x close

โบกมือลา เหี่ยว หลังคลอด



โบกมือลา “เหี่ยว” หลังคลอด (รักลูก)
เรื่อง : สิริพร

          "ในช่วงหลังคลอดนี้ คุณแม่ควรเลือกการออกกำลังกายที่เน้นการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ๆ เช่น โยคะ พิลาทิส หรือการเดินโดยเฉพาะคุณแม่ที่ผ่าคลอดจะต้องรอจนครบ 1 เดือน หรือให้แผลผ่าตัดสมานกันสนิทแล้วจึงเริ่มออกกำลังกายได้ตามปกติค่ะ"

เหี่ยว ส่วนไหนบ้าง

          หลังคลอดคุณแม่อาจมีภาวะหย่อนคล้อยตามส่วนต่าง ๆ เพราะผิวหนังและกล้ามเนื้อขยายตัวมาดูกันค่ะว่ามีส่วนไหนบ้างที่ต้องตั้งรับ

       1. เต้านมหย่อนคล้อย ช่วงหลังคลอด เต้านมจะขยายใหญ่มากขึ้น ทั้งตึงและคัดตลอดการให้นม เมื่อคุณแม่หยุดให้นม เต้านมจะหย่อนคล้อยอย่างชัดเจน เนื่องจากขณะให้นมผิวเต้านมถูกยืดขยายอย่างมาก

       2. หน้าท้องหย่อนคล้อยเป็นชั้น ๆ ขณะตั้งครรภ์มีการยืดขยายของหน้าท้องอย่างมาก และรวดเร็วหลังจากเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 เพราะมีการยืดขยายของมดลูกจากขนาดของทารกที่ใหญ่ขึ้น ยิ่งทารกมีน้ำหนักตัวมาก ผิวหนังหน้าท้องก็ยิ่งยืดขยายมาก หลังจากคุณแม่คลอดลูก มดลูกจะหดตัวลงจนยอดมดลูกลงมาในระดับต่ำกว่าสะดือ ผิวหนังที่เคยยืดก็หดกลับอย่างรวดเร็ว ความเหี่ยว หย่อนคล้อย จึงเห็นได้อย่างชัด เช่น เห็นพุงเป็นชั้น ๆ อย่างน่าตกใจเลยล่ะค่ะ

       3.ต้นขาใหญ่ ไม่กระชับ ด้วยอิทธิพลของฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์ทำให้เซลล์อมน้ำ น้ำหนักตัวขึ้น ผิวตามตำแหน่งสะโพก ต้นขา จะยืดขยายอย่างมาก และอย่างรวดเร็ว หลังคลอดจึงมีลักษณะคล้อยเหี่ยวเป็นชั้น ๆ โดยเฉพาะต้นขาด้านหลังค่ะ

       4.ต้นแขนหย่อนเป็นคลื่น เพราะน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น แถมยังบวมทิ้งทวนช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนคลอด และ 2 สัปดาห์แรกหลังคลอดอีกด้วย ทำให้คุณแม่มีต้นแขนล่ำบึ้กมาก แต่หลังคลอดน้ำหนักจะเริ่มลดลง การบวมก็ลดลงอย่างรวดเร็วค่ะ จึงเกิดการเหี่ยวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนท้องแขน จนคุณแม่ไม่กล้ายกแขนขึ้นโบกมือเลยทีเดียว

       5.หน้าเหี่ยวหลังคลอด อะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับใบหน้าจริงมั้ยคะ ผลของฮอร์โมนไม่เพียงทำให้เกิดฝ้าช่วงตั้งครรภ์ และหลังคลอด หน้าที่บวมดตึงมากช่วงตั้งครรภ์ เมื่อยุบบวม ทำให้ไขมันที่คั่งค้างยังคงอยู่ และย้อยเป็นถุงอยู่ข้างคางน่าตกใจไม่น้อยเลยค่ะ

        เอาล่ะ เมื่อความเหี่ยวเป็นผลพวงจากการตั้งครรภ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็สามารถแก้ไขและป้องกันได้นะคะ

แบบนี้...ต้องพึ่งคุณหมอ

          กรณีที่ความเหี่ยวเกินเยียวยาด้วยตัวเอง คุณแม่อาจต้องพึ่งคุณหมอและเครื่องมือบ้าง ซึ่งปัจจุบันจึงมีการนำเครื่องมือ เช่น ใช้คลื่นเสียงความถี่สูง หรือใช้ความร้อนกระตุ้นการสลายไขมัน และลดการสร้างเซลลูไลท์ ช่วยให้ผิวหน้าท้องดีขึ้น แต่ก็ควรทำควบคู่กับการดูแลตนเอง เพื่อผลที่ยั่งยืนมีสุขภาพที่ดีไปนาน ๆ ค่ะ

