลเท่ากัน หลังจากที่เต้านมทั้ง 2 ข้างถูกกระตุ้นแล้ว ก็ลองสลับเต้าให้ลูกดูดค่ะ

          3. สลับเต้านม ช่วงที่ลูกน้อยกำลังหิวควรให้ลูกกินนมข้างที่ใหญ่กว่าก่อนประมาณ 5 นาที ลูกก็จะได้รับน้ำนมเกินครึ่งท้องแล้ว หลังจากนั้นค่อยเปลี่ยนสลับมากินอีกข้าง จะช่วยลดอาการหงุดหงิดจากความหิวของลูกลงได้ และนมทั้ง 2 ข้างของคุณแม่ก็จะได้รับการกระตุ้นไปพร้อม ๆ กัน

          4. ทำให้ปริมาณน้ำนมเพียงพอหลังจากที่สลับให้ลูกกินนมข้างที่เล็กกว่า ด้วยเต้านมที่ไม่ค่อยได้รับการกระตุ้น ทำให้น้ำนมออกน้อย คุณแม่สามารถเพิ่มปริมาณน้ำนม โดยการนำขวดนมมาหยดน้ำนมลงบนเนื้อนมของคุณแม่ใกล้ ๆ ริมฝีปากลูก น้ำนมเหล่านี้จะช่วยชวนเชิญให้ลูกกินนมข้างนี้อย่างต่อเนื่องไปได้ แต่ถ้าวิธีนี้ไม่ได้ผล ก็อาจหาสายยางเล็ก (สาย NG) แปะไปที่หัวนม ส่วนปลายอีกข้างหนึ่งให้หย่อนลงขวดนม และให้ลูกดูดนมไปพร้อมกับการดูดนมจากสายยาง เพื่อให้ปริมาณน้ำนมเพียงพอ

 ดูดนมข้างเดียวได้น้ำนมเพียงพอหรือไม่ ?

          ได้น้ำนมเพียงพอค่ะ เพราะธรรมชาติออกแบบมาให้คุณแม่มีลูกแฝด มีเต้านม 2 เต้า สำหรับลูก 2 คน แต่ถ้ามีลูกคนเดียว แล้วให้กินเต้าเดียวหน้าอกของคุณแม่จะไม่เท่ากันค่ะ

 ถ้าปล่อยให้ลูกดูดนมข้างเดียว

          ถ้าลูกน้อยของคุณแม่ยังดูดนมข้างเดียวนานกว่า 6 เดือนขึ้นไป หน้าอกของคุณแม่จะไม่เท่ากันอย่างชัดเจน ข้างหนึ่งเล็ก อีกข้างหนึ่งใหญ่ อาจนำความกังวลใจและไม่มั่นใจมาสู่คุณแม่ได้ หากยังอยู่ในช่วง 3 เดือนแรกที่ลูกกินนม การแก้ไขปัญหาติดดูดข้างเดียวจะทำได้ง่ายกว่าปล่อยให้ผ่านไปจนลูกอายุ 6 เดือนขึ้นไป เพราะจะเริ่มกินอาหารเสริมแล้ว จำนวนมื้อนมก็จะลดลง การกระตุ้นให้ลูกมาดูดนมข้างเล็ก ก็จะทำได้ยากกว่าค่ะ

          รีบแก้อาการดูดนมข้างเดียวด้วยวิธีดังกล่าว ก่อนที่เต้านมคุณแม่จะไม่เท่ากัน เพื่อความสบายใจของคุณแม่ และความอิ่มท้องของลูกน้อยค่ะ






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 31 ฉบับที่ 375 เมษายน 2557


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อย่าปล่อยให้ลูกเลือกข้าง เมื่อดูดนมแม่ อัปเดตล่าสุด 13 กรกฎาคม 2558 เวลา 14:54:51 27,308 อ่าน
TOP
x close