คุมกำเนิดหลังคลอดแบบไหนถึงจะดี (Mother&Care)
การคุมกำเนิดหลังคลอดเป็นเรื่องจำเป็น เพราะการที่ลูกกินนมแม่ก็ไม่อาจใช้เป็นการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพได้คุณแม่หลังคลอดทุกคนจะได้รับทราบข้อมูลเรื่องการคุมกำเนิดหลังคลอดในวันนัดตรวจ 1 เดือนหลังคลอด ซึ่งมีวิธีการคุมกำเนิดหลายวิธี โดยมีข้อดีและข้อเสียต่างกัน จึงต้องเลือกวิธีที่เหมาะสมกับคุณแม่แต่ละคน
1. ยาเม็ดคุมกำเนิด
การกินยาเม็ดคุมกำเนิด เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ใช้กันมาก มีความปลอดภัยสูง มีภาวะแทรกซ้อนต่ำ หาซื้อง่าย มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดดี หากกินอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ มี 2 แบบ คือ
แบบที่ 1 : โปรเจสเตอโรนอย่างเดียว (ที่ใช้ในบ้านเรา ได้แก่ Exluton, Cerazette)
เหมาะสำหรับการใช้ใน 6 เดือนแรก เพราะไม่มีฤทธิ์กดการหลั่งน้ำนม และไม่ทำให้คุณภาพของน้ำนมเปลี่ยนแปลง แต่ทั้งนี้คุณแม่จะต้องให้นมลูกเต็มที่ด้วย
ข้อพึงระวัง
ยาตัวนี้ออกฤทธิ์ทำให้มูกที่ปากมดลูกข้นเหนียว ทำให้เชื้ออสุจิว่ายเข้าไปในโพรงมดลูกไม่ได้ ไม่กดการตกไข่ จึงต้องกินยาทุกวันและตรงเวลา หากผิดเวลาเกิน 3 ชั่วโมง จะต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยจึงได้ผล
แบบที่ 2 : ฮอร์โมนรวม (เอสโตรเจน+โปรเจสเตอโรน)
ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ควรเริ่มกินเมื่อน้ำนมแม่สร้างเต็มที่แล้ว คือ หลังคลอด 6 สัปดาห์ แต่บางรายพบว่า การสร้างน้ำนมลดลง หากมีอาการเช่นนี้ควรหยุดใช้ยาทันที และปรึกษาคุณหมอเพื่อเปลี่ยนวิธีคุมกำเนิด จึงแนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดนี้หลังคลอด 6 เดือนไปแล้ว
ข้อพึงระวัง
อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เลือดออกกะปริดกะปรอย คุณแม่ที่มีโรคประจำตัว เช่น ไมเกรน โรคตับ เนื้องอกของเต้านม เนื้องอกของระบบสืบพันธุ์ ก็ไม่ควรกินยาคุม เพราะฮอร์โมนจากยาอาจทำให้เนื้องอกโตขึ้นได้
คุณแม่ที่กินยาคุมอาจมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ ซึ่งมักเกิดจากลืมกินยาบ้าง กิน ๆ หยุด ๆ บ้าง กินไม่ตรงเวลาบ้าง
2. ยาฉีดคุมกำเนิด
ยาฉีดคุมกำเนิดมีฤทธิ์กดการตกไข่ โอกาสตั้งครรภ์มีน้อยมากถ้าฉีดตรงเวลา ถือว่ามีประสิทธิภาพดี เหมาะสำหรับคุณแม่ที่ให้ลูกกินนมแม่ เนื่องจากไม่มีผลต่อคุณภาพและปริมาณของน้ำนม ยาฉีดคุมกำเนิดจะเริ่มฉีดใน 4 สัปดาห์หลังคลอด ในการฉีดแต่ละครั้งสามารถคุมกำเนิดได้นาน 12 สัปดาห์ เมื่อถึงเวลานัดจึงควรมาฉีดให้ตรงเวลา
ข้อพึงระวัง
อาจมีปัญหาประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ มีประมาณ 50% ที่ไม่มีประจำเดือนมาเลย อีก 25% มีประจำเดือนมากะปริดกะปรอย บางทีอาจมีเลือดออกทั้งเดือน ถ้าเลือดออกไม่มากนัก พอยอมรับได้ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเลือดออกมาก ออกนานจนมีผลต่อสุขภาพ ก็ควรเปลี่ยนไปคุมวิธีอื่นจะดีกว่า คนที่ฉีดยาคุมแล้วไม่มีประจำเดือนมา ต่อมาหยุดฉีดยาประจำเดือนกลับมาเป็นปกติ สามารถตั้งครรภ์ได้ ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 4-6 เดือนหลังหยุดฉีดไปแล้ว
3. ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง
หลอดยาชนิดฝังจะมีขนาดเล็กประมาณเท่าก้านไม้ขีด ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ตัวยาที่บรรจุข้างในเป็นยาชนิดเดียวกับยาคุมกำเนิดแบบฉีด โดยจะฝังไว้ใต้ท้องแขนท่อนบน ตัวยาจะค่อย ๆ ปล่อยออกมา มีฤทธิ์กดการตกไข่ มีผลคุมกำเนิดได้นาน 3-5 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดและจำนวน พอครบกำหนดแล้วก็ต้องผ่าเอาออกหรือเปลี่ยนใหม่ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมเนื่องจากมีการพัฒนายาจากอดีตจำนวนแท่งยามี 6 แท่ง สามารถคุมกำเนิดได้ 5 ปี แต่ปัจจุบันเพียง 1 แท่งสามารถคุมได้ถึง 3 ปี
ข้อพึงระวัง
เนื่องจากเป็นยาคุมแบบเดียวกับยาฉีด คือทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือมาแบบกะปริดกะปรอยได้ และเนื่องจากเป็นการคุมที่มีระยะเวลายาวกว่าการฉีด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนวิธี โดยการผ่าออกหากคุณแม่มีเลือดออกมาก
4. ห่วงคุมกำเนิด
ห่วงคุมกำเนิดเป็นพลาสติกซิลิโคน แกนกลางจะมีขดลวดทองแดงพันอยู่ โดยจะสอดเข้าไปไว้ในโพรงมดลูกผ่านทางช่องคลอด เพื่อป้องกันการฝังตัวของตัวอ่อน การใส่ห่วงแต่ละครั้งจะคุมได้นานประมาณ 5 ปี โอกาสตั้งครรภ์ก็พอ ๆ กับยาคุมกำเนิดแบบฉีด สิ่งสำคัญคือ การไปพบคุณหมอทุกปีเพื่อตรวจเช็กห่วงพร้อมกับการตรวจประจำปี
ข้อพึงระวัง
อาจมีประจำเดือนมากกว่าปกติ มีเลือดออกกะปริดกะปรอยในระหว่างรอบได้ หรือมีอาการปวดประจำเดือนมากกว่าเดิมได้ อาการเหล่านี้มักเป็นในช่วง 3 เดือนแรก หลังจากนั้นอาการมักจะดีขึ้นแล้วหายไปเอง คุณแม่ที่เลือกวิธีนี้ต้องระวังการเลื่อนหลุดของห่วงอนามัยด้วย โดยให้คอยสังเกตช่วงมีประจำเดือน
5. การทำหมันถาวร
หากคิดว่ามีลูกพอแล้วแน่นอน อาจตัดสินใจทำหมันถาวร การทำหมันจะทำให้เป็นหมันอย่างถาวร หากเกิดเปลี่ยนใจก็ต้องผ่าตัดแก้หมัน โดยปกติแล้วสามารถทำหมันได้ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ทางการแพทย์จะยืนยันเสมอว่า การทำหมันไม่ได้มีผลต่อสุขภาพ และไม่มีผลต่อความรู้สึกทางเพศแต่อย่างใด
ไม่ว่าคุณแม่จะเลือกการคุมกำเนิดวิธีไหนก็ตาม คุณหมอจะเป็นผู้แนะนำอีกครั้งและให้คุณแม่ตัดสินใจ โดยวิธีการนั้น ๆ จะต้องไม่ส่งผลกระทบกับภาวะร่างกาย ภาวะแทรกซ้อน หรือโรคประจำตัว เมื่อไม่พบภาวะแทรกซ้อนในวิธีที่เลือก แนะนำให้คุมกำเนิดโดยวิธีนั้น ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ควรเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เพราะอาจไม่เหมาะกับคุณแม่
คลิกอ่านความคิดเห็นของ เพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.10 No.113 พฤษภาคม 2557