กังวลลูกในท้องตัวเล็ก (รักลูก)
โดย : รศ.พญ.สายฝน ชวาลไพบูลย์
น้ำหนักครรภ์ขึ้นน้อย ท้องไม่โตตามที่ควรจะเป็น แม่มีภาวะซีด มีโรคประจำตัวเรื้อรัง รกเสื่อมสภาพ มีภาวะรกเกาะต่ำหรือรกลอกตัวก่อนกำหนด ล้วนส่งผลให้ทารกในครรภ์เติบโตช้า กังวลลูกในท้องตัวเล็ก
Q : ดิฉันเพิ่งไปตรวจครรภ์ครั้งล่าสุดเมื่อวานนี้ คุณหมอบอกว่าเด็กค่อนข้างตัวเล็ก ประมาณ 2 กิโลกว่า ๆ ดิฉันเหลือเวลาแค่อีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ก่อนคลอด ควรทำอย่างไรถึงจะเพิ่มน้ำหนักทารกได้
ถ้าคลอดทารกน้ำหนักต่ำกว่า 2.5 กิโลกรัม จะมีผลเสียต่อเด็กมากไหมคะ เมื่อวานพอคุณหมอเห็นว่าทารกน้ำหนักน้อยก็เลยให้ตรวจคลื่นหัวใจ และพบว่าหัวใจเด็กก็เต้นปกติดี แต่ดิฉันก็ยังกังวลอยู่ค่ะ
หทัยกาญจน์/กทม.
A : คุณแม่น่าจะมีอายุครรภ์ประมาณ 37-38 สัปดาห์ น้ำหนักตัวทารกประมาณ 2 กิโลกรัมกว่า ดูจะน้อยกว่าปกติ ซึ่งสาเหตุของการเจริญเติบโตช้าของทารกอาจเกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรม เช่น
คุณพ่อคุณแม่ตัวเล็ก ทารกก็จะตัวเล็กด้วย
ทารกมีความผิดปกติทางโครโมโซม
มีการติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์
คุณแม่มีการติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน เป็นต้น
หรือคุณแม่มีโรคหรือความผิดปกติในขณะตั้งครรภ์ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไทรอยด์หรือเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ โรคที่พบจะส่งผลต่อความผิดปกติของเนื้อรก ทำให้เนื้อรกมีตะกอนแคลเซียมมาเกาะจำนวนมาก ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดที่บริเวณเนื้อรกผิดปกติ จนเป็นสาเหตุที่ทำให้ทารกมีขนาดเล็กกว่าปกติได้
แม่มีอายุน้อย หรือยังเป็นวัยรุ่นอยู่ก็จะทำให้ลูกมีน้ำหนักตัวน้อยได้ค่ะ
อาการที่บ่งบอกว่าทารกมีการเจริญเติบโตช้า คือคุณแม่มีน้ำหนักตัวขึ้นน้อย ท้องไม่โตตามที่ควรจะเป็น คุณแม่มีภาวะซีด มีโรคประจำตัวเรื้อรัง รกเสื่อมสภาพ มีภาวะรกเกาะต่ำหรือรกลอกตัวก่อนกำหนด
ส่วนผลเสียที่อาจจะเกิดกับทารกที่มีการเจริญเติบโตช้า คือมีน้ำตาลในเลือดต่ำ มีแคลเซียมในเลือดต่ำจนเกิดอาการชักเกร็งในช่วงแรกเกิดได้ มีภาวะเหลืองหลังคลอด อาจจะมีภาวะเครียดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จนมีการถ่ายอุจจาระหรือขี้เทาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เมื่อคลอดออกมาก็อาจจะมีความเสี่ยงต่อการสำลักเอาขี้เทาเข้าไปในปอดได้ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในช่วงแรกคลอดมากขึ้น นอกจากนี้จะมีความเสี่ยงในระยะยาว คือมีการพัฒนาของสมองที่ช้ากว่าปกติในระยะยาวได้
การดูแลรักษาในคุณแม่ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะนี้ทำได้ยาก ส่วนใหญ่มักจะเป็นการป้องกันและเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดกับทารก และรีบให้คลอดทันทีเมื่อทารกมีการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติหรือมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในครรภ์
นอกจากนี้คุณแม่ต้องมาฝากครรภ์บ่อยครั้งกว่าปกติ แพทย์จะตรวจอัลตราซาวด์เพื่อประเมินการเจริญเติบโตของลูกเป็นระยะ และอาจต้องตรวจด้วยวิธีพิเศษ เช่น การใช้ดอปเปลอร์ในการติดตามสุขภาพทารก คุณแม่ต้องดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มปริมาณน้ำคร่ำให้ทารก รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเท มีปริมาณออกซิเจนมากเพียงพอเพื่อส่งผลต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตามคุณหทัยกาญจน์ไม่ควรกังวลมากเกินไป เมื่อแพทย์พบความผิดปกติก็จะยุติการตั้งครรภ์ทันที และคุณหทัยกาญจน์ต้องไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อตรวจหาภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดกับทารกได้ในช่วงใกล้คลอดค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก