โรคเกมสถานการณ์น่าห่วงของเด็กไทย

โรคติดเกม

โรคเกมสถานการณ์น่าห่วงของเด็กไทย
(รักลูก)
เรื่อง : เมธาวี

          ถ้าคุณให้ลูกถือแต่แท็บเล็ต เพราะทำให้เด็ก ๆ ยอมอยู่นิ่ง ๆ เพ่งความสนใจไปอยู่ที่หน้าจอ ไม่วิ่งซุกซน และด้วยหวังว่าจะเป็นการช่วยพัฒนาทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ให้ลูก แบบนี้ น่าห่วง เพราะเท่ากับว่าคุณกำลังจะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กติดจอ และนำไปสู่ "ภาวะติดเกม" หรือเป็น "โรคเกม" ได้

โรคติดเกมโรคเกม...คืออะไร

          โรคเกมหรือ ภาวะติดเกม คือการที่เด็กใช้แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน 4 ชั่วโมง/วัน และมีแนวโน้มการใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าคุณพ่อคุณแม่เตือนหรือห้ามไม่ให้เล่นจะหงุดหงิด มีการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะจิตใจ จากที่เคยเป็นเด็กอารมณ์ดีจะแสดงท่าทีโกรธ ฉุนเฉียว หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวต่อคุณพ่อคุณแม่

          จากการสำรวจพบว่าปัจจุบันเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป มีโอกาสใช้คอมพิวเตอร์เกือบ 90% ครึ่งหนึ่งมักใช้บริการร้านอินเตอร์เน็ต และอีกครึ่งได้สัมผัสแท็บเล็ตจากที่โรงเรียนและที่บ้าน โดยเด็กใช้คอมพิวเตอร์ในการเล่นเกมกว่า 80% ซึ่งจากตัวเลขนี้เป็นสัญญาณบอกว่า เด็กเข้าถึงเกมกันอย่างทั่วถึง และ 1 ใน 3 ของเด็กที่เล่นเกม ใช้เวลาเล่นเกิน 4 ชั่วโมง/วัน เด็ก ๆ จึงมีโอกาสเกิดภาวะติดเกมได้ในที่สุด

ภาวะนี้...เสี่ยงเป็นโรคเกม

          เด็ก ๆ มีโอกาสติดเกมได้ง่ายที่สุด โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมซึ่งเป็นช่วงที่มีเวลาว่าง เด็กจะเล่นคอมพิวเตอร์ได้ทุกวัน เมื่อเปิดเทอมจึงไม่อยากไปโรงเรียน ร้องไห้งอแง หรือต้องให้คุณแม่เอาแท็บเล็ตใส่กระเป๋าไปให้ด้วย ทำให้ไม่สนใจการเรียน

อาการติดเกมมีดังนี้

         1.มีความต้องการที่จะเล่นมากขึ้น ชอบต่อรองการเล่น และเพิ่มเวลาในการเล่นมากขึ้น

         2.ขอเล่นเกมที่ยากขึ้น มีความซับซ้อนมากขึ้น ขอใช้เครื่องที่มีความเร็วและแรงขึ้น เหมือนกับคนติดยา ที่ต้องเพิ่มปริมาณยามากขึ้น

         3.เล่นแล้วพัฒนาการแย่ลง จากที่เคยชอบเล่นกีฬา กล้ามเนื้อมีการพัฒนา แต่พอติดเกมจะไม่เล่นกีฬา การเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ส่งผลให้เป็นโรคอ้วนในที่สุด

         4.เสียกิจวัตรประจำวัน เคยกินนอนเป็นเวลา ก็จะไม่ยอมกิน ห่วงเล่นเกม ไม่ทำการบ้าน ไม่นอนก็ได้ นั่งเล่นดึกดื่นได้ นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย อยากจะตื่นมาเล่นเกม

         5.โกรธ เมื่อจำกัดเวลาในการเล่นหรือห้ามเล่น เพื่อให้ไปทำอย่างอื่น มีพฤติกรรมที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น ทุบตีพ่อแม่ ขว้างข้าวของ อารมณ์เปลี่ยนแปลง ภาวะจิตใจเปลี่ยน มีพฤติกรรมก้าวร้าวกับพ่อแม่และคนรอบข้างได้

         การรักษา...แนะนำให้ไปพบจิตแพทย์ เพื่อวินิจฉัยอาการว่ามีภาวะติดเกมแค่ไหน จะได้ประเมินการรักษาได้ถูกต้อง ซึ่งการรักษาจะเริ่มตั้งแต่ พูดคุยให้คำปรึกษา แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จนไปถึงการให้ยา

