ปั๊มนมอย่างไรให้ได้น้ำนม มาดูกัน

วิธีปั๊มนม


ปั๊มนมอย่างไรให้ได้น้ำนม
(Mother&Care)

         หากมีเหตุให้คุณแม่เลือกวิธ๊ปั๊มนมเก็บเอาไว้ แทนการให้นมลูกจากเต้าด้วยตัวเองเพราะต้องทำงานนอกบ้าน ไปต่างจังหวัด ต่างประเทศ หรือติดขัดปัญหาเรื่องเต้านมก็ตาม สิ่งสำคัญ เพื่อให้ลูกน้อยรับนมแม่ได้เพียงพอก็คือ การเตรียมข้อมูล และความพร้อมเพื่อการปั๊มนม จะมีวิธีอย่างไรนั้น มาดูกันค่ะ

เทคนิคการปั๊มนม

         การปั๊มนม ต้องอาศัยการเรียนรู้และฝึกฝน เพราะในครั้งแรกคุณแม่อาจได้น้ำนมแค่ติดก้นขวด เมื่อปั๊มบ่อย ๆ ทุกวัน จะสามารถเรียนรู้กลไกการหลั่งน้ำนม และสามารถปั๊มนมได้ง่าย มีปริมาณมากขึ้น มาเรียนรู้วิธีที่ช่วยให้คุณแม่ได้น้ำนมกันเลยค่ะ

          หลังคลอด ควรเริ่มต้นปั๊มนมให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยปั๊มให้ได้ 8-10 ครั้งทุก 24 ชั่วโมง (เท่ากับจำนวนครั้งที่ลูกดูดต่อวัน)

          เริ่มจากมื้อเช้า (ตี 5-6 โมง) ร่างกายแม่จะผลิตน้ำนมได้มากที่สุดในช่วงนี้

          ปั๊มนมเป็นเวลาอย่างน้อย 10-15 นาทีต่อข้าง ต่อการปั๊มแต่ละครั้ง

          เมื่อปริมาณน้ำนมเพิ่มขึ้น ควรปั๊มให้นานขึ้น (บ่อยที่สุดเท่าที่ทำได้) อย่างน้อย 20-30 นาทีหรือปั๊มต่อ อีก 2 นาทีหลังจากน้ำนมถูกปั๊มออกหมดแล้ว เพราะการปั๊มให้เกลี้ยงเต้าจะช่วยให้น้ำนมผลิตได้เร็วขึ้น

          การปั๊มนม ถ้าทำพร้อม ๆ กับการดูดนมของลูกอีกข้าง หรือปั๊มพร้อมกัน 2 ข้าง จะทำให้น้ำนมออกได้ดี และกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมมากขึ้น

          หากไม่สามารถปั๊มได้ระหว่างวัน ช่วงไหนของวันให้ปั๊มทุกชั่วโมงในช่วงที่ทำได้ ไม่ต้องเคร่งเครียดมากเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้น้ำนมหยุดไหล อีกหนึ่งวิธีง่าย ๆ ให้คุณแม่ปั๊มนมได้สำเร็จ คือการกระตุ้นหัวนม โดยพยายามนึกว่า ลูกกำลังกินนม ซึ่งคุณแม่อาจรู้สึก (เจ็บจี๊ด ๆ) น้ำนมกำลังไหล จากนั้นก็ค่อยปั๊มนม จะช่วยให้น้ำนมออกง่ายและเร็ว

