เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ว่ากันว่าแม่และลูกนั้นผูกพันนับแต่วินาทีแรกที่รู้ว่ามีเขาอยู่ในท้อง และความผูกพันก็จะยิ่งพัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อลูกน้อยเติบโต โดยเฉพาะช่วงแรกคลอดที่คุณแม่เป็นคนที่ได้ใกล้ชิดเขามากที่สุด แม้ว่าตัวเขาเองจะยังไม่รู้เรื่องราวอะไร แต่การแสดงความรักความผูกพันกับเจ้าตัวเล็กก็จะส่งผลดีต่อลูกน้อยแน่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นทำให้ลูกน้อยเป็นทารกที่อารมณ์ดี ไม่ขี้แงโยแย ไม่เครียด ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการของหนูน้อยอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ถ้าคุณแม่ยังไม่รู้ว่าจะหาวิธีสานสายใยแนบแน่นกับลูกน้อยอย่างไร กระปุกดอทคอมมีคำแนะนำมาฝากถึง 7 ข้อดังนี้เลยค่ะ
1. มีบอดี้คอนแทค สัมพันธ์ชิดใกล้ให้กายต้องกัน
หนึ่งในการสานสัมพันธ์ที่ดีที่สุดกับลูกน้อยก็คือผ่านการสัมผัสกันทางกาย อย่างน้อยที่สุดขอให้ได้โอบอุ้มหอมกอดลูกน้อย 2 ครั้งต่อหนึ่งวัน (แต่ก็มั่นใจว่าคุณแม่เกินครึ่ง ทำได้บ่อยครั้งกว่านี้แน่ ๆ ใช่ไหมจ๊ะ) การโอบกอดอุ้มแนบกายยามให้นมก็จัดเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการสัมผัสผ่านผิวกายด้วย แต่ทั้งนี้ก็อย่าลืมแบ่งให้คุณพ่อได้อุ้มได้ใกล้ชิดลูกด้วยนะคะ เด็กจะได้รู้สึกผูกพันกับคุณพ่อคุณแม่เท่า ๆ กัน
2. ผูกหรือห่อลูกน้อยไว้กับตัว
คุณพ่อคุณแม่ย่อมรู้สึกอุ่นใจกว่าหากลูกน้อยอยู่ในสายตาตลอดเวลา และคงไม่มีอะไรดีไปกว่าได้ห่อตัวเจ้าหนูหรือผูกลูกไว้แนบตัว ด้วยอุปกรณ์ช่วยอุ้มทารกทั้งหลาย (babywearing) ที่นอกจากจะให้คุณได้ใกล้ชิดแนบแน่นกับลูกตลอดเวลาขณะที่มือก็ยังว่างสำหรับทำกิจกรรมอย่างอื่นแล้ว ยังสามารถช่วยลดความเสี่ยงของภาวะ SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) หรือภาวะการเสียชีวิตของทารกขณะนอนหลับ เพราะลูกจะอยู่ในความดูแลใกล้ชิดจากคุณตลอดเวลา
3. ผูกพันชิดใกล้ในยามให้นม
หากคุณเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ เวลาดูดนมของลูกก็จะเป็นช่วงเวลาประสามสัมพันธ์ทางกายอย่างแนบแน่นสุด ๆ ไปเลย แต่ถึงแม้ว่าคุณแม่จะเลี้ยงโดยให้ลูกดูดจากขวดนม ก็ยังสามารถทำช่วงเวลานี้ให้เป็นช่วงเวลาสานสายใยได้ โดยแทนที่จะให้ลูกถือขวดนมนดูดเอง เปลี่ยนเป็นคุณถือขวดนมให้ลูกตลอดจนกว่าลูกจะดูดหมดแทน วิธีนี้ก็ช่วยให้คุณได้มีเวลาใกล้ชิดแนบแน่นกับลูกน้อยเพิ่มขึ้นอีกค่ะ
4. นอนร่วมเตียงกับเจ้าหนู