โรคถามหา...ถ้าลูกติดเกม

         การให้ลูกนั่งเล่นแท็บเล็ต หรือเล่นคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพและพัฒนาการแน่ ๆ คือ

         1.สายตาสั้น การจ้องจอนาน ๆ จะมีผลต่อสายตา เพราะแสงและสีของภาพที่ฉูดฉาด การเคลื่อนที่เร็ว จะส่งผลให้เด็ก ๆ เป็นโรคสายตาสั้น และยังทำให้ปวดกล้ามเนื้อตา ตาอักเสบได้

         2.ขัดพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ เพราะเด็ก ๆ จะใช้นิ้วกดเล่น มีการเกร็งกล้ามเนื้อมือและแขน ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อต้นคอ ไหล่ กล้ามเนื้ออักเสบ ส่งผลให้ร่างกายเจริญเติบโตไม่เต็มที่

         3.การสื่อสารบกพร่อง มองแต่จอโดยไม่สนใจหรือมองสิ่งรอบข้าง ทำให้เด็กสื่อสารทางเดียว มองทางเดียว เล่นคนเดียว ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง พูดช้าลง หรืออาจนำไปสู่การเป็นโรคสมาธิสั้นได้

         4.โรคอ้วน การที่เด็ก ๆ มองแต่จอ และนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานานวันละหลายชั่วโมง ไม่มีการออกกำลังกาย พักผ่อนน้อย มีภาวะเครียดจากการเล่นเกม ต้องการเอาชนะ ทำให้กระบวนการทำงานของร่างกายผิดปกติ ทำให้เกิดโรคอ้วน และอาจนำไปสู่การเป็นโรคเบาหวานในอนาคตได้

ดูแลลูก...ให้ห่างเกม

          เด็กวัย 3-6 ปี ควรได้เล่นของเล่น เล่นในสนามเด็กเล่น หรือของที่สัมผัสได้จริง เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่สำคัญต้องได้ออกกำลังเพื่อสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง มีจิตใจร่าเริงแจ่มใสสมวัย โดยควรดูแลลูกด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

         1.ให้ลูกได้จับหรือเล่นแท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ เมื่ออายุ 4 ขวบขึ้นไป

         2.เวลาเล่นคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยแนะนำอยู่ข้าง ๆ และควรเลือกเกมที่เหมาะสมกับวัย ไม่มีความรุนแรง ควรเป็นเกมที่เสริมพัฒนาการของลูก

         3.จำกัดเวลาในการเล่น ไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง/วัน ไม่ควรให้เล่นก่อนนอนเพราะจะเป็นการกระตุ้นอารมณ์ให้นอนหลับยากมากขึ้น

         การที่ลูกอยู่นิ่ง ๆ ไม่ซุกซน เพราะเอาแต่นั่งเล่นเกมในแท็บเล็ต หรือในคอมพิวเตอร์ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าผลดี ดังนั้นควรให้ลูกเล่นอย่างพอดี เล่นในเวลาที่เหมาะสม และจำกัดเวลาในการเล่น ก็จะช่วยเสริมทักษะความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ให้อย่างถูกต้องค่ะ

โรคเกม

         ถูกบัญญัติให้เป็นโรคชนิดหนึ่ง เรียกว่า ภาวะการติดเกม จัดอยู่ในกลุ่มโรคย้ำคิดย้ำทำ และต้องการการบำบัดรักษา จากสถิติทั่วโลกพบว่าเด็กติดเกมจะมีผลเสียต่อสุขภาพ บัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศ (ไอซีดี-11) ขององค์การอนามัยโลก ที่คาดว่าจะออกมาในปี 2558 นั้นได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณา เรื่องเสพติดว่า นอกจากสารเสพติดแล้ว ยังรวมไปถึงการเสพติดประเภทอื่น เช่น เกม หรือคอมพิวเตอร์ ประเทศไทย กรมสุขภาพจิตกำลังพัฒนาคลินิกเพื่อรักษาโรคติดเกม ให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งปีนี้มีเป้าหมายในการจัดฝึกอบรม โรงพยาบาลชุมชน พร้อมกับมีเครื่องมือในการตรวจรักษา เพื่อนำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 31 ฉบับที่ 36 มิถุนายน 2556

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคเกมสถานการณ์น่าห่วงของเด็กไทย อัปเดตล่าสุด 25 กรกฎาคม 2556 เวลา 15:44:27 10,542 อ่าน
TOP
x close