เมื่อแม่ท้องเจอไส้ติ่งแผลงฤทธิ์ (รักลูก)
เรื่อง : ศรัญญา โรจน์พิทักษ์ชีพ เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ นพ.มงคลชน ฏิระวณิชย์กุล สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลเสรีรักษ์
หากคุณแม่ตั้งครรภ์เกิดปวดท้องขึ้น โดยไม่ใช่อาการเจ็บคลอด หรือยังไม่ถึงเวลาคลอด แถมยังรู้สึกปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย ระวังนะคะ อาจเป็นเพราะไส้ติ่งกำลังอักเสบอยู่ก็ได้
ไส้ติ่งอักเสบเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุค่ะ เช่น มีพยาธิอุดที่รูของไส้ติ่ง มีเศษอาหารตกลงไปในไส้ติ่ง ทำให้กระบวนการไหลเวียนของสารบางอย่างในลำไส้บริเวณไส้ติ่งเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดอักเสบ ซึ่งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและกับทุกคน
ปวดท้องแบบไส้ติ่งอักเสบ
ไส้ติ่งเป็นส่วนหนึ่งของลำไส้ใหญ่ส่วนต้น ซ่อนอยู่บริเวณหน้าท้องด้านล่างขวา ทำให้ปวดท้องด้านขวา จึงสามารถสังเกตได้ชัด โดยจะปวดท้องน้อยด้านขวา นานมากกว่า 3 ชั่วโมงขึ้นไป และปวดท้องมากขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ
ท้อง 2 ไตรมาสแรก ไส้ติ่งอักเสบชอบมาเยือน
ไส้ติ่งอักเสบในแม่ท้องส่วนใหญ่ จะพบในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาส 1-2 เนื่องจากคุณแม่จะมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดท้องในอายุครรภ์น้อย ๆ ตั้งแต่แรก ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัย และตรวจเจอไส้ติ่งอักเสบได้เร็ว รวมทั้งสามารถผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบออกได้ทันที
ส่วนคุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 3 ที่เกิดไส้ติ่งอักเสบ ขั้นตอนการตรวจหาจะเป็นไปได้ยาก เพราะท้องมีขนาดใหญ่ขึ้น จนบดบังไส้ติ่ง ทำให้ไส้ติ่งหลบไปอยู่ด้านหลังมดลูก ทำให้คุณแม่บางท่านอาจไม่รู้ว่าตัวเองเป็นไส้ติ่งอักเสบ แล้วปล่อยอาการปวดท้องไว้จนไส้ติ่งแตก ซึ่งเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
กำราบด้วยการผ่าตัด
คุณแม่อายุครรภ์ไตรมาสแรก แพทย์อาจผ่าตัดบล็อกหลัง แต่ส่วนใหญ่จะใช้วิธีดมยาสลบโดยเฉพาะช่วงไตรมาส 2-3 เนื่องจากคุณแม่จะไม่มีอาการเกร็งตัว กล้ามเนื้อหน้าท้องและในช่องท้องไม่มีการหดตัว ที่สำคัญเพื่อลดอัตราเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนจากการบล็อกหลัง ซึ่งอาจทำให้คุณแม่เสียชีวิตได้
ในขณะที่แพทย์ผ่าตัดไส้ติ่ง จะต้องขยับมดลูกไปทางซ้ายค่ะ เพื่อให้เห็นไส้ติ่งได้ชัดเจน ส่งผลให้มดลูกถูกกระตุ้น และบีบรัดตัว จนอาจคลอดก่อนกำหนดได้ แต่แพทย์ก็จะมีวิธีป้องกันในเรื่องนี้
ส่วนการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบในไตรมาส 1-2 ส่วนมากยังไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ ยกเว้นกรณีที่ทารกมีความผิดปกติตั้งแต่อยู่ในครรภ์
การผ่าตัดในไตรมาส 3 ขึ้นไป ประมาณสัปดาห์ที่ 37-38 หลังผ่าตัดไส้ติ่งแล้ว แพทย์จะพิจารณาผ่าคลอดให้คุณแม่ด้วย แต่ถ้าอายุครรภ์ของคุณแม่ยังไม่พร้อมคลอด แพทย์จะให้ทารกเติบโตอยู่ในครรภ์ของคุณแม่ต่อจนครบกำหนด เพราะไม่มีสารอาหารอะไรที่ดีที่สุดสำหรับทารกในครรภ์เท่ากับอาหารที่ส่งจากคุณแม่ผ่านสายสะดือลูกอีกแล้ว
ภาวะเสี่ยงหลังผ่าตัด
หลังผ่าตัดเรียบร้อย คุณแม่จะมีอาการเจ็บบริเวณแผลผ่าตัด หรือมีอาการเจ็บท้อง เพราะมดลูกบีบรัดตัว ซึ่งเสี่ยงต่อการแท้งในอายุครรภ์ไตรมาสแรก และเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดในอายุครรภ์ไตรมาสที่ 3 ได้ คุณแม่จึงต้องคอยสังเกตอาการเจ็บท้องเพราะมดลูกบีบรัดตัวนะคะ โดยอาการเจ็บแบบบีบ ๆ มาเป็นระยะ เดี๋ยวหาย เดี๋ยวเจ็บขึ้นอีก หรือช่องคลอดมีเลือดออก หรือมีมูกเลือดออก ถ้าเป็นเช่นนี้ต้องรีบกลับไปพบแพทย์ค่ะ
ดูแลหลังตัดไส้ติ่ง
คุณแม่ต้องเติมพลังด้วยอาหารที่มีประโยชน์เน้นอาหารอ่อน ๆ ในช่วง 3 วันแรกหลังผ่าตัดเพื่อป้องกันไม่ให้ลำไส้ทำงานหนัก หลังจากนั้นคุณแม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพราะอาหารรสจัดจะทำให้ลำไส้ทำงานมากขึ้น
ป้องกันไส้ติ่งอักเสบตอนท้อง
สิ่งสำคัญที่สุดของการป้องกัน คือรู้จักสังเกตอาการเจ็บป่วยของตัวเองอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรปล่อยผ่าน เพราะเมื่อไรก็ตามที่คุณแม่ปวดท้อง และยังไม่เคยผ่าตัดไส้ติ่ง สามารถตั้งข้อสังเกตได้เลยว่าอาจเป็นไส้ติ่งอักเสบค่ะ
ไส้ติ่งแตก เสี่ยงแท้ง
หากไส้ติ่งแตก จะทำให้หนองจากการอักเสบของไส้ติ่ง กระจายไปทั่วช่องท้องของคุณแม่ ส่งผลให้มดลูกกระจายจนเกิดการบีบรัดตัว ประกอบกับการผ่าตัดของแพทย์ที่ต้องขยับมดลูกเพื่อผ่าตัดร่วมด้วย โอกาสที่จะแท้ง หรือคลอดก่อนกำหนดจึงสูงขึ้น และคุณแม่อาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้อีกด้วย
โรคไส้ติ่งอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนนะคะ แต่อัตราการเกิดไส้ติ่งอักเสบในแม่ท้องแม้ยังน้อยเพียง 1:2,000 คน แม้โอกาสเกิดน้อยแต่ก็ควรรู้จักสังเกตอาการที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้แก้ไขได้ทันการณ์และถูกต้องค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 31 ฉบับที่ 376 พฤษภาคม 2557