รกเสื่อม เมื่อตั้งครรภ์

รกเสื่อม ตั้งครรภ์

อันตรายจาก...รกเสื่อม (modernmom)
เรื่อง : รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในตั้งครรภ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

           เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ นอกจากจะมีลูกน้อยเกิดขึ้นมาแล้ว ยังมีอวัยวะอีกอย่างเกิดขึ้นมาด้วย นั่นคือ รก ซึ่งคุณแม่ส่วนมากไม่ค่อยทราบหรือถึงทราบก็ไม่ค่อยสนใจ รกที่เกิดขึ้นมาด้วยในขณะที่ตั้งครรภ์ เป็นอวัยวะเฉพาะกิจที่เกิดขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ที่สำคัญ นั่นก็คือ การนำอาหารจากแม่มาเลี้ยงลูกในครรภ์ รวมทั้งนำของเสียภายในตัวลูกส่งคืนกลับไปยังตัวคุณแม่เพื่อให้คุณแม่นำไปทิ้งให้ เมื่อลูกน้อยของคุณแม่คลอดออกมาแล้ว รกก็จะหมดหน้าที่และจะคลอดตามออกมาด้วยและถูกทิ้งไป และถ้าหากรกมีปัญหาทำงานได้ไม่เต็มที่ หรือที่เรียกกันว่า "รกเสื่อม" ลูกน้อยของคุณแม่ก็จะเสี่ยงอันตรายทันทีจากการรับสารอาหารไม่เพียงพอ

           ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับอาการ "รกเสื่อม" ผมอยากจะมาเล่าเกี่ยวกับเรื่องของ "รก" อวัยวะที่ถูกลืมก่อนครับ

รกเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?

           การจะกล่าวถึงกำเนิดของรก จำเป็นจะต้องย้อนไปเล่าเรื่องตั้งแต่เมื่อเชื้ออสุจิมีการผสมกับไข่ เกิดการปฏิสนธิขึ้น ภายหลังการปฏิสนธิ ไข่ที่ถูกผสมจะมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว จาก 1 เซลล์ เป็น 2 เซลล์ เป็น 4, 8, 16…เซลล์ จนประมาณวันที่ 4-5 ภายหลังปฏิสนธิ เซลล์จะมีการแบ่งตัวได้ 58 เซลล์ ซึ่งเซลล์ทั้ง 58 เซลล์นี้ 5 เซลล์จะเจริญไปเป็นตัวลูกน้อยของคุณแม่ ในขณะที่ 53 เซลล์ที่เหลือจะเจริญไปเป็นรก เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า เซลล์ที่แบ่งตัวแยกไปเป็นทารก กับเซลล์ที่แบ่งแยกไปเป็นรก ก็คือ เซลล์ที่มาจากแหล่งเดียวกันนั่นเอง เพียงแต่เซลล์ส่วนใหญ่พร้อมที่จะทำหน้าที่เลี้ยงเซลล์ส่วนน้อยที่กำลังจะเจริญเติบโตขึ้นไปในอนาคต

           ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์เซลล์ที่กลายเป็นรกจะมีการแบ่งตัวรวดเร็วกว่าเซลล์ที่จะเป็นทารกอย่างมาก เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมที่จะไปเลี้ยงตัวทารกที่กำลังจะโต หลังจากนั้นเซลล์ที่จะกลายเป็นทารกก็จะมีการแบ่งตัวเร็วกว่าและมีขนาดใหญ่กว่ารก เมื่อรกโตเต็มที่จะมีลักษณะคล้ายจานข้าวหรือใบบัวที่แปะติดกับผนังของโพรงมดลูก ในลักษณะที่มีส่วนของรกที่คล้ายเข็มแทรกเข้าไปในผนังมดลูก ไม่ใช่ลักษณะแปะติดกันเฉย ๆ เพื่อเป็นการช่วยให้รกเกาะติดกับผนังโพรงมดลูกได้อย่างแน่นหนาไม่หลุดง่าย ที่บริเวณตรงกลางของรกจะมีสายรากรกโผล่ออกมาไปเกาะติดกับตัวทารกตรงบริเวณสะดือของทารก จึงทำให้บางคนเรียกชื่อสายนี้ว่า "สายรก" ในขณะที่บางคนเรียกชื่อว่า "สายสะดือ" แต่ไม่ว่าจะเรียกว่าสายอะไรก็ตาม เจ้าสายที่ว่านี้จะมีหลอดเลือดบรรจุอยู่ภายในเพื่อทำหน้าที่เป็นท่อลำเลียงสารอาหารจากแม่ไปเลี้ยงทารกและรับของเสียจากทารกผ่านกลับไปยังตัวแม่โดยผ่านรกอีกทีหนึ่ง

