แม่จ๋า ! หนูหายใจไม่ออก

วิธีปฐมพยาบาล ของติดคอเด็ก

แม่จ๋า ! หนูหายใจไม่ออก
M&C แม่และเด็ก)

         เด็ก ๆ พอเห็นของชิ้นเล็ก ๆ เช่น กระดุม เหรียญ ยางลบ ตกอยู่ที่พื้นหรือใกล้มือ หยิบคว้าได้ เขามักสงสัยใคร่รู้ อยากคว้า อยากสัมผัส และเริ่มเพิ่มความสนใจด้วยการอมเข้าปาก ตรงนี้ต้องระวังเขาอาจกลืนหลุดเข้าคอได้ รวมทั้งบางคนอาจนำยัดหู ยัดจมูก ทีนี้หลุดเข้าช่องลมหายใจ เกิดปัญหา ต้องพามาหากุมารแพทย์ หู คอ จมูกช่วยเอาออก กรณีนี้พบได้บ่อยครั้ง

ตรวจสอบสิ่งแปลกปลอม

         ถ้าจู่ ๆ เขามีอาการไอติดต่อกันอย่างรุนแรง โดยที่เขามีสุขภาพแข็งแรงปกติให้รีบตรวจสอบทันทีว่ามีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในช่องลมหายใจหรือไม่ อย่างพวกของเล่นชิ้นเล็ก ๆ เศษอาหารหรือฝุ่นละอองพลัดเข้าไป ก็จะเกิดอาการไอได้เช่นกัน เหตุการณ์เช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายและเป็นอันตรายอย่างมาก คุณแม่ควรที่จะระมัดระวัง

รับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน

         หากคุณแม่เกิดสงสัยขึ้นมาว่า ลูกหายใจเอาวัตถุแปลกปลอมเข้าไปหรือไม่ วิธีที่ดีที่สุดก็คือคุณแม่ต้องรีบพาเขาไปพบแพทย์โดยทันที แต่ถ้าหากอาการของเขาหนักมาก หน้าเขียวเพราะหายใจไม่ออก คุณแม่จะต้องปฐมพยาบาลฉุกเฉินช่วยเขาก่อนทันทีเช่นกัน โดยพยายามทำให้สิ่งที่พลัดเข้าไปนั้นหลุดออกมา โดยวิธีการเอานิ้วชี้ล้วงเข้าไปในลำคอ หากไม่สามารถทำได้ ให้จับเด็กห้อยหัวและตบหลังเขา ให้เขาไอออกมาเพื่อขับสิ่งแปลกปลอมออกมา แต่ถ้าหากคุณไม่แน่ใจว่าสิ่งแปลกปลอมหลุดออกมาหมดหรือยัง ก็ควรพาเค้าไปหาคุณหมอด่วนที่สุดเท่าที่จะทำได้

ตรวจตราความปลอดภัยบ่อย ๆ

         จำไว้เลยค่ะ สิ่งที่คุณแม่ควรระวังคือ อย่าวางสิ่งของไม่เป็นที่เป็นทาง วางทิ้งไว้เรี่ยราด เกะกะหล่นตกพื้นง่าย โดยเฉพาะของที่หักแตกง่าย ของใช้ก็ดี ของเล่นที่ดูแล้ววัสดุไม่ปลอดภัยก็ดี ควรวางไว้ให้พ้นมือเด็กเลยค่ะ และควรหมั่นตรวจตราสังเกตพื้นบริเวณภายในห้องที่เขาคลานอย่างสม่ำเสมอพร้อมปัดกวาดทุกวัน อย่างที่บอก นิสัยของเด็ก เมื่อเห็นสิ่งของที่วางไว้ก็มักจะหยิบขึ้นมากิน เพราะนึกว่าเป็นอาหาร ดังนั้นควรระมัดระวังดีกว่าที่จะมากั้นทีหลัง