6 วิธี...แก้เหี่ยวหลังคลอด

        1. เน้นกินโปรตีนขณะตั้งครรภ์ น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นเป็นที่มาของปัญหาอย่างหนึ่งค่ะ คุณแม่ที่ชาญฉลาดย่อมควบคุมน้ำหนักให้ขึ้นอย่างพอดี ตั้งแต่ในไตรมาสที่ 2 ควรให้ขึ้นสัปดาห์ละ 0.5 กก. และควรเลือกให้ส่วนที่ขึ้นนั้นเป็นโปรตีนมากกว่าคาร์โบไฮเดรต เพราะเมื่อน้ำหนักพุ่งกระฉูด แล้วลดลงอย่างรวดเร็วหลังคลอด ความเหี่ยวจะมาเยือนแน่นอน

        2. ฟิตเต้านมให้เต่งตึง
เต้านมคล้อยหลังคลอด สามารถบริหารได้เองง่าย ๆ ดังนี้

       ถือ weight น้ำหนักประมาณ 1 กก. ที่มือทั้ง 2 ข้าง

       ยืนตัวตรง กางขาออกเล็กน้อยให้กว้างพอ ๆ กับไหล่ทั้ง 2 ข้าง

       กางแขนออก 2 ข้างเหยียดตึง แล้วตึงแขนเข้าหาตัวคล้าย ๆ ทำท่ากอด โดยให้แขนซ้ายอยู่บน จากนั้นกางแขนออกทั้งสองข้างโดยหลังยังตรงอยู่ และดึงแขนเข้าทำท่ากอดอีกครั้ง

       สลับเป็นแขนขวาอยู่บน ทำสลับกัน 2 ข้าง นาน 10-15 นาที ทุกวัน ก็จะช่วยให้เต้านมที่หย่อนคล้อยกลับมากระชับได้ค่ะ

        3. บริหารหน้าท้อง
คุณแม่สามารถบริหารหน้าท้องง่าย ๆ หลังคลอดดังนี้

       อยู่ในท่านอนมือวางแนบข้างลำตัว ยกศีรษะขึ้น คางชิดอกแล้ว เกร็งหน้าท้อง นับ 1-5 ในใจ แล้วจึงวางศีรษะลง

       บริหาร 30 ครั้ง เช้าเย็น หน้าท้องที่หย่อนคล้อยก็จะดีขึ้นได้

        4. นอนหงายกระชับต้นขา
การกระชับต้นขา สามารถทำได้ในท่านอนหงายเช่นกันค่ะ โดยทำท่าดังนี้

       วางแขนแนบข้างลำตัว ยกขาขึ้นตรงชี้ฟ้าทีละข้าง แล้วเกร็งต้นขาไว้ นับ 1-5 แล้ววางลง

       ทำทีละข้าง จนครบ 30 ครั้ง

        5. ยก weight ลดต้นแขน
ต้นแขนเป็นส่วนที่น่ากังวลไม่น้อยค่ะ อาจทำให้ไม่กล้าใส่เสื้อแขนกุดได้ค่ะ โดยทำท่าดังนี้

       ถือ weight น้ำหนัก 1 กก. กำด้วยมือ 2 ข้าง ยกเหยียดตรงขึ้นเหนือศีรษะ แล้วงอข้อศอก ไขว้มือทั้ง 2 ข้างที่กำ weight ไปด้านหลังศีรษะ

       ยกขึ้นลงสัก 30 ครั้ง โดยยืดตำแหน่งข้อศอกไว้ตรงข้างหูทั้งสองข้างเสมอ

        6. หน้าเหี่ยวป้องกันได้
เราสามารถป้องกันหน้าหย่อนคล้อยได้ ตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์ค่ะ โดยการดูแลให้ผิวพรรณกระชับชุ่มชื้นอยู่เสมอ ขณะตั้งครรภ์ด้วยการทาครีมบำรุงผิว เพราะการเหี่ยวย่นบนใบหน้าส่วนหนึ่งมาจากการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อบนใบหน้าที่มากเกินไป ที่สำคัญอย่าเครียดนะคะ เพราะเวลาที่เราทำหน้าย่น คิ้วขมวดบ่อย ๆ ก็จะยิ่งทำให้หน้าเหี่ยวค่ะ

         เพียงเท่านี้การดูแลลูกและฟิตหุ่นไปด้วย ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ใช่ไหมคะ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 31 ฉบับที่ 368 กันยายน 2556


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โบกมือลา เหี่ยว หลังคลอด อัปเดตล่าสุด 18 ตุลาคม 2556 เวลา 15:06:14 42,716 อ่าน
TOP