ลูกน้อยแหวะนม เพราะกรดไหลย้อน หรือเปล่า ?

 แหวะนมเพราะกรดไหลย้อน


ลูกน้อยแหวะนม เพราะกรดไหลย้อน หรือเปล่า ?
(Mother&Care)
เรื่อง : ออมจัง

          เวลาที่ลูก "แหวะนม" หรือขย้อนนม เรามักจะคิดว่าลูกดูดนมมากไป อิ่มเกินไป จนลูกแหวะออกมา ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ถูกต้อง แต่ก็ยังมีโรคอย่างอื่นอีกที่ทำให้ลูกมีอาการแหวะนม นั่นก็คือ โรคกรดไหลย้อน ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้การสังเกตว่าการที่ลูกแหวะนมออกมานั้น เกิดจากการดูดนมมากเกินไป หรือเกิดอาการผิดปกติของร่างกาย ฉบับนี้ได้รับเกียรติจาก พญ.ธิดาวรรณ วีระไพบูลย์ กุมารแพทย์สาขาทารกแรกเกิด โรงพยาบาลบีเอ็นเอช จะมาช่วยไขข้อข้องใจ เกี่ยวกับโรคกรดไหลย้อนในเด็กให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจมากขึ้นค่ะ

รู้จักอาการ

แหวะนมอย่างเดียว

          เด็กที่มีอาการแหวะนมหรืออาหารหลังจากอิ่มแล้วพบได้ทั่วไปเป็นปกติในเด็กทารก สาเหตุที่เกิดขึ้นก็เพราะ หูรูดของกระเพาะอาหารของเด็กช่วง 3 เดือนแรก ยังไม่แข็งแรง เมื่อกินอาหารเร็วเกินไป กินเยอะไป บวกกับท่าทางการอุ้มขณะและหลังให้นมหรือกินอาหาร อาจส่งผลให้ลูกแหวะออกมา เช่น คุณแม่ไม่ได้จับลูกเรอหลังกินนมเสร็จ หรือจัดท่าทางของลูกไม่ถูกวิธี เช่น มีการรัดผ้าแน่นไป ก็อาจเพิ่มแรงดันในกระเพาะทำให้ลูกแหวะอาหารออกมา พบได้ช่วง 3-4 เดือนแรก น้อง ๆ กลุ่มนี้ถือว่าแหวะนมตามปกติค่ะ

แหวะนม และมีอาการอื่นร่วมด้วย

          ในกลุ่มที่เป็นโรคกรดไหลย้อนจะมีอาการมากกว่าปกติสังเกตง่าย ๆ ได้ว่า ลูกมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยนอกจากแหวะนม เช่น

         ลูกไม่สบายตัว หงุดหงิดงอแง กระสับกระส่าย (แสดงท่าแอ่นหน้าอก บิดตัว เพราะรู้สึกปวด)

         อาเจียนมากผิดปกติ พุ่งออกมา

         การเจริญเติบโตผิดปกติ ขาดสารอาหาร น้ำหนักเพิ่มช้ากว่าปกติ เพราะกินแล้วย้อนออกตลอด

         มักมีอาการมากขึ้น หลังอายุ 6-7 เดือน

กลุ่มเสี่ยงต้องระวังว่าอาจจะเป็นโรค

          เด็กที่คลอดก่อนกำหนด, มีพัฒนาการช้า, เคยผ่าตัดช่องท้อง หรือมีความผิดปกติทางสมอง เด็กที่มีโรคปอดเรื้อรัง ก็มีความเสี่ยงมากกว่าเด็กปกติทั่วไป หรือกลุ่มเด็กที่มีภาวะอ้วน มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหากรดไหลย้อนได้ง่าย

ผลกระทบต่อสุขภาพ

          คุณแม่ต้องสังเกตว่าหากหลังอายุ 6 เดือนไปแล้ว อาการแหวะนมหรืออาหารค่อย ๆ หายไปเอง ลูกกินได้ดี และการเจริญเติบโตของลูกก็เป็นปกติ แสดงว่าลูกไม่ได้เป็นโรคกรดไหลย้อน แต่หากแหวะบ่อยและมีภาวะแทรกซ้อนกินได้น้อยลง ร้องกวนงอแงมากหลังกินนมจนผิดสังเกต ให้ตั้งข้อสงสัยว่าลูกอาจเป็นโรคกรดไหลย้อน ควรพาลูกมาพบคุณหมอ เพราะหากปล่อยผ่านจะยิ่งส่งผลต่อสุขภาพของลูก เช่น

         การเจริญเติบโตไม่เป็นไปตามเกณฑ์ เพราะไม่ได้รับสารอาหารในปริมาณที่เหมาะสม

         การแหวะบ่อย ๆ ก็อาจทำให้เบื่ออาหาร มีปัญหาเรื่องการนอน

         มีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น แหวะบ่อยจนสำลัก หรือมีอาการติดเชื้อในปอด เป็นต้น

         ในเด็กโตจะพบว่า ลูกปวดท้องเรื้อรัง, กลืนอาหารลำบาก หรือไอเรื้อรัง (ระคายเคืองลำคอ)

การดูแล

เด็กเล็ก

          หลังกินนมเสร็จ ควรอุ้มเรอ ไม่ควรกินแต่ละมื้อมากหรือเร็วเกินไป และเวลานอนให้ยกศีรษะสูง 30-45 องศา หรือหากลูกกินเสร็จใหม่ ๆ ไม่ควรรีบพาไปนอน

          ปัจจุบันมีการผลิตนมผสมสูตรพิเศษ ที่ช่วยลดปัญหากรดไหลย้อนดังกล่าว และยาที่ช่วยเพิ่มอาการการบีบตัวของลำไส้ หรือกลุ่มยาลดกรดในกระเพาะ ทั้งนี้ คุณแม่ควรปรึกษาและขอคำแนะนำจากคุณหมอก่อน หากกินยาแล้วไม่ดีขึ้น อาจต้องกลืนแป้ง หรือใส่สายวัดกรดในกระเพาะ เพื่อพิสูจน์หาสาเหตุ ส่วนคุณแม่ที่ให้นมแม่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมาให้นมผสมสูตรพิเศษ แต่อาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและท่าทางการให้นมที่ถูกวิธี และยังคงให้นมแม่ได้ตามปกติ

เด็กโต

          ลดอาหารจำพวกอาหารมัน รสจัด เพราะอาหารเหล่านี้ จะทำให้เกิดกรดในกระเพาะ เกิดกรดไหลย้อนขึ้นมาได้ง่าย

          การดูแลสุขภาพลูกในเบื้องต้นสิ่งที่สำคัญ คือ การสังเกตอาการลูกตามความเป็นจริงไม่เข้าข้างตัวเอง หรือปล่อยละเลยเกินไป และไม่วิตกกังวลเกินไปด้วย นั่นเองค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.10 No.112 เมษายน 2557


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลูกน้อยแหวะนม เพราะกรดไหลย้อน หรือเปล่า ? อัปเดตล่าสุด 17 กันยายน 2558 เวลา 12:03:30 17,100 อ่าน
TOP
x close