         จากประสบการณ์ของผู้เขียน สำหรับการตรวจตราข้าวของชิ้นเล็กในห้อง มีวิธีแนะนำคือ ให้แนบตัวกับพื้นค่ะ ให้ตาอยู่ในระดับพื้น แล้วกวาดมองไปทีละส่วน จะเห็นทันทีว่ามีของชิ้นเล็กชิ้นน้อยตกหล่นอยู่บนพื้นหรือไม่ เพราะหลายอย่างถ้ามองจากระดับสายตาผู้ใหญ่ บางทีจะเห็นยาก ยิ่งบางบ้านปูพื้นลายตาด้วยแล้ว อาจไม่ทันสังเกต แต่วิธีนี้จะมองเห็นกระทั่งเม็ดข้าว เข็มกลัด กระดุม ชิ้นเล็ก ๆ ที่มักพลาดสายตาไป

         อีกหนึ่งวิธีแบบง่าย ๆ คือ หมั่นกวาดเช็ดถูบ้านบ่อย ๆ ทุกซอกทุกมุม โดยเฉพาะห้องนอนและห้องเล่นของลูก แต่แนะนำว่าถ้ากวาดบ้าน ควรใช้ไม้กวาดขนพลาสติก (มีขายในซูเปอร์มาร์เก็ต) ใช้ไม้กวาดดอกหญ้ามักจะมีเศษดอกหญ้าหลุดติดพื้นด้วย ลูกคนเขียนตอนวัยเด็กหยิบหมดค่ะ ทั้งดอกหญ้า ผมก้อนขี้ฝุ่น ทิชชู สำลีปั่นหู ตกอยู่ไม่ได้เลย ต้องระวังทุกอย่าง

วางใจใกล้มือหมอ


         เมื่อพาลูกไปถึงมือหมอแล้ว พ่อหรือแม่ควรจะชี้แจงให้หมอเข้าใจว่า ลูกอาจจะหายใจเอาอาหารหรือของเล่นเล็ก ๆ เข้าไปในปอด เพื่อที่หมอจะได้ตรวจให้ถี่ถ้วน และจะได้ฉายเอกซเรย์ดู ถึงแม้ว่าเศษอาหารหรือวัสดุที่ทำด้วยพลาสติกเล็ก ๆ จะฉายเอกซเรย์ไม่ติด แต่ผลจากการมีวัสดุเข้าไปติดอยู่ในปอด จะปรากฏออกมาให้เห็นได้ เพราะว่าลมในปอดจำนวนมากเป็นล้าน ๆ จะหดตัวและปรากฏให้เห็นบนแผ่นฟิล์มเอ็กซ์เรย์ ถ้ามีวัตถุติดอยู่ในปอดจริง หมอก็จะพยายามนำสิ่งที่ติดอยู่ในปอดออกมาให้ได้ เพราะถ้าสิ่งที่ติดอยู่ในปอด ยังคงอยู่ในปอดต่อไป ปอดก็ทำงานไม่ได้และเกิดอันตรายอย่างร้ายแรง

ตรวจตราความปลอดภัยบ่อย ๆ

         จำไว้เลยค่ะ สิ่งที่คุณแม่ควรระวังคือ อย่าวางสิ่งของไม่เป็นที่เป็นที่เป็นทาง วางทิ้งไว้เรี่ยราดเกะกะ หล่นตกพื้นง่าย โดยเฉพาะของที่หักแตกง่าย ของใช้ก็ดี ของเล่นที่ดูแล้ววัสดุไม่ปลอดภัยก็ดี ควรวางไว้ให้พ้นมือเด็กเลยค่ะ และควรหมั่นตรวจตราสังเกตพื้นบริเวณภายในห้องที่เขาคลานอย่างสม่ำเสมอ อย่างที่บอกนิสัยของเด็กเมื่อเห็นสิ่งของที่วางไว้ก็มักจะหยิบขึ้นมากิน เพราะนึกว่าเป็นอาหาร ดังนั้นควรระมัดระวังดีกว่าที่จะมาแก้กันทีหลัง

