ท้องแรก มดลูกก็หย่อนได้นะ (รักลูก)
เรื่อง : เมธาวี เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ พญ.คัดณางค์ มิ่งมิตรพัฒนะกุล สูติแพทย์ สาขาสูตินรีเวชวิทยา โรงพยาบาลกรุงเทพ
ท้องแรก แต่ทำไมมดลูกหย่อน
แม้คุณแม่จะตั้งครรภ์ครั้งแรก แต่หลังคลอดอาจเกิดมดลูกหย่อนได้ ซึ่งการที่มดลูกของคุณแม่เกิดการเลื่อนต่ำลงมาได้นั้น มันไม่ได้เกิดขึ้นหลังการคลอด แต่เกิดช่วงระหว่างคลอดลูก และมีผลทำให้มดลูกหย่อนหลังคลอดค่ะ โดยมี 3 สาเหตุดังนี้ค่ะ
1. ทารกมีขนาดศีรษะใหญ่
ต้องดูว่าทารกมีขนาดตัวใหญ่ และมีน้ำหนักแรกคลอดเยอะหรือไม่ เพราะหากเด็กตัวใหญ่ เด็กมักจะมีศีรษะใหญ่ด้วย เช่น ทารกน้ำหนักประมาณ 3 กก. ศีรษะจะมีขนาดประมาณ 3 ซม. ทำให้ระหว่างคลอด ศีรษะผ่านออกมาทางช่องคลอดยาก ทำให้ปากมดลูกขยายกว้างมากขึ้น กล้ามเนื้อมีการยืดขยายมากกว่าปกติ กล้ามเนื้อหลังคลอดอ่อนแรง มดลูกจึงเลื่อนหย่อนลงมาได้
2. คลอดง่ายหรือคลอดยาก
การคลอดง่ายหรือคลอดยากก็มีผลต่อกล้ามเนื้อบริเวณปากมดลูก ซึ่งการคลอดยากอาจเกิดจากทารกมีขนาดใหญ่กว่าปกติ หรือทารกออกมาในท่าที่ผิด ส่งผลให้คลอดยากได้ เพราะปกติเวลาคลอด ทารกจะมีการจัดท่าที่จะคลอดออกมาได้เอง โดยเป็นท่าเอาหัวลง ถ้ามีการจัดท่าได้ถูก ศีรษะเลื่อนลงมาพอดีกับปากมดลูก ช่องคลอดก็จะเปิดกว้างประมาณเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 ซม. ทำให้ทารกคลอดง่าย แต่ถ้าทารกมีการจัดท่าผิด ท่าบิดเอียงเพียงไม่กี่องศา ก็ทำให้ช่องคลอดยืดขยายกว้างมากขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้มดลูกเลื่อนต่ำลงมาได้
3. เบ่งถูกวิธีใหม่
ในคุณแม่บางคนที่ตั้งครรภ์ครั้งแรก ยังไม่เคยมีประสบการณ์การเบ่งมาก่อน และบางคนใช้เวลานานกว่าจะคลอด ขณะที่เบ่ง ศีรษะเด็กจะค่อย ๆ โผล่ออกมา หากเบ่งผิดจังหวะ ศีรษะของทารกจะรูดออกมาทางช่องคลอด มีลักษณะขึ้นลงขึ้นลง ทำให้ช่องคลอดมีการยืดขยาย และทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานยืดมากขึ้น ก่อนคลอดจึงควรฝึกการหายใจ เพื่อให้มีจังหวะหายใจเบ่งได้ดี คลอดได้ง่ายขึ้นค่ะ
ทั้ง 3 ปัจจัยนี้ ล้วนทำให้คุณแม่ท้องแรกที่คลอดธรรมชาติมีโอกาสมดลูกหย่อนได้ แต่ส่วนใหญ่ถ้าคลอดในโรงพยาบาล หลังคลอดสูติแพทย์จะตัดฝีเย็บและเย็บซ่อมช่องคลอด รวมทั้งเย็บซ่อมกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานไปด้วย ซึ่งจะช่วยดึงรั้งให้มดลูกกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิมมดลูกไม่หย่อนลงมา และทำให้ช่องคลอดเล็กลง
นอกจากนี้ ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกายด้วย หากคุณแม่ดูแลตัวเองดี ออกกำลังกายเป็นประจำตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หุ่นฟิตแอนด์เฟิร์ม มีกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานจะไม่ยืดขยายมากนัก แต่ถ้าไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง เวลาคลอดจะทำให้กล้ามเนื้อมีการยืดขยายเยอะ ส่งผลให้มดลูกหย่อนได้ค่ะ
มดลูกหย่อนหลังคลอด ส่งผลต่อกระเพาะปัสสาวะได้
มดลูกหย่อน หรือผนังช่องคลอดหย่อน อาจมีผลกับกระเพาะปัสสาวะได้ ทำให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ซึ่งการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน จะช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเป็นมากหรือมดลูกหย่อนลงมามาก อาจต้องเย็บซ่อม คือทำรีแพร์ เย็บซ่อมช่องคลอด ก็จะช่วยให้ดีขึ้นได้
ป้องกันมดลูกหย่อนหลังคลอด
บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน โดยทำให้ง่าย ๆ คือการขมิบก้นทำประมาณ 200 ครั้ง/วัน จะช่วยแก้ไขมดลูกที่หย่อน หรือใช้วิธีนอนบนเตียง ชันเข่า ยกก้นขึ้นลง 50 ครั้ง/วัน ทำหลังคลอดจะช่วยกระชับอุ้งเชิงกราน กล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานแข็งแรงมากขึ้น
ไม่ยกของหนัก เช่น ยกที่นอนคนเดียว ยกตู้เอง ยกของเยอะ ๆ เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานบาดเจ็บ แผลฝีเย็บฉีกขาดทำให้มดลูกเลื่อนต่ำลงมา
กินผักและผลไม้ เพื่อป้องกันการท้องผูก เพราะท้องผูกเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เบ่งมากขึ้น ซึ่งจะดันมดลูกออกมาได้ฟิตร่างกายให้พร้อมก่อนคลอด กล้ามเนื้อแข็งแรง มีพลังในการเบ่งคลอด ไม่ว่าท้องครั้งไหนก็คลอดสบาย ป้องกันมดลูกหย่อนหลังคลอดได้ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 31 ฉบับที่ 372 มกราคม 2557