อดกินนมแม่ เพราะโรคทางพันธุกรรม (รักลูก)
เรื่อง : เมธาวี
คุณแม่คนไหนเคยเป็นบ้างคะ ทั้งที่ลูกกินนมแม่ แต่ยังมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ท้องเสีย ซึม ไม่ยอมกินนมสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากลูกน้อยเป็นโรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่งก็ได้นะคะ
ลูกกินนมไม่ได้ เพราะโรคทางพันธุกรรม
โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมบางโรคอาจทำให้ลูกไม่สามารถกินนมทั่วไปได้ ซึ่งรวมไปถึงนมแม่ด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นโรคที่เกิดจากยีนด้อยของคุณพ่อคุณแม่ คือยีนด้อยเจอยีนด้อยของคุณพ่อคุณแม่ ส่งผลให้ลูกมีโรคพันธุกรรมบางอย่างติดมา โรคที่พบเจอในประเทศไทย มี 2 กลุ่มค่ะ
กลุ่มโรคที่ไม่สามารถย่อยสลายน้ำตาลได้ เช่น โรคกาแลคโตซีเมีย (Galactosemia) ซึ่งเด็กเกิดมาแล้วไม่มีน้ำย่อยในการย่อยสลายน้ำตาลกาแล็กโทส ทำให้เด็กไม่สามารถกินนมที่มีน้ำตาลกาแล็กโทสได้เลย
จากการรวบรวมสถิติของโรงพยาบาลเด็กพบว่า เด็กที่เป็นโรคนี้ยังน้อยค่ะ เฉลี่ย 0-1 คน/ปี สาเหตุที่พบน้อยอาจเป็นเพราะประเทศไทยยังไม่มีการตรวจคัดกรองโรคนี้ในเด็กแรกเกิด แต่ในต่างประเทศมีการตรวจคัดกรองโรคนี้ในเด็กแรกเกิดทุกคน จึงทำให้พบการเกิดโรคค่อนข้างสูง
อาจกินนมแม่ไม่ได้เพราะ...น้ำตาลการแล็กโทสจะอยู่ในนมทั่วไป ทั้งนมวัว นมผสม รวมทั้งในนมแม่ ซึ่งจะส่งผลให้ลูกกินนมแม่ไม่ได้ด้วย ดังนั้น เด็กกลุ่มนี้ต้องกินนมที่ไม่มีน้ำตาลกาแล็กโทส เช่น นมถั่วเหลืองแทน
ถ้ากินนมที่มีน้ำตาลกาแล็กโทส จะมีอาการอย่างไร โดยลักษณะอาการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ
ระยะเฉียบพลัน ส่วนใหญ่มักเกิดในเด็กเล็ก มีอาการท้องเสีย และมีผลต่อการทำงานของตับ ทำให้ตับมีการทำงานผิดปกติ
ระยะยาว อาจไม่มีอาการแสดงออกอะไรเลย แต่ถ้ากินนมที่มีน้ำตาลกาแล็กโทสไปเรื่อย ๆ หรือกินสะสมเป็นเวลานานหลาย ๆ ปี อาจส่งผลให้เป็นโรคต้อกระจกได้
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้พบการเกิดโรคน้อย คือเวลาเด็กกินนมแล้วมีอาการผิดปกติ คุณพ่อคุณแม่ลองเปลี่ยนนมให้ลูกกิน ลูกกลับมีอาการปกติ หายดี กินนมได้ตามปกติ บางคนคิดว่าลูกเป็นโรคแพ้นมวัว พอลองเปลี่ยนนมลูกก็หาย จึงทำให้ไม่ได้รับการวินิจฉัยโรค ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วเด็กเป็นโรคนี้หรือเปล่า ซึ่งอาจส่งผลไปถึงตอนโต ทำให้เด็กกินนมที่มีน้ำตาลกาแล็กโทสไม่ได้เลยค่ะ
กลุ่มโรคที่ไม่สามารถย่อยสลายโปรตีนหรือกรดอะมิโนได้ เป็นโรคที่โปรตีนหรือกรดอะมิโนบางตัวไม่สามารถย่อยสลายได้ ซึ่งโรคที่เคยได้ยินกันบ่อย ๆ คือ โรคปัสสาวะหอม
