5 สัญญาณพัฒนาการลูกผิดปกติ (รักลูก)
เรื่อง : เมธาว
พัฒนาการลูกวัย 0-1 ปี เป็นช่วงที่คุณพ่อคุณแม่จะตื่นเต้นมาก เมื่อได้เห็นพัฒนาการใหม่ ๆ ของลูก เช่น ลูกพลิกตัวได้แล้ว ลูกนั่งได้แล้ว ลูกคลานแล้ว ลูกยืนได้แล้ว ฯลฯ แต่ก็มีบางพัฒนาการ ที่หมายถึงอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกต จะได้แก้ไขได้ทันค่ะ
1. ยิ้ม
พัฒนาการ 0 - 3 เดือน
เด็ก ๆ ยิ้มได้ตั้งแต่แรกเกิด แต่ยิ้มในช่วงแรกเกิด-3 เดือนจะเป็นยิ้มที่ไม่มีความหมาย เกิดขึ้น เนื่องจากเด็กยังควบคุมกล้ามเนื้อปาก กล้ามเนื้อบนใบหน้าได้ไม่ดีนัก และเป็นปฏิกิริยากล้ามเนื้ออย่างหนึ่งในเด็กทารก
หลัง 3 เดือน เด็ก ๆ จะเริ่มยิ้มแบบสื่อความหมายมากขึ้น เป็นการยิ้มเพื่อตอบสนองทางอารมณ์ และตอบสนองเชิงสังคม (Social smile) เริ่มมีการเรียนรู้ที่จะยิ้มเพราะรู้สึกพอใจ มีความสุข กินอิ่มนอนหลับสบาย ได้รับการสนองตอบทางอารมณ์ที่ดีถึงยิ้ม และยิ้มให้คนคุ้นเคย เช่น คุณแม่ เพื่อสื่อความหมายว่า เขารู้สึกดีกับคุณแม่หรือคนที่พบเห็นด้วย
ดังนั้น การยิ้มของลูกจึงเป็นสัญญาณบอกว่าลูกมีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดี ได้รับความรักและการตอบสนองที่ดีจากคุณพ่อคุณแม่ จะทำให้มีความมั่นคงทางอารมณ์ ร่าเริงแจ่มใส เป็นเด็กน่ารักของทุก ๆ คน
ถ้าลูกไม่ยิ้ม...หลัง 3 เดือนไปแล้ว ถ้าคุณพ่อคุณแม่หรือมีคนอื่นมาเล่นด้วย แต่ลูกกลับไม่ยิ้มหรือร้องไห้งอน อาจเกิดจากไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร หรือเกิดความกลัวอะไรบางอย่าง ทำให้รู้สึกไม่ไว้ใจคนรอบข้าง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตว่าลูกกลัวอะไร ไม่ยิ้มแล้วร้องไห้เพราะอะไร แล้วกำจัดสิ่งนั้นทิ้งไป เพราะถ้าปล่อยไว้เด็ก ๆ จะเติบโตมามีนิสัยก้าวร้าว ขี้กลัว ไม่มั่นใจในตนเอง และไม่ช่วยเหลือผู้อื่นได้ค่ะ
2. พลิกคว่ำ พลิกหงาย
พัฒนาการ 4 - 6 เดือน
เด็ก ๆ เริ่มพลิกตัวเมื่ออายุประมาณ 4 - 6 เดือน และเริ่มมีการพลิกคว่ำได้ดี ชันคอได้ดี เพราะช่วงวัยนี้กล้ามเนื้อส่วนกลางของลำตัวเริ่มแข็งแรง กล้ามเนื้อคอเริ่มมีความแข็งแรงเมื่อพลิกตัวคว่ำจะสามารถชันคอได้ และเริ่มพลิกตัวหงายได้เอง เวลาอุ้มนั่ง อุ้มพาดบ่าคอจะตั้งตรงได้ ไม่ว่าจะอุ้มลูกท่าไหน ลำคอก็จะยังคงตั้งตรงชูคอหันไปมาได้
ถ้ายังชันคอไม่ได้...ลูกน้อยอายุ 6 เดือนขึ้นไป ยังชันคอไม่ได้ เวลาคุณแม่อุ้มแล้วคอยังเอียงไปเอียงมา ต้องคอยจับอยู่ตลอด อาจเป็นสัญญาณบอกว่ากล้ามเนื้อมีปัญหา หรืออาจมีปัญหาเรื่องสมองอ่อนแรง ที่ส่งผลให้พัฒนาการกล้ามเนื้อล่าช้าไปด้วย
3. ลุกนั่ง
พัฒนาการ 7 - 9 เดือน
ช่วงวัยนี้ลูกน้อยจะเริ่มลุกนั่งได้เอง โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องคอยประคองแล้ว เริ่มยันแขนหมุนตัวเองให้นั่งได้ กล้ามเนื้อแขน กล้ามเนื้อหลัง คือกล้ามเนื้อมัดใหญ่มีความแข็งแรง และโน้มตัวไปหยิบจับของเล่นที่อยู่ตรงหน้าได้ มีการทรงตัวได้ดีมากขึ้น
