12 เรื่องตั้งครรภ์ จริงหรือไม่จริง

ตั้งครรภ์

12 เรื่องตั้งครรภ์ “จริงหรือไม่” (modernmom)
เรื่อง : นพ.ตรีภพ เลิศบรรณพงษ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลศิริราช

          เมื่อคุณแม่มาฝากครรภ์ มักจะมีคำถามมาถามผมอยู่เสมอ บางคำถามเกิดขึ้นจากความเชื่อ ขณะที่บางคำถามเป็นเรื่องของความไม่รู้หรือความเข้าใจผิด

          12 คำถาม "จริงหรือไม่" ที่คุณแม่จะได้อ่านต่อจากนี้ เป็นส่วนหนึ่งของคำถามที่ผมมักจะได้รับจากคุณแม่เป็นประจำ จึงคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ หากได้นำมาเผยแพร่ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อคุณแม่จะได้ตั้งครรภ์ได้อย่างมีความสุข

1. เมื่อรู้ว่าท้องต้องรีบไปฝากครรภ์

          จริง : เมื่อคุณแม่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์แล้ว แนะนำให้รีบไปฝากครรภ์ทันที เนื่องจากการฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ ทำให้คุณหมอซักประวัติ ตรวจร่างกาย รวมทั้งตรวจคัดกรอง และค้นหาความเสี่ยงที่พบบ่อยขณะตั้งครรภ์ได้ เช่น การตรวจคัดกรองภาวะซีดและพาหะโรคธาลัสซีเมีย การตรวจคัดกรอง เบาหวาน ขณะตั้งครรภ์ การตรวจยืนยันอายุครรภ์ที่แน่นอน รวมทั้งการตรวจคัดกรองทารกดาวน์ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก จะยิ่งมีความเสี่ยงต่าง ๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ

2. ดูแลน้ำหนัก ช่วยป้องกันท้องลาย

          จริง : หน้าท้องลายขณะตั้งครรภ์เป็นผลจากการยืด และขยายตัวอย่างรวดเร็วของผนังหน้าท้องเนื่องจากคุณแม่ปล่อยให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากเกินพอดี และเมื่อท้องลายเกิดขึ้นแล้วจะไม่หายไป แต่อาจจางลงได้ภายหลังคลอด ดังนั้นการควบคุมน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ให้พอดีจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันภาวะนี้

3. เมื่อรู้ว่าท้อง คุณแม่ต้องรีบกินยาบำรุงเลือดตั้งแต่ไตรมาสแรก เพื่อบำรุงลูกในท้อง

          ไม่จริง : คุณแม่ที่ตั้งครรภ์มักจะมีอาการแพ้ท้องในไตรมาสแรก จึงไม่เหมาะสมที่จะรับประทานยาบำรุงเลือดตั้งแต่แรก เพราะยาบำรุงเลือดมีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะอาหารและทำให้อาการแพ้ท้องแย่ลงไปอีก ดังนั้นคุณหมอส่วนใหญ่มักจะเริ่มให้คุณแม่รับประทานยาบำรุงเลือดหลังผ่านพ้นระยะแพ้ท้องไปแล้ว

          อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายขณะตั้งครรภ์มักทำให้คุณแม่ส่วนใหญ่มีความเข้มข้นของเลือดต่ำ ลงเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ส่งผลให้คุณแม่บางคนเกิดภาวะซีดและเสี่ยงต่อภาวะตกเลือดหลังคลอดได้ ดังนั้นคุณหมอ จึงมักจะให้คุณแม่รับประทานยาบำรุงเลือดอย่างต่อเนื่องไปจนกระทั่งคลอดเพื่อป้องกันภาวะซีดในคุณแม่นั่นเอง