นมแม่...ที่กินไม่ได้
ปกติแล้วไม่ว่าคุณแม่มีโรคประจำตัวอะไร หรือเป็นโรคทางกรรมพันธุ์ใด ๆ ลูกน้อยก็ยังสามารถกินนมแม่ได้ปกติ ได้สารอาหารครบถ้วนกว่านมชนิดอื่น ๆ และลูกยังคงมีสุขภาพแข็งแรง ไม่ได้รับการถ่ายทอดโรคจากทางน้ำนมแน่นอน
แต่นมแม่ที่กินไม่ได้ และห้ามให้นมลูก คือคุณแม่ที่เป็นโรคที่มีการติดเชื้อ เช่น โรคเอดส์ วัณโรค หรือคุณแม่ที่ต้องกินยาฆ่าเชื้อบางชนิด ที่อาจส่งผ่านไปทางน้ำนมสู่ลกได้ ต้องหยุดให้นมไปก่อนค่ะ
จากการรวบรวมสถิติของโรงพยาบาลเด็ก พบว่าเป็นโรคปีละ 1-2 คน พบได้บ่อยกว่าโรคกลุ่มแรก เนื่องจากมีอาการรุนแรงมากกว่า มีการรักษาที่ยากกว่า จึงทำให้มีการตรวจวินิจฉัยเจอโรคได้มากกว่า แต่เด็กส่วนมาก มักมีอาการไม่รุนแรง เมื่อคุณพ่อคุณแม่เปลี่ยนนม เด็กก็กลับมามีอาการปกติ กินนมได้ตามปกติ คิดว่าลูกแพ้นมวัวเหมือนกับโรคกลุ่มแรก จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้พบการเกิดโรคน้อยอยู่
อาจกินนมแม่ไม่ได้เพราะ...เด็กกลุ่มนี้ไม่สามารถย่อยโปรตีนหรือกรดอะมิโนที่อยู่ในนม จึงทำให้ไม่สามารถกินนมทั่วไปได้ รวมทั้งนมแม่ที่มีโปรตีนอยู่ด้วย
ถ้ากินนมที่มีโปรตีนหรือกรดอะมิโน จะมีอาการอย่างไร
อาการที่แสดงออกมีหลายระดับ ตั้งแต่ซึม ไม่ดูดนม ชัก เกร็ง และมีผลต่อระบบประสาท หากไม่ได้รับการรักษาอาจเสียชีวิต โดยที่ไม่รู้ว่าเด็กเป็นโรคอะไรด้วยซ้ำ เมื่อกินนมหรือกินอาหารที่มีโปรตีนหรือกรดอะมิโน จะมีอาการแสดงออกตั้งแต่หลังคลอดภายใน 12 ชั่วโมง หรือตั้งแต่ช่วงอาทิตย์แรกหรือภายในเดือนแรก ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ เด็กบางคนเป็นไม่มาก อาจมีอาการช่วงหลัง 6 เดือน คือช่วงที่เริ่มกินอาหารเสริมที่มีโปรตีน เช่น ไข่แดง เนื้อสัตว์ เป็นต้น
เด็กกลุ่มนี้สามารถกินนมปกติได้ แต่ต้องกินในปริมาณจำกัด หรือกินนมพิเศษที่ไม่มีโปรตีนหรือกรดอะมิโนเป็นส่วนผสม เป็นนมชนิดพิเศษที่ไม่มีขายในท้องตลาดทั่วไป มีแต่เฉพาะในโรงพยาบาล และแพทย์เป็นผู้สั่งให้เท่านั้น
แม้เด็ก ๆ ที่เป็นโรคนี้จะกินนมที่มีโปรตีนไม่ได้ หรือกินได้อย่างจำกัด แต่นมแม่ยังดีกว่านมอื่น ๆ เสมอ เพราะนมแม่มีโปรตีนน้อยกว่านมทั่วไป โดยในนมปกติมีโปรตีน 0.5 กรัม/ออนซ์ ส่วนนมแม่มีโปรตีน 0.3-0.4 กรัม/ออนซ์ ซึ่งอาจจะทำให้มีอาการกำเริบน้อยกว่า หรือมีอาการรุนแรงน้อยกว่าค่ะ
อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อห้ามในการให้นมลูก แม้คุณแม่จะมีโรคประจำตัวใด ๆ ก็ตาม เพราะนมแม่มีคุณค่ามากกว่านมชนิดอื่นค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 31 ฉบับที่ 370 พฤศจิกายน 2556