x close

โรคลมชักในเด็ก ลูกรักเป็นหรือไม่

โรคลมชักในเด็ก

ลมชักลูกรักเป็นหรือไม่? (รักลูก)
เรื่อง : วรนุช

          ลมชักเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าในสมอง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย ไม่เว้นเด็กตัวเล็ก ๆ ถ้าลูกมีอาการชักบ่อย ๆ จะจากสาเหตุใดก็ตาม ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อตรวจให้แน่ชัดว่าลูกเป็นโรคลมชักหรือไม่ จะได้ทำการรักษาตั้งแต่เล็ก ๆ ค่ะ

อาการชักในเด็กเล็ก

          อาการชัก เป็นอาการแสดงของโรคหลาย ๆ ชนิด รวมทั้งโรคลมชักในเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็ก สามารถพบอาการชักได้บ่อยกว่าผู้ใหญ่ เพราะสมองของเด็กเล็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้ปล่อยกระแสไฟฟ้าผิดปกติออกมาในสมอง ส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการชัก เกร็งกระตุกขึ้นได้ ในเด็กเล็กส่วนใหญ่อาการชักมักเกิดจากการเจ็บป่วย เช่น เป็นไข้หวัด ปวดบวม หูอักเสบ ท้องเสีย และมีภาวะน้ำตาลหรือเกลือแร่ในเลือดต่ำ

          ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีความรุนแรงของอาการชักต่างกัน มีทั้งการชักแบบเกร็งกระดูกทั่วร่างกาย และอาการชักเฉพาะอวัยวะบางส่วนของร่างกาย ถ้าหากเป็นอาการชักจากไข้ที่ส่วนใหญ่เด็ก ๆ มักจะเป็นกันนั้นไม่ได้มีผลทำให้สมองพิการ เพราะมีการศึกษาพบว่าเด็กที่เป็นไข้แล้วมีอาการชัก เมื่อโตขึ้นความสามารถด้านสติปัญญาและการเรียนรู้ไม่ได้แตกต่างไปจากเด็กคนอื่น ๆ ถ้าหากได้รับการดูแลที่เหมาะสม แต่หากลูกมีอาการชัก เกร็งนานกว่า 2 นาที ชักโดยไม่มีใช้ หรือชักบ่อยและถี่ขึ้น ควรพาไปปรึกษาคุณหมอ เพราะลูกอาจจะเป็นโรคลมชักได้

โรคลมชัก...เกิดจาก

          สมองมีความผิดปกติตั้งแต่เกิด หรือผิดปกติระหว่างคลอด เช่น เด็กขาดออกซิเจนตอนคลอด หรือมีความผิดปกติของเนื้อสมอง

          เกิดจากกรรมพันธุ์

          โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ ตีบตันหรือแตก

          เกิดการติดเชื้อในสมอง เช่น ไร้สมองอักเสบ หรือได้รับอุบัติเหตุที่มีผลกระทบต่อสมอง

อาการชักจากโรคลมชัก

          คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตเห็นได้ 2 ลักษณะ คือ

          อาการชักทั้งตัว เวลาชักจะเกร็งตัวประมาณ 1-2 นาที

          อาการชักเหม่อนิ่ง สังเกตได้ว่าเด็กจะหยุดพูดหรือหยุดเล่นทันที ไม่ตอบสนองต่อการเรียก มีอาการชักไม่เกิน 30 วินาทีแล้วจะหายเอง สามารถกลับมาเล่นและพูดคุยได้ตามปกติค่ะ

ตรวจรักษาโรคลมชัก

          เมื่อลูกมีอาการชักแล้วคุณพ่อคุณแม่พาไปตรวจ คุณหมอจะชักถามประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว เพื่อเป็นแนวทางในการวินิจฉัยโรค ในบางครั้ง อาจจำเป็นต้องเจาะน้ำกระดูกไขสันหลัง เพื่อดูการอักเสบในช่องสมองหรือโพรงประสาท นอกจากนี้ ยังมีการตรวจด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย โดยใช้วิธีการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) การถ่ายภาพเอกซเรย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (CT) และการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก (MRI) เพื่อจะทำให้คุณหมอวินิจฉัยโรคได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

          เมื่อตรวจพบว่าลูกเป็นโรคลมชักแล้ว อันดับแรกคุณหมอจะให้กินยากันชัก โดยเลือกชนิดและขนาดของยาให้เหมาะสมกับชนิดของการชัก วัยและน้ำหนักตัวของลูก โดยจะต้องพาลูกมาพบคุณหมอเป็นระยะ ๆ เพื่อปรับขนาดของยาให้เหมาะกับอาการชักของเด็กแต่ละคน ซึ่งเด็กบางคนอาจจะกินยาแค่หนึ่งชนิดหรือมากกว่านั้นก็ได้ และใช้เวลากินยานานประมาณ 2 ปี ก็สามารถหยุดยาได้ แต่ในบางรายก็ต้องกินยาไปตลอดชีวิต ยาจะมีผลข้างเคียงต่อตับและไต ดังนั้น คุณหมอจะเจาะเลือด เพื่อดูการทำงานของตับ ไต ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ประกอบด้วย

          นอกจากการกินยาแล้ว เด็กที่เป็นโรคลมชักบางคนอาจจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดสมอง โดยทีมแพทย์จะพิจารณาถึงความปลอดภัย ตลอดจนข้อดีและข้อเสียของการผ่าตัดสมอง เพื่อรักษาโรค และจะมีการพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ก่อนทำการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัด สมองของเด็กจะปรับตัวได้ดีกว่าสมองของผู้ใหญ่ เพราะสมองเด็กสามารถเปลี่ยนแปลงและปรับตัวได้ตลอด

          สิ่งที่สำคัญคือต้องสังเกตว่าลูกมีลักษณะอาการชักอย่างไร อาการชักถี่ขึ้นหรือไม่ เพื่อใช้เป็นแนวทาง ให้คุณหมอได้รักษาอย่างถูกต้องค่ะ

รับมือ...เมื่อลูกชัก

          หากลูกมีอาการชัก คุณพ่อคุณแม่ หรือคนที่อยู่ใกล้ชิดควรตั้งสติให้ดี ควรอุ้มลูกให้ห่างจากสิ่งอันตราย เช่น เตาไฟ ของมีคม แล้วจับลูกนอนท่าตะแคง เพื่อป้องกันน้ำลายอุดหลอดลมโดยห้ามสอดสิ่งของเข้าไปในปาก หรือง้างปาก เพราะอาจทำให้ฟันหักแล้วเข้าไปอุดหลอดลมจนเสียชีวิตได้ ถ้าลูกมีอาการชักครั้งแรก ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 31 ฉบับที่ 370 พฤศจิกายน 2556

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคลมชักในเด็ก ลูกรักเป็นหรือไม่ อัปเดตล่าสุด 8 มกราคม 2557 เวลา 16:26:47 9,436 อ่าน
TOP