6 วิธีรับมือลูกพูดคำหยาบ (Mother&Care)
เรื่อง : Vava
การที่ลูกเลียนแบบคำพูดของเพื่อนที่โรงเรียน เพื่อนละแวกบ้านผู้ใหญ่ หรือแม้กระทั่งโทรทัศน์ เป็นสิ่งที่พ่อแม่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งถ้าคำพูดเหล่านั้นเกิดเป็นคำหยาบด้วย พ่อแม่จะทำอย่างไร ฟังทางนี้เลยค่ะ
1. หลีกเลี่ยงการทำให้ลูกอาย
เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะไม่ลงโทษเด็กที่พูดซ้ำ ๆ ในคำที่ตนไม่เข้าใจและไม่รู้ว่าไม่เหมาะสม ไม่จำเป็นเลยที่ต้องดุว่าเด็ก ๆ ถ้าคุณทำให้ลูกต้องอับอายมาก ๆ ก็มีโอกาสที่เขาจะรู้สึกไม่ปลอดภัยและอนาคตมีอะไรก็จะไม่เข้าหาคุณอีก คุณควรจะสร้างบรรยากาศที่เด็กรู้สึกสบายใจ ไม่ต้องกลัวคุณเพียงเพราะเขาไม่รู้
2. คำพูดนั้นแปลว่าอะไร
อธิบายให้ลูกฟังว่าคำหยาบนั้นไม่เหมาะสมอย่างไร อย่างตรงไปตรงมาสั้น ๆ ง่าย ๆ กระชับ และอธิบายให้เหมาะสมกับช่วงอายุของเด็ก ลูกจะได้ไม่ต้องเก็บสิ่งที่สงสัยไปถามคนอื่น คำอธิบายจะทำให้เด็ก ๆ พอใจคลายความสงสัย และรู้เหตุผลว่าทำไมเขาไม่ควรพูดคำเหล่านั้น
3. ได้ยินมาจากไหน
เมื่อถามเด็กว่าได้ยินคำพูดนี้มาจากไหน ก็ควรจะบอกให้ชัดว่าคุณจะไม่เอาเรื่องที่มาของคำพูดนี้ แค่เพียงอยากรู้เท่านั้น ถ้าลูกบอกว่าได้ยินมาจากเพื่อน ก็อย่าเพิ่งแสดงสีหน้าอะไร อย่าไปว่าต้นตอของคำหยาบ เพราะเป็นการทำลายความไว้วางใจที่ลูกมีต่อคุณ แต่ก็ควรจะระวังแหล่งที่มาของคำหยาบไว้ด้วย
4. ทำไมคำหยาบถึงไม่ดี
แต่ละครอบครัวอาจจะมีเหตุผลในการห้ามพูดคำหยาบที่ต่างกัน อธิบายเหตุผลของครอบครัวคุณให้ลูกเข้าใจ เช่น การพูดคำหยาบเป็นการ ผิดศีลข้อ 4 หรือการพูดคำหยาบเป็นการสะท้อนถึงกิริยามารยาทของตระกูล การพูดคำหยาบลดทอนคุณค่าของตัวเอง การพูดคำหยาบ เป็นการแสดงว่าไม่เคารพคนอื่น เป็นต้น
5. ถ้าห้ามแล้วไม่ฟัง
ถ้าอธิบายจนกระจ่างแล้วเด็กยังพูดคำหยาบอีกให้ทำข้อตกลงไว้เผื่อครั้งหน้าเลยว่า หากพูดคำหยาบแล้วจะเกิดผลอย่างไร เช่น โดนหักเงินค่าขนม หรือโดนห้ามใช้คอมพิวเตอร์ พ่อแม่จะไม่พาไปเที่ยว
6. ถ้ายังไม่หยุดพูดคำหยาบสักที
ให้หาสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร เด็กอาจจะพูดเพราะสนุกปาก หรือเพื่อให้คนมองว่าเขาโตเป็นผู้ใหญ่และมีอำนาจ พูดตามผู้ใหญ่ที่เขาใกล้ชิด หรือเขาพูดเพราะหงุดหงิดและโกรธเกรี้ยว หรือมีปัญหากับเพื่อนที่โรงเรียน เป็นต้น เมื่อรู้สาเหตุก็ควรจะแก้ไขให้ถูกจุด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.9 No.103 กรกฎาคม 2556