สร้างสุขให้ลูกขวบแรก สมองเติบโตดี

พัฒนาการเด็ก ขวบปีแรก

สร้างสุขให้ลูกขวบแรก สมองเติบโต
(รักลูก)
โดย : ก้านแก้ว

          เมื่อเห็นลูกมีความสุข คุณพ่อคุณแม่ก็คงจะรู้สึกมีความสุขมากขึ้นเป็น 2 เท่า แต่ทราบมั้ยคะว่าความสุขที่ลูกได้รับนั้น เกิดจากคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นผู้สร้างให้กับลูก และเมื่อความสุขเกิดขึ้น สมองก็พัฒนาได้ดี

สมองของหนูกำลังเติบโต

          สมองของเด็กพัฒนามาตั้งแต่อยู่ในครรภ์คุณแม่แล้ว เมื่อลูกคลอดออกมา ในสมองของลูกก็จะมีเซลล์ประสาทหลายแสนเซลล์ที่เติบโต แต่ยังไม่มีแขนงประสาทที่จะไปเชื่อมโยงเซลล์ประสาทให้ทำงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งในวัยขวบปีแรก เป็นช่วงที่สมองจะเริ่มพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

แรกเกิด-3 เดือน

          ในช่วงนี้ระบบประสาทสัมผัสของลูกจะพัฒนามาก โดยเฉพาะเรื่องการมอง การฟัง และการสัมผัสที่ผิวหนัง ถึงแม้ว่าช่วง 3 เดือนของชีวิตลูกเคลื่อนไหวร่างกายได้ไม่มาก แต่ระบบประสาทในการรับฟังและการมองของลูกจะทำงานเป็นอย่างดี รวมทั้งสมองส่วนความจำ (Hippocampus) จะเริ่มทำงานและเกิดความจำขึ้น โดยที่ลูกจะจำหน้า จำเสียง จำกลิ่น ของคนใกล้ชิดอย่างคุณแม่ได้แล้ว

          นอกจากนั้น เปลือกสมองใหญ่ของลูกก็จะทำงานเชื่อมโยงกับสมองส่วนอื่นมากขึ้น ทำให้ปฏิกิริยาตอบสนองแบบอัตโนมัติ (Reflex) ที่เคยเห็นในช่วงแรกเกิดเริ่มจะหายไป การตอบสนองของเด็กจะเป็นในลักษณะที่ควบคุมได้มากขึ้น ไม่เหมือนกับการตอบสนองแบบ Reflex ในช่วงแรกเกิด

3-6 เดือน

          สมองในส่วนการมองพัฒนาขึ้นจนมองเห็นได้เกือบเท่าผู้ใหญ่แล้ว สมองส่วนการฟังก็พัฒนาอย่างต่อเนื่อง สามารถจำเสียง จำคำศัพท์ที่คุณแม่พูดคุยกับลูกได้ โดยลูกจะจดจำเสียงไว้เพื่อให้สัมพันธ์กับภาพที่เห็น เพียงแต่ยังพูดไม่ได้เท่านั้นเอง

6-12 เดือน

          ระบบประสาทในการได้ยิน สามารถแยกแยะความแตกต่างของเสียงที่เป็นภาษาแม่ได้ดีมากขึ้น พอลูกอายุ 10 เดือน จะเริ่มไม่สนใจเสียงที่ไม่ใช่ภาษาแม่ โดยจะจดจำเสียงที่สามารถใช้ในการสื่อสารได้ ในสมองส่วนความจำก็จะพัฒนาไปเรื่อย ๆ จน อายุ 1 ขวบ สมองส่วนนี้ก็จะมีขนาดเท่ากับสมองของผู้ใหญ่

          นอกจากนี้ ยังมีสมองส่วนหน้า (Prefrontal cortex) ที่เริ่มพัฒนามากขึ้น โดยเป็นสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของสมองส่วนอื่น ๆ เพื่อให้เราคิดและตัดสินใจอย่างเป็นระบบ เป็นกระบวนการคิดขั้นสูง รวมถึงการแสดงออกต่อสถานการณ์ที่ได้พบเจออย่างเหมาะสม ซึ่งจะพัฒนาจนสมบรูณ์เมื่ออายุประมาณ 20 ปีขึ้นไป

          เมื่อเด็กอายุ 8 เดือน สมองส่วนที่ทำให้เรารู้สึกกลัว (Amygdale) จะมีการพัฒนามากขึ้นด้วยและเริ่มมีการเชื่อมโยงกับสมองส่วนความจำ โดยจะสังเกตเห็นว่าเด็กวัย 8-9 เดือนจะเริ่มมีความกังวลเมื่อต้องแยกจากคุณพ่อคุณแม่ (separation anxiety) หรือไม่ยอมให้คนแปลกหน้าอุ้ม ซึ่งเป็นเรื่องปกติค่ะ เพราะสมองส่วนความจำจะแยกแยะได้ว่าคนไหนคือคุณแม่

          ดังนั้นเมื่ออยู่ดี ๆ คุณแม่เดินหายไปลูกจึงเกิดความกลัว จึงควรบอกลูกทุกครั้งเวลาต้องออกไปไหนว่า เดี๋ยวคุณพ่อคุณแม่จะกลับมา จากนั้นสักครู่ก็กลับมาจริง ๆ ลูกก็จะเกิดการเรียนรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่อยู่แต่เดี๋ยวก็จะกลับมาไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่ากลัว เมื่อลูกโตขึ้นอีกนิดอาการนี้จะค่อย ๆ หายไปเอง อันที่จริงความกลัวนั้นมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต ช่วยให้เราหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะเป็นอันตรายต่อตัวเรานั่นเอง แต่ถ้าหากกลัวมากเกินไปบ่อย ๆ ก็จะเป็นผลเสียต่อการพัฒนาสมองของลูกน้อยแน่นอน

