เตรียมดูแลตัวเองหลังคลอด (M&C แม่และเด็ก)
หลังคลอด นอกจากการได้มีความสุขกับการได้เห็นหน้า ได้สัมผัสทารกน้อยที่คุณพ่อคุณแม่เฝ้ารอมาตลอด 9 เดือน และการเรียนรู้ทำความเข้าใจกับชีวิตน้อย ๆ ที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษจากคุณแม่แล้ว ตัวคุณแม่เองก็ต้องดูแลตนเองด้วยนะคะ
เจ็บแผล-ปวดมดลูก
คุณแม่ส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าแผลผ่าตัดจะเจ็บน้อยกว่าและหายเร็วกว่าการคลอดตามธรรมชาติ แต่ความเป็นจริงคือ แผลผ่าตัดมักใช้ระยะเวลาการพักพื้นเพื่อคืนสู่สภาพเดิมนานกว่าค่ะ แต่ไม่ว่าจะคลอดด้วยวิธีไหน ก็ต้องดูแลรักษาความสะอาดให้ดี ซึ่งเรื่องนี้คุณหมอ-พยาบาล ผู้ทำคลอดก็จะได้คำแนะนำวิธีการดูแลความสะอาดแผล รวมทั้งการรับประทานยาให้ คุณแม่ต้องจดจำและทำตาม อย่างครบถ้วนนะคะ
นอกจากเจ็บปวดที่แผลแล้วคุณแม่จะมีอาการปวดมดลูกร่วมด้วย เพราะมดลูกที่เคยขยายเพื่อโอบอุ้มตัวลูกไว้นั้น จะบีบตัวเพื่อลดขนาดลงสู่สภาพเดิม ทำให้เกิดอาการปวดคล้ายปวดประจำเดือน คุณแม่มักจะมีอาการเช่นนี้อยู่ 2-3 วัน แต่บางครั้งในเวลาที่ให้ลูกดูดนม ก็อาจมีอาการปวดมดลูกขึ้นมาได้ ซึ่งอาการนี้มักไม่เป็นอันตราย
สังเกตน้ำคาวปลา
หลังคลอด 2 วันแรก จะมีน้ำคาวปลามีสีแดงสดไหลออกมามากกว่าประจำเดือน ประมาณ 1 เท่า พอวันที่ 3-4 น้ำคาวปลาจะลดลงเรื่อย ๆ ประมาณ 14 วันก็จะหยุดค่ะ
แต่สำหรับคุณแม่บางท่าน อาจจะนานมากกว่านั้น แต่ไม่ควรจะเกิน 21 วันนะคะ สำหรับคุณแม่ที่ให้นมลูกร่างกายจะหลั่งสารออกซิโทซินออกมา ซึ่งสารนี้จะมีส่วนช่วยลดปริมาณของน้ำคาวปลาและช่วยให้มดลูกหดตัวเร็วขึ้นด้วยค่ะ
ให้นมลูกแบบไหนไม่เจ็บ
เป็นอาการที่พบได้บ่อยสำหรับคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คุณแม่มักมีอาการเจ็บหัวนมในช่วงที่ให้นมลูก บางคนอาจเกิดแผลที่หัวนมได้ ซึ่งวิธีแก้ไขก็คือ การปรับท่าดูดนมของลูกให้เหมาะสมค่ะ การดูดนมที่ถูกต้อง ลูกต้องดูดนมจนถึงลานหัวนมทั้งด้านบนและด้านล่าง และควรให้ลูกดูดนมสลับกันทั้งสองข้าง โดยเริ่มจากข้างละ 5 นาที ก่อนแล้วค่อย ๆ เพิ่มเวลาต่อการดูดแต่ละข้างให้นานขึ้น การให้นมในท่าที่ถูกต้องจะช่วยลดอาการเจ็บหัวนมได้ แต่ถ้าเกิดหัวนมแตกก็ควรทาครีมสำหรับลดอาการหัวนมแตก ซึ่งก็มีหลากหลายยี่ห้อ แต่ว่าจะ ยี่ห้อไหนก็ต้องไม่ลืมเช็คทำความสะอาดหัวนม ก่อนจะให้ลูกดูดนมมื้อต่อไปนะคะ
เมื่อไหร่น้ำหนักจะลดลง
ส่วนใหญ่แล้วหลังคลอด น้ำหนักของคุณแม่จะลดลงทันที 5-6 กิโลกรัม แต่ก็ยังมีน้ำหนักส่วนเกินให้เป็นกังวลอยู่มากทีเดียว คุณแม่ควรเลือกควบคุมน้ำหนักด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อย่าอดอาหารค่ะ เพราะอาหารที่คุณแม่รับประทานยังคงมีส่วนสำคัญสำหรับทั้งคุณแม่และลูกน้อย หากแม่ได้รับอาหารที่อุดมด้วยคุณค่าแล้ว ลูกน้อยย่อมได้น้ำนมที่มีคุณค่าสูงด้วย
การควบคุมน้ำหนักด้วยการออกกำลังกาย ควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยคุณแม่อาจจะเริ่มออกกำลังกายแบบเบา ๆ เช่น การเดิน 10-15 นาทีต่อวัน โดยค่อย ๆ เพิ่มความเร็วของการเดินตามความสามารถของร่างกาย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 37 ฉบับที่ 507 พฤษภาคม 2557