อาการไอในเด็ก อย่านิ่งนอนใจ



เมื่อลูกน้อยไอค่อกแค่ก
(M&C แม่และเด็ก)

          ด้วยหน้าที่การงาน ธุระต่าง ๆ พ่อแม่หลายคนจึงอาจไม่มีเวลาดูแลสังเกตลูกมากนัก บางครั้งอาจละเลยใส่ใจเมื่อเห็นลูกมีอาการไอ จาม ขอเตือนเลยค่ะ อย่านิ่งนอนใจเป็นอันขาด ยิ่งลูกวัยเล็ก หากปล่อยไว้นาน เขาอาจมีอาการแทรกซ้อนขึ้นมาได้ ต้องใส่ใจตรวจสอบ

ไอแบบนี้ อย่านิ่งนอนใจ

          โดยทั่วไปถ้าลูกมีอาการจามน้ำมูกไหล และไม่มีอาการหูอื้อหรือปวดหูแทรกขึ้นมา ก็ไม่มีอันตรายใด ๆ แต่ถ้าเมื่อไหร่เขามีอาการหูอื้อและปวดหูด้วย ก็นิ่งนอนใจไม่ได้แล้ว ต้องรีบพามาพบแพทย์ทันที และหากมีอาการไม่สบายอย่างอื่นแทรกซ้อนขึ้นมาด้วย พร้อมกับมีน้ำมูกไหลอยู่บ่อย ๆ คุณแม่ควรพาเขามาพบแพทย์เช่นกัน หากปล่อยไว้เช่นนี้ อาจเกิดอันตรายถึงขึ้นลูกหูหนวกได้เลย

ทำไมดึก ๆ ลูกยิ่งไอ

          โดยส่วนมากเด็กที่นอนราบอยู่กับพื้นจะมีอาการไอมาก ดังนั้นคุณแม่ไม่ต้องตกใจ หากพบว่าลูกน้อยมีอาการไอมากกว่าตอนยืน สาเหตุที่เกิดก็มาจากการที่เสมหะไหลลงคอมากนั่นเอง เพราะฉะนั้นในช่วงกลางคืน เด็กจะมีอาการไอค่อนข้างมาก พอตื่นนอนในตอนเช้า เขาอาจจะไออย่างรุนแรงเพื่อขจัดเสมหะหรือน้ำมูกในลำคอให้หมดไป

          คุณแม่ที่ไม่ทราบความจริงในข้อนี้จึงมักกังวลมากเป็นพิเศษ เพราะตอนเช้าลูกจะไอหนักมาก แต่หากสังเกตให้ดีจะพบว่า เขาจะไอน้อยลงในเวลากลางวัน ยกเว้นในกรณีที่เขาเหนื่อยมากหรือเพราะเขาวิ่งเล่นมากเกินไป ส่งผลให้เขามีอาการไอมากขึ้น

          นอกจากนี้เสมหะในลำคอที่เกิดจากการเคลื่อนไหวในตอนเช้าที่เขาไอ บางครั้งเด็กอาจจะกลืนเสมหะเข้าไปบ้าง แต่ไม่ต้องตกใจ เสมหะที่เด็กกลืนเข้าไปนั้นไม่มีอันตรายหรอกค่ะ

ฟื้นพลังยามหนูฮัดเช่ย

          ขณะที่เด็กไม่สบายเป็นหวัด ขบวนการเมตาบอลิซึมต่าง ๆ จะถูกขัดขวาง ทำให้ลูกน้อยต้องการพลังงานเป็นอย่างมาก จึงต้องเพิ่มพลังงานให้เพียงพอต่อภาวะร่างกายในช่วงนั้น ถ้าหากมีไข้ ก็ต้องเพิ่มโปรตีนและวิตามินให้กับเขา ให้ลูกได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเส้นใยอาหารจากพืชและไขมัน เนื่องจากเส้นใยอาหารและไขมันจะเข้ามาขัดขวางการเผาผลาญและการดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ของร่างกาย

          นอกจากนี้ควรให้เขานอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่ จะทำให้ภูมิต้านทานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

          รู้แบบนี้แล้ว เมื่อเห็นลูกไอค่อกแค่ก งอแงไม่ยอมหยุด ให้สังเกตสักนิด ที่เค้าโยเยเพราะเป็นหวัดหรือเปล่า สังเกตไม่ยาก เริ่มที่การดูแลใส่ใจของพ่อแม่นั่นเอง






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 37 ฉบับที่ 501 พฤศจิกายน 2556

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาการไอในเด็ก อย่านิ่งนอนใจ อัปเดตล่าสุด 6 มีนาคม 2557 เวลา 18:18:08 6,537 อ่าน
TOP
x close