x close

ภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ควบคุมได้

เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์

ภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ดูแลและควบคุมได้เพื่อสุขภาพครรภ์
(momypedia)

          คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หลายท่านคงเคยได้ยินเกี่ยวกับภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์กันมาบ้างแล้ว และคงไม่อยากให้ตัวเองเป็น เพราะไม่อยากใช้ยาและกลัวถึงผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูกน้อยในครรภ์ สำหรับคุณแม่บางรายอาจตรวจพบแล้วว่าตัวเองเป็นเบาหวาน ก็ไม่ต้องกังวลไปนะครับ การดูแลตัวเองและควบคุมระดับน้ำตาล ร่วมกับการพบคุณหมอตามนัดอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้คุณแม่ตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย

          เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes) คือ เบาหวานที่ตรวจพบครั้งแรกขณะตั้งครรภ์ โดยส่วนมากจะพบขณะตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2-3 คือ ช่วงประมาณ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งจะพบได้ประมาณ 2% ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด

          สาเหตุของการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ส่วนหนึ่งก็จะคล้ายๆ กับสาเหตุของการเกิดเบาหวานทั่วไป ได้แก่

         การมีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน

         อายุที่เพิ่มขึ้น โดยคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไปจะมีความเสี่ยงมากขึ้น

         ความอ้วน (ดัชนีมวลกายหรือ BMI มากกว่า 25 กก./ตร.ม.)

         มีประวัติความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง

          ส่วนสาเหตุที่แตกต่างจากคนที่เป็นเบาหวานอยู่แล้วก็คือ การตั้งครรภ์เองจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหลายชนิดที่เพิ่มขึ้น เช่น growth hormone, steroid hormone ซึ่งออกฤทธิ์ต้านอินซูลิน จึงทำให้คุณแม่มีน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นและเป็นเบาหวานได้ในที่สุด

          ทั้งนี้คุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการบ่งบอกของโรค จะทราบก็ต่อเมื่อเข้ามารับการตรวจคัดกรอง โดยสูตินรีแพทย์จะเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงและกำหนดเวลาที่ควรตรวจคัดกรองเบาหวาน ในคุณแม่บางรายที่มีความเสี่ยงมาก ๆ เช่น มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน มีน้ำหนักเกินตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หรือมีอายุ 30-35 ปี ก็อาจได้รับการตรวจคัดกรองตั้งแต่ครั้งแรกที่มาฝากครรภ์ ส่วนคุณแม่ที่มีความเสี่ยงไม่มากนักก็อาจได้รับการตรวจคัดกรองตามเวลาที่มีโอกาสเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น เช่น ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป หรือในช่วง 24-28 สัปดาห์ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณแม่ควรรีบพบคุณหมอและฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ เพื่อคุณหมอจะได้ดูแลและตรวจวินิจฉัยอย่างใกล้ชิด

          สำหรับการตรวจคัดกรอง ในเบื้องต้นคุณหมอจะใช้การตรวจที่เรียกว่า การรับประทานน้ำตาล 50 กรัม glucose challenge test ซึ่งไม่จำเป็นต้องอดอาหารมาก่อน แล้วเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาล ถ้าได้ค่าเกิน 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าผิดปกติ ต้องทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธี glucose tolerance test (GTT) โดยการรับประทานน้ำตาลขนาด 75 กรัม หรือ 100 กรัม แล้วตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานน้ำตาล 1 ชั่วโมง 2 ชั่วโมง และ 3 ชั่วโมง ถ้าค่าที่ได้สูงเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดก็จะวินิจฉัยได้ว่าคุณแม่ท่านนั้นเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์

          เมื่อคุณแม่ได้รับการวินิจฉัยแน่ชัดว่าเป็นเบาหวาน ต้องทำการรักษา โดยการรักษาลำดับแรกคือการควบคุมอาหาร (แต่ไม่ใช่การอดอาหาร) โดยลดการรับประทานอาหารประเภทแป้งและหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น ขนมหวาน น้ำอัดลม ข้าวเหนียว นมเปรี้ยว โยเกิร์ตที่มีรสหวาน น้ำผลไม้ เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้จะมีนักโภชนาการหรือนักกำหนดอาหารให้คำแนะนำคุณแม่เกี่ยวกับสัดส่วนของอาหารที่เหมาะสม ทั้งนี้พบว่าคุณแม่ส่วนใหญ่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วยการควบคุมอาหารโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา

          นอกเหนือจากนี้ สิ่งที่คุณแม่ต้องทำควบคู่กับการควบคุมอาหาร คือ การตรวจวัดระดับน้ำตาลด้วยตนเองอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน คือ หลังรับประทานอาหาร 1 ชั่วโมงหรือ 2 ชั่วโมง (ตามที่คุณหมอกำหนด) โดยระดับน้ำตาลที่เหมาะสมได้แก่หลังรับประทานอาหาร 1 ชั่วโมงไม่ควรเกิน 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมงไม่ควรเกิน 120 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

          สำหรับคุณแม่ที่ใช้การควบคุมอาหารแต่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ก็จำเป็นต้องรักษาด้วยยา โดยการรักษามาตรฐานในปัจจุบัน ได้แก่ การใช้อินซูลินแบบฉีด ซึ่งมีข้อมูลว่าสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในคุณแม่ตั้งครรภ์ เนื่องจากอินซูลินมีขนาดโมเลกุลใหญ่ ไม่สามารถผ่านรกไปถึงลูกได้ นอกจากนี้ เข็มที่ใช้ในการฉีดอินซูลินยังมีขนาดเล็ก ไม่ทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บและไม่ถึงตัวลูกในครรภ์อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม คุณแม่ต้องใช้อินซูลินให้ถูกต้องเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำและพบคุณหมอตามนัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อปรับขนาดยาให้ถูกต้อง ในกรณีที่คุณแม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาชนิดรับประทาน ก็มียาบางชนิดที่มีการศึกษาว่าสามารถใช้ได้ แต่ยังมีการศึกษาไม่มากนัก ซึ่งคุณหมอจะพิจารณาถึงความเหมาะสมเป็นราย ๆ ไป

          จะเห็นได้ว่า การควบคุมอาหารมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพราะฉะนั้นคุณแม่จึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารในขณะตั้งครรภ์ เพื่อลดความเสี่ยงต่าง ๆ จากระดับน้ำตาลในเลือดสูงที่อาจเกิดขึ้นกับทั้งคุณแม่และลูกน้อย เช่น ลูกตัวโต คลอดยาก คลอดก่อนกำหนด คุณแม่และลูกได้รับบาดเจ็บระหว่างคลอด เป็นต้น เพื่อให้คุณแม่ตั้งครรภ์และคลอดลูกน้อยออกมาได้อย่างปลอดภัยที่สุด







ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ควบคุมได้ อัปเดตล่าสุด 2 ธันวาคม 2556 เวลา 15:02:25 67,577 อ่าน
TOP