ในช่วงเริ่มนั่งได้ใหม่ ๆ คุณแม่ควรจะหาเบาะหรือหาหมอนมาวางไว้ด้านหลัง และรอบ ๆ ตัว เพื่อป้องกันเวลาลูกหงายหลัง หรือทิ้งตัวนอนจะได้ไม่เกิดการบาดเจ็บขึ้น นอกจากนี้ การนั่งหลังตรงยังเป็นการฝึกการทรงตัวที่ดี ทำให้ลูกคลานได้ดีด้วย
ถ้านั่งเองไม่ได้...ถ้าลูกน้อยอายุ 9 เดือน แล้วยังลุกนั่งเองไม่ได้ อาจเป็นสัญญาณบอกว่ากล้ามเนื้อมัดใหญ่บริเวณหลังอาจเกิดความผิดปกติ อาจมีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง และจะส่งผลต่อพัฒนาการขั้นอื่นต่อไป
4.ใช้มือหยิบของเอง
พัฒนาการ 7 - 9 เดือน
ช่วงวัยนี้ ลูกน้อยจะหยิบจับหรือคว้าสิ่งของได้แม่นยำมากขึ้น ควบคุมนิ้วมือเล็ก ๆ ให้จับของได้มั่นคง เปลี่ยนสลับมือถือของ และถือของได้ 2 มือ คุณแม่ลองหาของเล่นที่เขาชอบแล้วยื่นให้เขาฝึกใช้มือหยิบของจากมือคุณแม่ แล้วเปลี่ยนสลับมือถือ หรือหยิบของจากพื้นยื่นให้คุณแม่ เป็นการทำให้นิ้วมือมีการทำงานดี และหาของเล่นหลาย ๆ รูปทรงที่มีพื้นผิวต่างกัน นุ่มบ้าง แข็งบ้าง ให้ลูกน้อยได้หยิบจับเล่น เป็นการเรียนรู้เรื่องระบบประสาทสัมผัสที่ดี
ถ้ายังหยิบจับของเล่นเองไม่ได้...ถ้าลูกหยิบของเล่นแล้วหล่น หรือมือไม่มีแรงหยิบอาจเป็นเพราะกล้ามเนื้อมือยังไม่แข็งแรงพอ ลองหาของเล่นนิ่ม ๆ ให้เขาบีบจับบ่อย ๆ เพื่อเป็นการบริหารกล้ามเนื้อมือให้แข็งแรงขึ้น
5.เกาะยืน
พัฒนาการ 9 - 10 เดือน
ช่วงนี้ลูกน้อย จะเริ่มเหนี่ยวตัวเองเกาะสิ่งของที่อยู่รอบตัว แล้วยกตัวเองขึ้นมาเกาะยืนและค่อย ๆ เกาะเดิน จะเป็นช่วงล้มลุกคลุกคลาน คือยืนได้เอง เดิน 2-3 ก้าวแล้วล้มนั่ง แบบนี้ไม่เป็นไร เป็นพัฒนาการที่เขากำลังจะเดิน คุณแม่ควรจัดระเบียบของในบ้านให้เรียบร้อย มีพื้นที่โล่ง และเพื่อความปลอดภัย โต๊ะที่มีมุมแหลมควรหาผ้าหรือที่กันมุมมาปิดไม่ควรมีเก้าอี้ที่มีล้อเลื่อน เพราะถ้าเด็ก ๆ เกาะยืนแล้วเก้าอี้เกิดเลื่อนอาจจะทำให้ลูกน้อยล้มบาดเจ็บและเกิดอาการกลัวไม่กล้าเกาะยืนอีกได้
ถ้ายังไม่ลุกยืน...ในช่วง 9-10 เดือน ถ้าลูกยังไม่ลุกยืนอาจจะยังไม่ผิดปกติอะไรมาก เพราะพัฒนาการช่วงนี้เด็กแต่ละคนจะช้าเร็วต่างกัน แต่ถ้าเลยขวบครึ่งไปแล้วยังไม่ยอมลุกเดิน แสดงว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นอวัยวะทำงานไม่ได้ตามที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจจะเกิดจากกล้ามเนื้อเขามีความผิดปกติ หรืออาจเกี่ยวกับระบบประสาทมีความผิดปกติเกิดขึ้น และส่งผลให้การทำงานของกล้ามเนื้อมีความผิดปกติเกิดขึ้นด้วย
ในวัยนี้ 0-1 ปี เป็นช่วงที่ลูกน้อยจะได้ไปพบคุณหมอบ่อย ๆ ดังนั้น ถ้ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับลูกของเรา ควรรีบปรึกษาคุณหมอแต่เนิ่น ๆ เพื่อจะรักษาได้ทัน ลูกน้อยจะได้เติบโตอย่างมีพัฒนาการดีตามวัยค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 31 ฉบับที่ 368 กันยายน 2556