4. การผ่าตัดคลอดดีกว่า การเบ่งคลอดเอง ตามธรรมชาติ

          ไม่จริง : ธรรมชาติกำหนดให้คุณแม่ตั้งครรภ์คลอดเองได้ทางช่องคลอด ดังนั้นการคลอดเองตามธรรมชาติจึงมีความปลอดภัยและภาวะแทรกซ้อนต่อทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์น้อยกว่าการผ่าตัดคลอด นอกจากนี้การฟื้นตัวของคุณแม่ภายหลังคลอดรวมทั้งความสามารถในการให้นมบุตรของคุณแม่ที่คลอดเองตามธรรมชาติก็ดีกว่า การผ่าตัดคลอดเพิ่มความเสี่ยงให้กับคุณแม่และทารกที่เกิดมาหลายประการ เช่น การติดเชื้อที่แผลผ่าตัด การเสียเลือดมากกว่าปกติภายหลังคลอด ทารกมักหายใจเร็วและต้องสังเกตอาการหลายวันภายหลังคลอด เป็นต้น นอกจากนี้คุณแม่ที่เลือกผ่าตัดคลอดเพื่อเอาฤกษ์ ต้องพิจารณาอายุครรภ์เมื่อคลอดที่เหมาะสมโดยปรึกษากับคุณหมอที่ดูแลเพราะอาจทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดโดยไม่จำเป็น

5. เมื่อหมอบอกว่าผลตรวจอัลตร้าซาวด์ปกติ แสดงว่าลูกจะคลอดออกมาแข็งแรงดี

          ไม่จริง : การตรวจอัลตร้าซาวด์เป็นเพียงการสืบค้น เพื่อคัดกรองความผิดปกติของทารกในครรภ์เบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากการตรวจอัลตร้าซาวด์เป็นเพียงการดูเงาของทารกในครรภ์ จึงไม่สามารถมองเห็นความผิดปกติที่มีขนาดเล็กหรือซ่อนเร้นอยู่ได้ แม้ในปัจจุบันจะมีการพัฒนาไปถึงระดับการตรวจอัลตร้าซาวด์สามมิติแล้วก็ตาม วัตถุประสงค์ของการตรวจอัลตร้าซาวด์ก็เพื่อค้นหาความผิดปกติที่อาจทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตหรือไม่สามารถมีชีวิตรอดได้ภายหลังคลอด เช่น ทารกในครรภ์ที่มีการเจริญของสมองผิดปกติ หรือทารกในครรภ์ที่มีโครงสร้างของหัวใจผิดปกติชนิดรุนแรง เป็นต้น รวมถึงการตรวจหาความผิดปกติที่สามารถให้การรักษาได้ขณะตั้งครรภ์หรือเตรียมพร้อมเพื่อวางแผนการรักษาภายหลังคลอด เช่น การใช้เลเซอร์รักษาครรภ์แฝดไข่ใบเดียวกัน หรือการวางแผน เพื่อรักษาทารกที่มีผนังหน้าท้องปิดไม่สนิทภายหลังคลอด เป็นต้น

          สำหรับความแข็งแรงของทารกภายหลังคลอดนั้นเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก เนื่องจากอันตรายหรือภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในระยะคลอด อย่างไรก็ตามด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์และมาตรฐานการดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ในปัจจุบัน ทำให้คุณหมอสามารถให้การดูแล ป้องกันและรักษาภาวะแทรกซ้อนขณะคลอดได้ดียิ่งขึ้น สมกับเป้าหมายที่ว่า "ลูกเกิดรอดแม่ปลอดภัย"

6. อยากให้ลูกคลอดออกมาตัวขาวใส ไม่มีไข ต้องดื่มน้ำมะพร้าวตอนท้อง

          ไม่จริง : แม้ว่าน้ำมะพร้าวจะมีประโยชน์เพราะเป็นแหล่งของวิตามินและเกลือแร่หลายชนิด แต่ไม่ได้มีผลกับสีผิวหนังและการเกิดไขตามร่างกายของทารกในครรภ์แต่อย่างใด เนื่องจากสีผิวหนังของทารกในครรภ์เป็นผลจากพันธุกรรมของคุณพ่อคุณแม่ ขณะที่ไขตามร่างกายของทารกในครรภ์นั้นเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ ไม่ได้เป็นอันตรายใด ๆ และสามารถเช็ดออกได้หมดภายหลังคลอด

          การดื่มน้ำมะพร้าวด้วยความเชื่อดังกล่าวอาจไม่เหมาะสม เพราะแม้ว่าน้ำมะพร้าวจะมีวิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นหลายชนิด แต่ก็มีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบปริมาณมากเช่นเดียวกัน ดังนั้นหากคุณแม่ดื่มน้ำมะพร้าวมากเกินไปก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนเกิดภาวะอ้วนหรือภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้