แม้จะยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า แท้จริงแล้วการให้เจ้าตัวเล็กนอนร่วมเตียงด้วยนั้นเหมาะสมหรือไม่ แต่ถึงอย่างไรก็ยืนยันได้เลยว่าวิธีนี้ช่วยให้คุณได้ชิดใกล้กับลูกน้อยมากขึ้นอีกนิด อย่างไรก็ดี หากคุณแม่จะแชร์เตียงกับลูกจริง ๆ ก็อย่าลืมปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อความปลอดภัยของลูกอย่างเคร่งครัดด้วยนะคะ
5. เรียนรู้ความหมายจากเสียงร้องของลูก
การเติมเต็มความต้องการของเจ้าหนูก็เป็นหนทางให้คุณแม่ได้สร้างความผูกพันกับลูกได้ และจะมีวิธีไหนดีไปกว่าการที่คุณเรียนรู้ได้ว่าแต่ละเสียงร้องของลูกนั้นมีความหมายว่าอย่างไร เด็กเล็ก ๆ แม้จะยังสื่อสารเป็นคำพูดไม่ได้ แต่การอ้อแอ้ รวมทั้งการร้องไห้ของเขาล้วนบ่งบอกได้ถึงอารมณ์และความต้องการที่แตกต่างกัน เช่น ร้องเพราะหิว ร้องเพราะไม่สบายตัว ร้องเพราะง่วงนอน ฯลฯ การเรียนรู้ที่จะแปลความหมายแต่ละเสียงร้องของเจ้าหนูได้ ก็จะทำให้คุณแม่เข้าใจเขาได้มากขึ้นค่ะ
6. นวดตัวให้หนูน้อย
การสัมผัสทางกายช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคุณแม่กับคุณลูกได้ดี นอกจากการอุ้มลูกแล้ว การนวดตัวให้เจ้าตัวเล็กก็เป็นวิธีกระชับความผูกพันได้ดีอีกทางหนึ่งด้วยค่ะ โดยสิ่งที่คุณต้องการก็เพียงแค่เบบี้ออยล์หรือโลชั่นสำหรับเด็ก เพื่อช่วยให้นวดตัวลูกได้อย่างนุ่มนวลลื่นมือ จากนั้นก็บีบนวดเบา ๆ ไปตามแขน ขา อก และหลังของลูกเบา ๆ โดยคุณแม่สามารถเรียนรู้วิธีการนวดสัมผัสตัวลูกน้อยที่ถูกวิธีได้จากกุมารแพทย์ของคุณ
7. จัดสรรเวลาชีวิตครอบครัว ส่วนตัว และการงานให้ลงตัว
ช่วงแรกคลอดเป็นช่วงที่คุณแม่ยุ่งมากที่สุด เพราะไหนจะต้องทุ่มเวลาให้กับการเลี้ยงลูก งานบ้านก็ยังต้องดูแล และบางคนอาจต้องรับผิดชอบเรื่องงานส่วนตัวด้วย ตารางชีวิตที่แน่นขนาดนี้อาจทำให้คุณแม่เครียดเอาได้ง่าย ๆ และมันจะส่งผลถึงลูกน้อยด้วย เพราะแม้จะเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ แต่เขาก็สามารถรับรู้ความรู้สึกของแม่ซึ่งเป็นคนที่อยู่ใกล้ชิดเขาที่สุดได้ หากแม่เครียด ลูกก็จะพลอยเครียดตาม อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกแย่ลงหรือพัฒนาได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร เพราะฉะนั้นคุณแม่ต้องจัดสรรแบ่งเวลาชีวิตของตัวเองให้ดี ไม่ให้ตึงเกินไป จะได้ไม่วุ่นวายหัวปั่นจนทำให้เครียดเอานะคะ
ความรักความผูกพันที่คุณมอบให้จะหล่อหลอมให้เขาเติบโตขึ้นเป็นเด็กที่มีสุขภาพจิตแจ่มใส มีพัฒนาการด้านอารมณ์และสติปัญญาที่ดี และจะเติบโตมาเป็นเด็กที่อ่อนโยนน่ารักแน่นอนเลยล่ะ