          ส่วนสมองด้านภาษาจะเริ่มเชื่อมโยงกันมากขึ้น ทำให้ลูกพร้อมที่จะเปล่งเสียงแล้ว เมื่อถึงปลายขวบปีแรก ลูกก็จะเริ่มออกเสียงเป็นคำพยางค์เดียวได้แล้ว แต่ก็ต้องใช้เวลาอีกเป็นปีกว่าจะสามารถสื่อสารได้เป็นประโยค

เคล็ดลับสร้างสุขสู่สมอง

          เมื่อทราบถึงพัฒนาการของสมองในขวบปีแรกแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ควรสร้างความสุขให้ลูกน้อย 2 อย่าง เพื่อให้สมองลูกได้พัฒนา

ความสุขที่ 1 : สุขจากการตอบสนอง

          ความสุขแบบนี้ เกิดจากการที่คุณพ่อคุณแม่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกได้อย่างเหมาะสม เช่น เมื่อหิวก็ได้รับอาหาร เมื่อง่วงก็ได้นอนหลับ เมื่อเจ็บก็มีคนคอยดูแลให้หายเจ็บ เมื่อเหงาก็มีคนเล่นด้วย เป็นต้น

          แต่เนื่องจากลูกวัยนี้ยังพูดไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องสังเกตภาษาร่างกายของลูกที่สื่อสารออกมาและตอบสนองให้เหมาะสม ลูกก็จะรู้สึกถึงความสุขและรับรู้ถึงความรักที่คุณพ่อคุณแม่มีให้

ความสุขที่ 2 : สุขจากใจที่สงบ

          ความสุขแบบนี้เกิดจากการที่ลูกมีใจที่สงบ ผ่อนคลาย และพร้อมต่อการเรียนรู้ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อลูกรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย ไม่มีความกลัวหรือวิตกกังวล โดยคุณพ่อคุณแม่จะเป็นผู้สร้างให้ลูกรู้สึกปลอดภัยด้วยการอยู่เคียงข้างลูก คอยดูแลเอาใจใส่ และการเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน จนทำให้เกิดความผูกพันที่แน่นแฟ้น (Secure attachment) ซึ่งจะทำให้ลูกมีอารมณ์ที่มั่นคงและมีความสุขได้

          เวลาที่ลูกมีความสุขหรือเศร้า จะส่งผลต่อการทำงานของสมองเป็นอย่างมาก โดยสมองแต่ละส่วนจะทำงานมากน้อยต่างกันไป เช่น เด็กทารกที่ดูดนมแม่อย่างมีความสุข สมองส่วน Prefrontal cortex ข้างซ้ายจะทำงาน เป็นต้น

          การพัฒนาด้านอารมณ์ความรู้สึก จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะสอนลูกตั้งแต่วัยนี้ เพราะถ้าลูกมีอารมณ์ที่มั่นคง และมีการควบคุมอารมณ์ที่ดีตั้งแต่วัยเล็ก ก็จะส่งผลต่อการพัฒนาอารมณ์เมื่อลูกเติบโตขึ้นได้ค่ะ

          การควบคุมอารมณ์เป็นทักษะที่ไม่ได้มีมาตั้งแต่เกิด แต่ต้องผ่านการฝึกฝนเหมือนพัฒนาการด้านอื่นๆ โดยขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ การพัฒนาของระบบประสาทที่ทำหน้าที่ยับยั้งอารมณ์ และพื้นอารมณ์ของลูก 2 ปัจจัยนี้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงยาก ส่วนปัจจัยสุดท้ายคือการอบรมเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ เป็นสิ่งที่เราสร้างได้ โดยสอนให้ลูกแสดงอารมณ์ที่เหมาะสม เริ่มจากการมีความสัมพันธ์ที่มั่นคงในครอบครัว และการตอบสนองให้ลูกมีความสุขทั้งทางกายและทางใจ รวมทั้งการเป็นแบบอย่างในการแสดงออกทางอารมณ์ที่ดีให้ลูกเห็นนั่นเอง

          เมื่อลูกมีความสุข สมองก็จะพัฒนา กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้เหมาะสม ซึ่งตรงข้ามกับความทุกข์ เสียใจ เศร้า สมองก็จะถูกทำลายส่งผลต่อพฤติกรรมในระยะยาวทั้งอาการซึมเศร้า ขี้หงุดหงิด และเป็นเด็กสมาธิสั้นได้ในที่สุด

เมื่อสมองมีความสุข อะไรจะตามมา?

          สมองที่เป็นสุขย่อมเกิดขึ้น พร้อม ๆ กับอารมณ์ที่มั่นคง ไม่หงุดหงิดหรือวิตกกังวล ทำให้เด็ก ๆ พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว ส่งผลให้พัฒนาการด้านต่าง ๆ ทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง

          หากลูกมีสมองที่มีความสุขตั้งแต่วัยเบบี้ ก็จะมีพื้นฐานที่ดีในการพัฒนาด้านอารมณ์เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สร้างสุขให้ลูกขวบแรก สมองเติบโตดี อัปเดตล่าสุด 8 กรกฎาคม 2556 เวลา 15:57:59
TOP
x close