ภัยเล็ก ๆ ที่อย่าเผลอประมาท

         นอกจากของชิ้นเล็ก ๆ ในบ้าน ก็มีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ประมาทไม่ได้ เผลอแป๊บเจ้าตัวเล็กก็อาจเอายัดเข้าจมูก เช่น ผลไม้ที่มีเม็ด คงจำได้จากข่าวเด็กเผลอกลืนเม็ดน้อยหน่าจนกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา แม้แต่เนื้อผลไม้ที่ไม่มีเม็ด พอปล่อยให้กินเองสักพักก็อาจเอาชิ้นเล็กชิ้นน้อยยัดเล่นเข้าจมูกได้เช่นกัน รวมถึงของเล่นที่แตกหักง่าย พวกของเล่นพลาสติกนี่ล่ะตัวดี แถมเวลาแตกหักมักกลายเป็นเศษแหลมคม ถ้าไม่เข้าจมูก ก็เอไว้กลืน อันตรายพอ ๆ กัน

         สำรวจตรวจตราดีแล้วว่าปลอดภัยแน่ ไม่เหลือทิ้งของใด ๆ ให้ลูกเอาเข้าจมูกอีก แต่ช้าก่อน ยังไม่หมด พอเจ้าหนูเริ่มโตพอ เดินไปเดินมาในบ้าน มือเริ่มมีกำลังดึงรื้อคว้าหมุน ที่ต้องระวังพอ ๆ กัน คือต้องตรวจตราว่าโต๊ะ เก้าอี้ หรือสิ่งของอื่น ๆ ในบ้าน ที่ประกอบด้วย นอต สกรูขันแน่นดีพอหรือไม่ เด็ก ๆ วัยนี้ชอบมากเลย เล่นกุญแจ ชอบเอาไปแหย่สำรวจไปเรื่อยว่ามีรูตรงไหน หรือตรงไหนน่าจะเอาลูกกุญแจไปไขได้ พอไปเจอตรงชิ้นส่วนนอตก็เริ่มไข เริ่มหมุน ทีนี้ถ้าขันไม่แน่นพอ กำลังของเด็กก็อาจหมุนหลุดมาได้ ก็จะได้นอตตัวเล็ก ๆ มาอมเล่นหรือยัดใส่จมูกแบบที่คุณแม่ไม่รู้ตัว กรณีนี้เจอบ่อย ๆ ก็ประมาทไม่ได้เช่นกัน

ควรช่วยลูกแคะหรือคืบออกหรือไม่

         ห้ามเด็ดขาด ! นี่คือคำเตือนของกุมารแพทย์ ในเด็กโต ถ้ามองเห็นสิ่งแปลกปลอมนั้นชัดเจนก็ไม่เท่าไร ยังสามารถลองใช้ที่คืบดึงออกได้ แต่ในเด็กเล็ก ห้ามเชียว เขามักกลัวและดิ้นไปดิ้นมา จนสิ่งแปลกปลอมนั้นหลุดเข้าไปลึกกว่าเดิม ที่แย่คือมันอาจตกอยู่ในด้านหลังภายในจมูก หรือสำลักเข้าไปในหลอดลม ทีนี้ล่ะจะอันตรายกว่าเดิม ถ้าเห็นว่าลูกหายใจไม่ออก หน้าเขียวแล้วจริง ๆ รีบพามาพบแพทย์ เพื่อให้คุณหมอที่ชำนาญจัดการดีกว่านะ

ดุหน่อย จะได้เข็ด

         ก่อนจะดุลูกว่าทำไมถึงเอาของเข้าปาก ต้องดูตัวเองก่อนเสมอว่าทำไมถึงปล่อยให้ลูกเอาของเข้าปาก แต่ก็ไม่ใช่จะดุเขาไม่ได้เลย เด็กวัยนี้ต้องดุหน่อย ให้เขาหลาบจำ ให้เขารู้ว่ามันไม่ดีต่อเขา รักลูกบางทีก็ต้องเล่นบทแม่ใจร้าย แต่ที่ทำก็เพราะรัก จริงไหมคะ...






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 37 ฉบับที่ 501 พฤศจิกายน 2556

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แม่จ๋า ! หนูหายใจไม่ออก อัปเดตล่าสุด 17 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 10:52:13 2,293 อ่าน
TOP
x close