7. ถ้าแพ้ท้องมาก ๆ จนกินอาหารได้น้อยหรือไม่ได้เลย จะเป็นอันตรายกับลูกในท้อง

          ไม่จริง : คุณแม่ส่วนใหญ่มักคิดว่าเมื่อตั้งครรภ์ต้องบำรุงด้วยการกินเยอะ ๆ เนื่องจากกลัวว่าทารกในครรภ์จะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ทำให้น้ำหนักตัวขณะตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นมากเกินพอดีและเกิดภาวะอ้วนภายหลังคลอด แม้ขณะตั้งครรภ์ ร่างกายคุณแม่จะต้องการพลังงานจากสารอหารมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ แต่ควรควบคุมให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 1.5-2 กิโลกรัมต่อเดือน หรือประมาณ 11.5-16 กิโลกรัม ตลอดการตั้งครรภ์ก็เพียงพอแล้ว และในคุณแม่ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน ควรควบคุมให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 7-11 กิโลกรัม ตลอดการตั้งครรภ์

8. ถ้ายังไม่มีน้ำเดินแสดงว่ายังไม่คลอด

          ไม่จริง :  คุณแม่หลายท่านมีความเข้าใจผิดว่าหากไม่มีน้ำเดินแสดงว่ายังไม่คลอด ในความเป็นจริงมีหลากหลายอาการที่สำคัญซึ่งจะนำไปสู่การคลอด และคุณแม่จำเป็นต้องรู้ ได้แก่

          เจ็บครรภ์ คุณแม่มักรู้สึกท้องแข็ง ปวดหลัง หรือปวดท้องคล้ายปวดประจำเดือน เป็นจังหวะสม่ำเสมอ ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน เนื่องจากมีการหดรัดตัวของมดลูกและมีความถี่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากทุก ๆ 15 นาที เป็นทุก ๆ 10 นาที และจะมีความถี่น้อยกว่า 5 นาทีเมื่อใกล้คลอด

          น้ำเดิน คุณแม่จะมีน้ำใส ๆ หรืออาจปนขี้เทาสีเขียวไหลออกมาจากช่องคลอดคล้ายปัสสาวะราด น้ำที่ไหลออกมามักมีปริมาณมากและไหลจนเลยหัวเข่าหรือไหลจนถึงพื้น น้ำเดินเกิดจากมีการหดรัดตัวของมดลูกแล้วทำให้ถุงน้ำคร่ำโป่งพองจนแตกออกคล้ายการแตกของลูกโป่งนั่นเอง

          มูกหรือมูกเลือด เป็นอาการแสดงว่ามีการเปิดของปากมดลูก กำลังจะเข้าสู่ระยะคลอดในเวลาอันใกล้

          ทั้ง 3 อาการข้างต้นเป็นอาการแสดงของการคลอดที่อาจเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันหรืออาจเกิดขึ้นเพียงอาการใด ที่อาจเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันหรืออาจเกิดขึ้นเพียงอาการใดอาการหนึ่งก็ได้ นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ที่แสดงถึงภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ซึ่งทำให้คุณแม่จำเป็นต้องคลอด เช่น อาการปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุกแน่นลิ้นปี่ ซึ่งพบบ่อยในคุณแม่ที่มีครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น

9. ถ้าแพ้ท้องมาก ๆ จนกินอาหารได้น้อยหรือไม่ได้เลย จะเป็นอันตรายกับลูกในท้อง

          ไม่จริง : อาการแพ้ท้องเป็นการเปลี่ยนแปลงตามปกติของการตั้งครรภ์และมีผลกระทบต่อสุขภาพของคุณแม่ โดยตรงเพราะอาจทำให้คุณแม่มีภาวะขาดน้ำ อ่อนเพลีย และน้ำหนักลดลงได้ ขณะที่ทารกในครรภ์นั้น ธรรมชาติได้สร้างถุงไข่แดงไว้เป็นแหล่งอาหารสำรองทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากการแพ้ท้องของคุณแม่ และอาการแพ้ท้องมักจะหายไปได้เองเมื่อผ่านพ้นไตรมาสแรกไปแล้ว ดังนั้นการรักษาอาการแพ้ท้องจึงเป็นการรักษาตามอาการเท่านั้น ไม่สามารถรักษาให้หายได้

          หากมีอาการแพ้ท้องมากจนทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ คุณแม่อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือและตรวจหาความผิดปกติที่พบบ่อย ซึ่งทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ ครรภ์แฝด หรือครรภ์ไข่ปลาอุก เป็นต้น