           เห็นการเกิด-ดับของรกแล้ว คิดว่าการเกิดมาของรกก็ไม่ต่างจากการเกิดมาเป็นพ่อแม่คนหรอก กล่าวคือ ต้องเตรียมทุกอย่างเพื่อลูก พอหมดหน้าที่ก็แก่พอดีแล้วก็ตายไป

หน้าที่ของรก

           อย่างที่ผมเรียนให้ทราบคร่าว ๆ แล้วว่า รกทำหน้าที่ในการนำสารอาหารไปเลี้ยงลูก ในลักษณะอาหารสำเร็จรูปที่ปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้วโดยผ่านมาทางหลอดเลือดในสายสะดือ ทารกสามารถนำไปใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องเคี้ยว ไม่ต้องย่อย เวลาใช้อาหารไปสร้างการเจริญเติบโตให้ตัวเองเสร็จแล้ว ของเสียที่เกิดขึ้นก็จะถูกขับทิ้งผ่านหลอดเลือดในสายสะดือเช่นกัน แต่คนละเส้น เพื่อไปยังรกซึ่งจะส่งต่อไปทิ้งในตัวแม่ต่อไปได้เลย ไม่ต้องผ่านการถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะเหมือนผู้ใหญ่

           อย่างไรก็ตาม นอกจากหน้าที่สำคัญที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว รกยังทำหน้าที่อีกหลายประการ แต่โดยรวมแล้วก็เพื่อพัฒนาการที่ดีที่สุดของลูกน้อยกับคุณแม่นั่นเอง ยกตัวอย่างหน้าที่อื่นของรกเพิ่มเติมดังนี้ครับ

            รกทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนหลายชนิด เช่น ฮอร์โมน hCG (Human Chorionic Gonadotrophin) เพื่อทำหน้าที่ให้การตั้งครรภ์ดำเนินไปอย่างราบรื่น ฮอร์โมน hPL (Human Placental Lactogen) เพื่อกระตุ้นเต้านมให้เตรียมพร้อมสำหรับการสร้างน้ำนมมาเลี้ยงลูกภายหลังคลอด

            รกทำหน้าที่ช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แก่ทารก เพื่อทำให้ลูกน้อยของคุณคลอดออกมาแล้วไม่ติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย รวมทั้งลดโอกาสที่จะเกิดโรคภูมิแพ้ในอนาคต

           เห็นไหมว่ารกทำหน้าที่แบบแม่คนเลย ทั้งนำอาหารมาเลี้ยงทารกตอนนี้ และก่อนที่ตัวเองจะตายไป ก็ยังเตรียมพร้อมสำหรับการทำให้ลูกมีนมกินในอนาคตอีกด้วย

ช่วงชีวิตของรก

           ชีวิตของคนเราก็มี เกิด แก่ เจ็บ ตาย ชีวิตของรกก็มีเช่นเดียวกัน เพียงแต่ช่วงชีวิตของรกค่อนข้างสั้นมาก คือเกิดมาไม่นาน พอทารกคลอด รกหมดหน้าที่ในการดูแล ก็จะถูกขับทิ้งออกมา สิริรวมอายุประมาณ 10 เดือนเท่านั้นก็ตายแล้ว

