รับมือไมเกรน เมื่อตั้งครรภ์

ไมเกรนขณะตั้งครรภ์

รับมือ...ไมเกรนยามท้อง (รักลูก)
เรื่อง : เมธาวี เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ นพ.ภูมิพร อัจฉรารัตนโสกณ สูติแพทย์ เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลเวชธานี

          อากาศเปลี่ยน อุณหภูมิเปลี่ยน ร้อนขึ้น จนรู้สึกอึดอัด เหล่านี้ทำให้อาการไมเกรนกำเริบขึ้นได้นะคะ โดยเฉพาะในคุณแม่ตั้งครรภ์ จะยิ่งเหนื่อยและร้อนง่ายกว่าปกติค่ะ

 ทำไม...เราถึงปวดไมเกรน

          อาการปวดไมเกรน ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดค่ะ อาจเกิดจากสภาพแวดล้อม อาหาร อากาศ และจากความเครียด ที่มีส่วนกระตุ้นให้เกิดได้

          แต่ที่แน่ชัดคือ อาการปวดไมเกรน เกิดขึ้นเพราะสมองมีการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบ ๆ ตัวไวกว่าปกติ ส่งผลต่อการหดรัดตัวของหลอดเลือด หรือทำให้เกิดหลอดเลือดอักเสบ เมื่อมีการหดและขยายตัวของหลอดเลือดแบบไว ๆ ก็ทำให้ปวดหัว หรือมีอาการปวดหัวจี๊ดขึ้นมานั่นเองค่ะ

ไมเกรน...ไม่กำเริบ ขณะตั้งครรภ์

          ในคุณแม่ตั้งครรภ์ ที่มีไมเกรนเป็นโรคประจำตัว โดยส่วนใหญ่พบว่า ประมาณร้อยละ 40-70 ไม่มีอาการไมเกรนกำเริบ และมีอาการดีขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ด้วยนะคะ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่อาการจะแย่ลง ซึ่งเกิดจากช่วงตั้งครรภ์มีฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มสูงขึ้น และร่างกายเกิดภาวะการตอบสนองต่อฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ดี ทำให้อาการปวดหัวไมเกรนหายไป แต่อาการอาจจะกำเริบอีกครั้งในช่วงปลาย ๆ ของการตั้งครรภ์ได้ค่ะ

เช็กอาการ...ปวดไมเกรน

          ลักษณะปวดหัวไมเกรน โดยทั่วไปจะปวดข้างเดียว แต่อาจสลับซ้ายสลับขวาด้านใดด้านหนึ่งได้ หรือบางรายอาจปวดทั้งสองข้างพร้อมกัน และเพราะอาการปวดเกิดจากการหดขยายตัวของเส้นเลือด จึงทำให้มีอาการปวดตุบ ๆ ในบางครั้งอาจปวดมากจนทำงานไม่ได้ ปวดจนทนไม่ไหวน้ำตาไหลก็มี เวลาปวดอาจยาวนาน 3-4 ชั่วโมง หรือถ้าเป็นมากอาจปวดเป็นวันก็ได้ บางคนหลังปวดอาจมีอาการข้างเคียงด้วย เช่น คลื่นไส้อาเจียนตามมาได้

อาการปวดหัวไมเกรนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

         กลุ่มมีอาการนำ เช่น เห็นแสงแวบ ๆ เรียกว่า ออร่า (Aura) ตาพร่ามัวมองไม่ชัด หรือรู้สึกชาหน้าข้างใดข้างหนึ่ง และมีอาการปวดแบบทั่วไป เรียกว่าคลาสสิกคอลไมเกรน คือมีอาการปวดบริเวณขมับ ปวดข้างใดข้างหนึ่ง และอาจปวดร้าวมาที่ขากรรไกร และรอบดวงตาด้วย

         กลุ่มไม่มีอาการนำ เช่น อยู่ ๆ ก็ปวดศีรษะจี๊ดข้างใดข้างหนึ่ง เรียกว่าโนออร่า (No Aura) ซึ่งอาการปวดจะไม่แน่นอน เรียกว่าคอมมอนไมเกรน คือการปวดเกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว ไม่ได้ปวดเป็นประจำอยู่ ๆ ก็ปวดขึ้นมาอย่างฉับพลันได้

          การรักษาไมเกรนทั้ง 2 กลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ไม่หายขาด คนที่เป็นจะมีอาการเป็นระยะ เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่แออัด เครียด ก็ทำให้อาการกำเริบขึ้นได้ค่ะ

