การให้นมบุตร เรื่องน่ารู้ของคุณแม่มือใหม่

นมแม่

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          แม้ว่าการให้นมลูกจะเป็นเรื่องธรรมชาติ และเป็นเรื่องที่แม่ทุกคนควรต้องรู้ด้วยสัญชาตญาณ แต่พอถึงเวลาจริง ๆ แล้วก็เชื่อว่าคุณแม่หลายคน โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่น่าจะสับสนกันอยู่ไม่น้อย ดังนั้นเราจึงรวบรวมความรู้พื้นฐานของการให้นมบุตรมาฝาก เพื่อส่งเสริมให้คุณแม่ทุกคนที่คิดจะเลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองได้มีความรู้ความเข้าใจกันมากขึ้นค่ะ

1. ระยะเริ่มให้นม

          หลังจากลืมตาออกมาดูโลกได้เพียง 1-2 ชั่วโมง ลูกน้อยของคุณก็จะเริ่มดูดนมจากเต้าได้เองโดยธรรมชาติ และคุณแม่เองก็สามารถให้นมบุตรได้เลยทันทีเช่นกัน แต่ในช่วงแรก ๆ ของการให้นม ลูกน้อยอาจจะตื่นบ่อย และต้องให้นมบ่อยตามไปด้วย ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ และก็ไม่ต้องกังวลว่าน้ำนมจะผลิตออกมาไม่ทัน เพราะเมื่อร่างกายได้หลั่งน้ำนมออกมาให้ลูกได้ดื่ม ก็จะผลิตน้ำนมขึ้นมาทดแทนได้ทันทีโดยอัตโนมัติ

2. ความเจ็บปวดเป็นเรื่องปกติ

          กลไกการให้นมบุตรเป็นเรื่องธรรมชาติของร่างกายผู้หญิงก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีอุปสรรค หรือเรื่องติดขัดเกิดขึ้นเลยตลอดการให้นมบุตร เพราะคุณแม่จะรู้สึกคัดและเจ็บจี๊ดที่หัวนมทุกครั้งที่ลูกดูดนม แต่ก็จะเกิดขึ้นในช่วงแรก ๆ ของการให้นมเท่านั้น พอนาน ๆ ไปอาการเจ็บเหล่านี้ก็จะหายไปเอง แต่คุณแม่ก็ควรต้องตรวจสอบสักนิดด้วยว่า ลูกน้อยดูดนมถูกวิธีหรือเปล่า ซึ่งวิธีดูดนมที่ถูกต้องก็คือต้องอ้าปากดูดนมจากฐานของเต้านม ไม่ใช่ใช้ปากดูดตรงหัวนมตรง ๆ หรือถ้าผ่านพ้นช่วงแรก ๆ ของการให้นมบุตรไปแล้ว แต่คุณแม่ยังรู้สึกเจ็บอยู่อย่างไม่ทราบสาเหตุ ก็ควรต้องปรึกษากุมารแพทย์ทันทีนะคะ

3. การให้นมลูกในที่สาธารณะ

          คุณแม่หลายท่านอาจจะยังเขินและไม่ชินกับการให้นมลูกในที่สาธารณะ แต่ถ้าเกิดจำเป็นขึ้นมาจริง ๆ เป็นต้นว่าลูกน้อยเกิดหิวขึ้นมาและคุณแม่ก็ลืมปั๊มนมเตรียมไว้ ก็คงต้องเปิดอกให้ลูกได้ดื่มนมคลายหิวกันตรงนั้นเลย โดยวิธีที่จะให้นมลูกได้อย่างปลอดภัย ไม่ดูโป๊จนเกินไปก็คือ ควรเตรียมตัวให้พร้อมก่อนออกจากบ้านด้วยการใส่เสื้อผ้าที่สามารถให้นมลูกได้อย่างสะดวก เสื้อกระดุมหน้า และยกทรงที่เปิดด้านหน้าได้จะดีที่สุด พกผ้าพันคอสีเข้มผืนใหญ่ ๆ ติดตัวไว้เผื่อกรณีที่ต้องให้นมลูกในที่สาธารณะจะได้ใช้ผูกคล้องคอบดบัง และถ้าหากหามุมที่มีกำแพงหรือมุมปลอดคนได้ก็ควรจะเลือกให้นมลูกตรงบริเวณนั้น เพื่อหลบสายตาเวลาที่ให้นมลูก หรือจะใช้วิธีหันหลัง เอียงตัวสักนิดเพื่อบังสายตาก็ได้เช่นกัน

4. ระยะเวลาของการให้นมบุตร

          องค์การอนามัยโลกเคยประกาศไว้ว่า เด็กทารกควรดื่มนมแม่ไปเรื่อย ๆ จนกว่าเขาจะอายุครบ 2 ขวบเต็ม แต่หลังจาก 1 ขวบเป็นต้นไป คุณแม่ควรให้ลูกได้รับประทานอาหารอื่น ๆ บ้าง เพื่อให้เขาได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน เพราะถึงแม่ว่าน้ำนมแม่จะมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายของลูกน้อย แต่เด็กก็ควรได้รับสารอาหารอื่น ๆ นอกเหนือจากที่นมแม่ให้เขาด้วยนะคะ

5. การให้นมลูกในขณะหลับ

          คุณแม่ที่ให้นมลูกด้วยตัวเองมักจะเลือกนอนกับลูก เพื่อเวลาที่ลูกตื่นมากลางดึกจะได้ดูดนมได้เลยทันที โดยสิ่งที่คุณแม่ต้องทำคือ เปิดอกเอาไว้ให้พร้อม และจัดท่านอนอำนวยความสะดวกให้ลูกดื่มนมได้อย่างถนัด แต่ถ้าหากต่างคนต่างนอนดิ้นก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะสัญชาตญาณของคุณแม่ทุกคนจะเผลอนอนท่าที่ลูกไม่สามารถดื่มนมได้เพียงแค่ชั่วขณะเดียวเท่านั้น และอีกสักพักความห่วงกังวลถึงลูกน้อยก็จะร้องเตือนให้คุณแม่มีสติและจัดท่านอนเพื่อให้ลูกดื่มนมได้อย่างสะดวกอีกครั้งเองโดยธรรมชาติ

          นมแม่เป็นอาหารหยดแรกที่ลูกจะได้ดื่มกิน แถมยังมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของลูกน้อยอย่างมากมายเลยทีเดียวนะคะ ดังนั้นหากคุณแม่สามารถให้นมลูกน้อยได้ด้วยตัวเองก็จะดีที่สุดเลย เขาจะได้มีพัฒนาการที่สมบูรณ์แข็งแรง และมีภูมิคุ้มกันต่อโรคภัยต่าง ๆ ได้อย่างดี






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
การให้นมบุตร เรื่องน่ารู้ของคุณแม่มือใหม่ อัปเดตล่าสุด 26 พฤษภาคม 2558 เวลา 08:44:40 3,661 อ่าน
TOP
x close