           ภายหลังการเกิดขึ้นมา รกจะมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกับทารก ในระยะแรกประมาณอายุครรภ์ไม่เกิน 18 สัปดาห์ รกจะมีลักษณะเป็นแผ่นเรียบและเนื้อของรก จะมีความนวลเป็นเนื้อเดียวกัน หลังจากนั้นเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น รกจะมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะแก่ตัวมากขึ้น บางส่วนของรก จะมีแคลเซียมมาจับ เหมือนกับรกที่ใช้งานมานานเริ่มมีสนิทเกาะ แต่ถ้าพูดถึงความสามารถในการทำงานแล้ว รกที่มีแคลเซียมเกาะ ก็ยังคงทำงานได้ตามปกติ จนเมื่อใกล้คลอดรกจะมีแคลเซียมมาเกาะมากขึ้น ถ้าตรวจรกด้วยเครื่องอัลตราซาวน์จะเห็นเป็นรอยสีขาว ๆ ซึ่งเป็นสีของแคลเซียมเต็มไปหมด บางคนเรียกลักษณะของรกแบบนี้ว่า รกมีการแก่ตัว หรือภาษาอังกฤษว่า Placental Aging ในคุณแม่บางคนที่รกมีแคลเซียมมาเกาะจำนวนมากอาจทำให้ความสามารถในการทำงานของรกลดลงไป ซึ่งมีผู้เรียกรกของคุณแม่กลุ่มนี้ว่า "รกเสื่อมสภาพ" หรือรกที่มีประสิทธิภาพในการทำงานที่ไม่เพียงพอ ในทางการแพทย์เราเรียกรกที่มีสภาพเช่นนี้ว่า Placental Insufficiency

รกเสื่อม เรื่องใหญ่

           รกเสื่อมคืออะไร ? : คำว่า รกเสื่อม เป็นคำพูดภาษาชาวบ้าน เพื่อให้เข้าใจกันง่ายขึ้น แต่บ่อยครั้งก็สร้างความตกอกตกใจให้แก่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ได้เหมือนกัน ในทางการแพทย์ไม่มีคำนี้ แต่มีคำที่ใช้กันมากกว่าก็คือ Placental Insufficiency ซึ่งถ้าจะแปลเป็นภาษาไทยก็น่าจะประมาณว่า รกทำงานได้ในระดับที่ไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงทารกในครรภ์ให้มีสุขภาพดี

           สาเหตุที่ทำให้รกเสื่อม : การเสื่อมของรกมีสาเหตุที่สำคัญมาจาก 2 ประการ คือ

           1. การเสื่อมสภาพตามอายุขัย ซึ่งมักจะพบได้เมื่ออายุครรภ์ค่อนข้างมาก ใกล้คลอด หรือเลยกำหนดคลอดมาแล้วแต่คุณแม่ยังไม่ยอมเจ็บครรภ์เสียทีหรือที่เรียกว่า การตั้งครรภ์เกินกำหนด ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้ทารกในครรภ์เสี่ยงต่อการขาดอาหารทั้งนั้น

           2. การเสื่อมสภาพจากปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ การเสื่อมของรกชนิดนี้อาจจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่ากรณีแรก อายุครรภ์ที่เกิดก็มักจะน้อยกว่า สำหรับสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บที่ทำให้รกเสื่อมมีมากมายหลายประการที่พบบ่อย ๆ เช่น

            คุณแม่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

            คุณแม่มีความดันโลหิตสูงก่อนตั้งครรภ์ หรือมาเกิดขณะตั้งครรภ์ที่เรียกว่า "ครรภ์เป็นพิษ"

            คุณแม่ที่มีโรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด

            คุณแม่ที่ติดบุหรี่หรือยาเสพติด

            คุณแม่ที่รกมีพัฒนาการที่ผิดปกติทำให้มีรูปร่างและการทำงานผิดปกติ

           อาการของรกเสื่อม : คุณแม่ที่มีการตั้งครรภ์โดยรกเสื่อม อาจจะไม่มีอาการอะไรให้เห็นเลย ในรายที่รกเสื่อมมากจนทารกในครรภ์มีการขาดสารอาหารไปเลี้ยงร่างกายอย่างชัดเจน อาจจะตรวจพบว่าขนาดของมดลูกโตน้อยกว่าอายุครรภ์ได้ คุณแม่อาจสังเกตว่าลูกไม่ค่อยดิ้นหรือดิ้นน้อยลงก็มี