 แม่ตั้งครรภ์เป็นไมเกรน รักษาอย่างไร

          ในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการกำเริบ หรือปวดไมเกรนช่วงตั้งครรภ์การรักษาทำได้ 2 แบบค่ะ คือ

          1. ควบคุมปัจจัยที่จะมากระตุ้นให้อาการกำเริบ โดยให้คุณแม่สังเกตตัวเองว่าเวลามีอาการปวดศีรษะเกิดจากอะไรอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน โดยใช้วิธีจดบันทึกว่าอะไรที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้อาการกำเริบ เมื่อรู้ปัจจัยที่กระตุ้นก็ควรหลีกเลี่ยง

ปัจจัยกระตุ้นให้ปวดไมเกรน ได้แก่

         สภาพแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ จากอยู่ในที่เย็นมากแล้วออกมาเจออากาศร้อนมาก สถานที่ที่มีเสียงดังมาก ๆ หรือสถานที่ที่มีแสงกะพริบหรือแสงสว่างมาก ๆ

         อาหารที่มีไทโรนีนสูง เช่น เนย นมสด ช็อกโกแลต กล้วยหอม ผงชูรส ชา กาแฟ และแอลกอฮอล์

         นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ

         ภาวะทางอารมณ์ ความเครียด เครียดจากการทำงาน หรือเครียดอยู่ตลอดเวลา

          ดังนั้น พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ และออกกำลังกายที่เหมาะสม เพราะจะทำให้ร่างกายผ่อนคลาย ลดภาวการณ์เกิดไมเกรนลงได้บ้าง หรือนั่งสมาธิ จะช่วยลดการเห็นแสงแวบ ๆ ทำให้อารมณ์มั่นคง ลดภาวะอารมณ์เครียดลงได้

          2. รักษาด้วยการใช้ยา จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือรักษาเมื่อเป็นระยะเฉียบพลัน กับรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการ ถ้าเป็นการรักษาในระยะเฉียบพลัน จะใช้ยาแก้ปวดกลุ่มแอสไพริน หรือพาราเซตามอล แต่การกินยาควรกินเมื่อมีอาการปวดศีรษะเท่านั้น ไม่ควรกินเพื่อป้องกัน เช่น คิดว่าถ้าไปเจออากาศร้อนแล้วต้องปวดศีรษะ เลยกินยาป้องกันไว้ก่อน อย่างนี้ไม่ควรทำ ถึงแม้ยานี้จะไม่มีผลต่อทารกในครรภ์ แต่ก็ต้องอยู่ในความควบคุมของแพทย์ค่ะ

ยาไมเกรน...ที่แม่ตั้งครรภ์ห้ามกิน

          หากคุณแม่ตั้งครรภ์ มีอาการปวดไมเกรน ยาที่ห้ามกินเพราะอาจมีผลต่อทารกในครรภ์ คือกลุ่มยาลดการอักเสบที่ไม่มีสเตียรอยด์ เช่น ไอบูโปรเฟน ไดโคลฟีแนค หรือพอนสแตนด์ ยากลุ่มนี้จะทำให้เกิดการหดขยายของเส้นเลือด ซึ่งอาจส่งผลข้างเคียงกับทารกได้

          นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มยาแก้ปวดไมเกรน ที่ใช้กันประจำคือ คาเฟอร์ก็อท (Carfergot) จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ดี แต่มีผลต่อพัฒนาการทารกในครรภ์ ส่งผลต่อการพัฒนาระบบไตของทารก และระบบน้ำคร่ำ ทำให้น้ำคร่ำลดลงด้วย ดังนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์ห้ามกินยาแก้ปวดชนิดนี้อย่างเด็ดขาด ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับยาที่เหมาะสมจะดีที่สุดค่ะ

          แม้จะมีตัวป่วนอย่างไมเกรนเป็นโรคประจำตัวอยู่ แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการตั้งครรภ์ เพียงรู้วิธีการดูแลตัวเอง กินยาตามที่แพทย์สั่ง ก็สามารถรับมือได้สบายแล้วค่ะ






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 31 ฉบับที่ 372 มกราคม 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รับมือไมเกรน เมื่อตั้งครรภ์ อัปเดตล่าสุด 21 กรกฎาคม 2557 เวลา 14:10:06 28,498 อ่าน
TOP
x close