10. เมื่อรู้ว่าท้องคุณแม่ต้องเสริมแคลเซียมให้ลูกในท้อง

          ไม่จริง : ทารกในครรภ์ต้องการแคลเซียมเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเพื่อนำไปเสริมสร้างกระดูก และการเปลี่ยนแปลงขณะตั้งครรภ์ก็กระตุ้นให้คุณแม่มีการดูดซึมแคลเซียมจากทางเดินอาหารมากขึ้นอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเสริมแคลเซียมให้มากขี้นกว่าความต้องการปกติในแต่ละวัน คือ 1,000 มิลลิกรัมสำหรับแม่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร และ 1,300 มิลลิกรัมสำหรับคุณแม่วัยรุ่น

          สำหรับคุณแม่ที่ไม่ชอบรับประทานนม ยังมีอาหารอีกหลายประเภทที่มีแคลเซียมในปริมาณสูง เช่น โยเกิร์ต เนยแข็ง ผักใบเขียว เช่น บรอกโคลี ผักโขม กะหล่ำปลี มัสตาร์ดเขียว บ๊อกชอยหรือกะหล่ำปลีจีน ปลาซาร์ดีนหรือแซลมอนบรรจุกระป๋อง ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ นมถั่วเหลือง เป็นต้น

11. ตอนท้องไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ เพราะจะเป็นอันตรายกับลูกและการตั้งครรภ์

          ไม่จริง : การมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้เป็นข้อห้ามขณะตั้งครรภ์ สามารถกระทำได้ตามปกติแต่ต้องระวังไม่ให้รุนแรงเกินไปหรือเกิดการกดทับบริเวณหน้าท้องของคุณแม่ อย่างไรก็ตามคุณแม่บางรายจะได้รับคำแนะนำให้งดการมีเพศสัมพันธ์ขณะตั้งครรภ์ เช่น คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด การตั้งครรภ์ที่มีรกเกาะต่ำ หรือคุณแม่ที่มีประวัติการคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น ทั้งนี้คุณแม่สามารถขอคำปรึกษาเกี่ยวกับประเด็นนี้เพิ่มเติมได้จากคุณหมอที่ไปฝากครรภ์

12. ตั้งครรภ์แล้วให้คุณแม่เริ่มกินกรดโฟลิกทันทีเพื่อบำรุงครรภ์

          ไม่จริง : กรดโฟลิกมีประโยชน์ช่วยป้องกันความผิดปกติของโครงสร้างสมองและไขสันหลัง แต่ไม่มีประโยชน์ หากคุณแม่รับประทานเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์แล้ว เนื่องจากสมองและไขสันหลังของทารกในครรภ์จะเจริญเต็มที่ภายใน 4 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิ ซึ่งในระยะเวลานั้นคุณแม่ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์เพราะยังไม่ขาดประจำเดือนนั่นเอง

          ดังนั้นการรับประทานกรดโฟลิกที่ถูกต้องเพื่อป้องกันความผิดปกติของโครงสร้างสมองและไขสันหลังของทารกในครรภ์ คือ การรับประทานกรดโฟลิกขนาด 400 ถึง 800 ไมโครกรัม วันละ 1 เม็ด ตั้งแต่ 1 เดือนก่อนการตั้งครรภ์จนกระทั่งสิ้นสุดไตรมาสแรก และควรรับประทานต่อเนื่องวันละ 600 ไมโครกรัมเพื่อเสริมสำหรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ หรืออีกนัยหนึ่งคือ หากคุณแม่เตรียมตัวจะตั้งครรภ์ในระยะเวลาอันใกล้ แนะนำให้เริ่มรับประทานรกดโฟลิกเรื่อยไปจนกระทั่งทราบว่าตั้งครรภ์และกินต่อเนื่องไปตามขนาดที่แนะนำข้างต้นนั่นเอง

          หากคุณแม่ไปฝากครรภ์ อย่าลืมพูดประโยคนี้กับคุณหมอนะครับ "คุณหมอคะดิฉันมีคำถามค่ะ" จะได้ไม่กังวลใจหรือสงสัยอยู่ในใจคนเดียวไงล่ะครับ!!








ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.18 No.215 กันยายน 2556

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
12 เรื่องตั้งครรภ์ จริงหรือไม่จริง อัปเดตล่าสุด 10 ตุลาคม 2556 เวลา 14:59:36 12,128 อ่าน
TOP
x close