โรค CVS จากคอมพิวเตอร์ (รักลูก)
เรื่อง : ก้านแก้ว
เพราะเทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเราไม่เว้นแม้แต่เด็กตัวเล็ก ๆ ที่มักใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่หน้าจอสี่เหลี่ยม ซึ่งหากพ่อแม่ละเลยปล่อยให้ลูกเล่นคอมพิวเตอร์นานเกินไป...ระวัง! ลูกอาจจะเป็นโรค CVS (Computer Vision Syndrome)
ลูกสายตาสั้นเพราะคอมพิวเตอร์
งานวิจัยของประเทศได้หวันและประเทศเกาหลี พบว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมามีเด็กสายตาสั้นมากขึ้น จากการใช้คอมพิวเตอร์ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนถึง 90% ซึ่งสวนทางกับจำนวนเด็กที่ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านที่มีจำนวนลดลง การปล่อยให้เด็ก ๆ ใช้คอมพิวเตอร์ไม่เหมาะสมจะส่งผลให้เป็นโรค CVS (Computer Vision Syndrome) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้กล้ามเนื้อตา คอ บ่า ไหล่ และข้อมือ โดยใช้กล้ามเนื้อซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานาน ๆ ส่งผลให้กล้ามเนื้อตาที่เพ่งมองจอคอมพิวเตอร์ เกิดภาวะสายตาสั้นได้ ซึ่งในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี พบว่ามีสายตาสั้นจากการใช้คอมพิวเตอร์ถึง 10%
อาการของโรค CVS
เวลาที่เด็ก ๆ ใช้คอมพิวเตอร์ต้องใช้กล้ามเนื้อหลายส่วนทั้งตา คอ บ่า ไหล่ และข้อมือ โดยอาการปวดกล้ามเนื้อที่ว่าไม่ได้เป็นพร้อม ๆ กัน ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในเด็กแต่ละคนด้วยค่ะ แต่อาการโดยทั่ว ๆ ไปที่พบได้ก็คือ มีอาการปวดตา ตาพร่ามัว มองเห็นภาพไม่ชัด ตาแห้ง แสบตา และเคืองตา ซึ่งเกิดจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อตาเป็นเวลานาน ๆ ส่วนอาการของกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่และข้อมือ เป็นอาการปวดเหมืออย่างที่ผู้ใหญ่ปวดนั่นเอง หากปล่อยให้ลูกเป็นโรค CVS ในระยะเวลานาน ๆ จะส่งผลให้ลูกมีสายตาสั้นและปวดกล้ามเนื้อตั้งแต่เล็ก ๆ แต่ถ้าหากได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนที่จะสายเกินไป โรค CVS ก็สามารถหายได้ค่ะ
ป้องกันลูก ก่อนเป็นโรค CVS
หากเด็ก ๆ ได้รับคำแนะนำจากพ่อแม่ในการเล่นคอมพิวเตอร์ที่ถูกต้องและเหมาะสม ก็สามารถป้องกันโรคนี้ได้ค่ะ โดยเริ่มจาก...
1.จำกัดเวลาในการใช้คอมพิวเตอร์
พ่อแม่ควรจำกัดเวลาในการใช้คอมพิวเตอร์ให้ลูก โดยไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน และทุก ๆ 20 นาที ควรพักสายตา 2-3 นาที หรือประมาณ 1 ชั่วโมงควรพักสายตา 10 นาที การพักสายตาคือการคลายกล้ามเนื้อตาจากการมองใกล้เป็นการมองไกลค่ะ
2.จัดท่านั่งให้เหมาะสม
ควรนั่งเล่นคอมพิวเตอร์กับโต๊ะและเก้าอี้สำหรับใช้ทำงานคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ เพราะออกแบบมาสำหรับนั่งและวางมือในการใช้งานที่เหมาะสมหน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ห่างจากสายตาประมาณ 18 นิ้ว และควรปรับระยะความสูงของเก้าอี้ให้พอดี ไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป และต้องวางคอมพิวเตอร์ในที่ที่ไม่มีหน้าต่างด้านหลัง เพราะแสงจากหน้าต่างจะสะท้อนในจอคอมพิวเตอร์จนทำให้ปวดตา รวมทั้งควรเปิดไฟห้องให้สว่างด้วยค่ะ
3.เน้นทำกิจกรรมนอกบ้านให้มากขึ้น
ควรพาลูกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน อย่างเช่น การวิ่งเล่นกับเพื่อนในสวน ขี่จักรยานหรือออกไปสำรวจเรียนรู้นอกบ้าน นอกจากจะช่วยให้กล้ามเนื้อลูกแข็งแรงแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ด้วย เพราะการเล่นคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว ถึงจะช่วยฝึกการเรียนรู้ให้ลูกได้ แต่ก็ควรทำควบคู่กับการเข้าสังคมด้วยค่ะ
4.พาลูกไปตรวจสายตา
ถ้าพบว่าลูกเล่นคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานแล้วมีอาการตาแห้งหรือแสบตา ควรให้ลูกพักสายตา แต่ถ้าอาการยังไม่หาย ควรพาลูกไปพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจสายตา หากสายตาสั้นก็ควรตัดแว่นสายตา แต่ส่วนใหญ่เด็กจะสามารถมองเห็นได้ชัดเจนทั้ง ๆ ที่ตามีปัญหา ดังนั้น ควรสังเกตและพาลูกไปตรวจสายตาเพื่อความแน่นอนค่ะ
เด็ก ๆ มักจะเพลิดเพลินกับการเล่นคอมพิวเตอร์ จนนานเกินไปไม่รู้ตัว ทางที่ดีพ่อแม่ควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิด จำกัดเวลาในการเล่น เพื่อไม่ให้ลูกต้องเป็นโรค CVS
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 31 ฉบับที่ 367 สิงหาคม 2556