           มีวิธีตรวจว่ารกเสื่อมหรือไม่ ? : การตรวจว่ารกเสื่อมหรือไม่สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การตรวจหาระดับฮอร์โมนที่สร้างโดยรก การตรวจการไหลเวียนของเลือดในรก แต่วิธีการตรวจยังค่อนข้างยุ่งยาก ใช้เวลามาก หรือต้องตรวจโดยผู้มีความชำนาญมาก ผลการตรวจก็แปลไม่ค่อยได้มาก เพราะถึงจะทราบว่ารกทำงานดีหรือไม่ค่อยดีแล้ว ก็ไม่ค่อยช่วยในการตัดสินใจว่าจะดูแลทารกในครรภ์เท่าไร แต่อย่างที่เรียนให้ทราบแต่ต้นแล้วว่าหน้าที่หลักของรกคือการนำสารอาหารมาเลี้ยงทารกในครรภ์ ดังนั้นแทนที่จะตรวจดูการทำงานของรก เราจึงมักจะตรวจผลจากการทำงานของรก คือตรวจดูการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์แทน เพราะถ้าผลการตรวจบ่งบอกว่าทารกเจริญเติบโตไม่ดีพอ ก็จะสามารถตัดสินใจให้การดูแลรักษาทารกในครรภ์ได้ทันที

           การรักษาภาวะรกเสื่อม : การรักษาที่ดีที่สุด คือ การรักษาที่ต้นเหตุ เช่น ควบคุมระดับน้ำตาลในคุณแม่ที่เป็นเบาหวาน ควบคุมความดันโลหิตในรายที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง การงดหรือละเว้นปัจจัยที่ทำให้รกเสื่อม เช่น งดบุหรี่ และสิ่งเสพติด เป็นต้น หลักจากนั้นให้พิจารณาสุขภาพของทารกในครรภ์เป็นหลักว่า ควรจะยุติการตั้งครรภ์แล้วนำออกมาเลี้ยงข้างนอกดีหรือว่าจะปล่อยทารกอยู่ในครรภ์ของคุณแม่ต่อไปอีก สักระยะหนึ่งจึงค่อยให้คลอด

           พยากรณ์โรคจากรกเสื่อม : ทารกในครรภ์ที่มีภาวะรกเสื่อม มักจะมีการเจริญเติบโตไม่ดี อาจจะมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย มีภาวะแทรกซ้อนหลังคลอด เช่น ติดเชื้อในกระแสโลหิตได้ง่าย ในรายที่รกเสื่อมรุนแรงทารกอาจจะตายในครรภ์ หรือตายตอนคลอดก็มี

           ป้องกันภาวะรกเสื่อมได้อย่างไร ? : วิธีป้องกันภาวะรกเสื่อมที่ควรจะทำเป็นสิ่งแรกก็คือ เมื่อคิดจะตั้งครรภ์ก็ควรที่จะงด ลด เลิกปัจจัยเสี่ยงต่อการทำให้เกิดภาวะรกเสื่อมเสีย เช่น เลิกบุหรี่ เลิกยาเสพติด คุณแม่ที่มีโรคประจำตัวก็ควรจะรีบรักษาหรือควบคุมให้ดีก่อนที่จะปล่อยให้ตั้งครรภ์ และสุดท้ายก็คือ รีบไปฝากครรภ์เสียเร็ว ๆ เมื่อทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์ เพื่อจะทำให้คุณหมอสามารถให้การวินิจฉัยภาวะรกเสื่อมของคุณแม่ได้เสียแต่เนิ่น ๆ ครับ

           รกเสื่อมไม่ใช่โรค แต่เป็นความสามารถในการทำงานของรกที่ลดน้อยลง จนอาจทำให้ทารกในครรภ์ได้รับอันตรายได้ การจะทราบว่ารกของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์มีการเสื่อมสภาพแล้วหรือไม่ ? และเริ่มเสื่อมตั้งแต่เมื่อไร ? คุณแม่จะต้องมีการฝากครรภ์ที่ดี คือไปรับการตรวจครรภ์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ ขอให้คุณแม่ทุกท่านโชคดีตั้งครรภ์โดยรกไม่เสื่อมนะครับ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 Vol.18 No.213 กรกฎาคม 2556

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รกเสื่อม เมื่อตั้งครรภ์ อัปเดตล่าสุด 24 มีนาคม 2557 เวลา 12:59:40 22,989 อ่าน
TOP
x close