ระยะเวลาปริมาณการปั๊มนม

         เมื่อคุณแม่มีประสบการณ์ ในการปั๊มนมแต่ละข้างแล้วอาจใช้เวลาเพียง 10 นาทีในการปั๊มต่อข้าง หรือพร้อมกัน 2 ข้าง (หากเป็นเครื่องแบบปั๊มคู่) สำหรับคุณแม่ที่เพิ่งเริ่มปั๊มนม ยังไม่รู้จักกลไกการหลั่งน้ำนมของตัวเอง อาจใช้เวลาในการปั๊มอย่างน้อย 15 นาที ต่อข้าง ทั้งนี้ ถึงคุณแม่จะเลือกใช้เครื่องปั๊มนมคุณภาพดี ๆ เป็นตัวช่วย แต่หากฝึกบีบนมด้วยมือเผื่อไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินด้วย จะช่วยให้คุณแม่มีน้ำนมให้ลูกได้โดยตลอดเวลา โดยไม่ต้องมีอุปกรณ์ช่วย ส่วนปริมาณการปั๊มนมเพื่อเก็บเอาไว้นั้น จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความตั้งใจ ความอดทน และความพยายามของคุณแม่เป็นสำคัญ อีกทั้งปริมาณที่ปั๊มได้นั้น ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น เพิ่งเริ่มปั๊มหรือปั๊มมานาน, อายุของลูก, ระยะเวลาในการปั๊ม, คุณภาพของเครื่องปั๊ม, จำนวนครั้งที่ปั๊มในแต่ละวัน ฯลฯ ที่มีผลกับปริมาณน้ำนมที่ปั๊มได้ในแต่ละคน ทว่าขอให้คุณแม่ยึดหลักการง่าย ๆ ที่ว่า ถ้าต้องการให้มีน้ำนมมากเท่าไร ต้องปั๊มหรือบีบออกมาให้มากเท่านั้นค่ะ

เรื่องน่ารู้ คุณแม่นักปั๊ม

         คุณแม่หลายคนกังวลกับการเลือกใช้เครื่องปั๊มนม เพราะตามท้องตลาดที่มีให้เลือกหลายรูปแบบ ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่มีอยู่ 3 ระบบ คือแบบปั๊มมือ ปั๊มเครื่องไฟฟ้าและแบบใช้แบตเตอรี่ปั๊ม ด้วยข้อมูลที่คุณแม่ยังไม่รู้ ประสบการณ์ที่ไม่เคยมี อาจทำให้ตัดสินใจลำบากกับการเลือกใช้ เพื่อให้คุณแม่มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ มาดูข้อมูลต่อไปนี้ค่ะ

แบบใช้มือ

         ข้อดีคือ ปรับความแรงได้ตามแรงบีบของมือ ราคาย่อมเยา เหมาะกับคุณแม่ที่ต้องการเก็บน้ำนมในตู้เย็นเผื่อเวลาที่ต้องออกไปทำธุระนอกบ้าน มีข้อด้อย ที่ต้องใช้มือบีบ ทำให้เมื่อยมือ และการปั๊มแต่ละข้างอาจใช้เวลามากกว่าการปั๊มด้วยเครื่องปั๊มไฟฟ้า

แบบไฟฟ้า

         มีความเด่นในเรื่องของแรงดูดสามารถปั๊มได้พร้อมกัน 2 ข้าง ช่วยให้คุณแม่ประหยัดเวลากับการปั๊มนมแบบมือ ส่วนข้อด้อย คือเรื่องราคาที่ค่อนข้างสูงและด้วยต้องใช้วิธีเสียบปลั๊กไฟ อาจไม่สะดวกที่จะพกพาสักเท่าไหร่นัก

แบบแบตเตอรี่

         เพื่อตอบสนองความสะดวกสบาย การใช้งานของคุณแม่ เครื่องปั๊มแบบแบตเตอรี่จึงมีข้อดีที่ให้คุณแม่สามารถพกพาเครื่องได้โดยไม่ต้องใช้ระบบไฟฟ้า และไม่ต้องเมื่อยมือในการบีบปั๊มนั่นเองค่ะ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 Vol.9 NO.104 สิงหาคม 2556

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปั๊มนมอย่างไรให้ได้น้ำนม มาดูกัน อัปเดตล่าสุด 10 กันยายน 2556 เวลา 17:11:07 97,196 อ่าน
TOP
x close