เมนูอาหารเรียกน้ำนม

อาหารเพื่มน้ำนม

เมนูอาหารเรียกน้ำนม
(momypedia)

        กินอย่างไรได้น้ำนมคุณภาพ

        กินเพื่อสุขภาพช่วงให้นมแม่

        อาหารห้ามกินขณะให้นมแม่

        ตัวอย่างเมนูบำรุงน้ำนม

        ตารางปริมาณสารอาหารที่แม่ให้นมลูกควรได้รับต่อวัน

          ช่วงให้นมเป็นช่วงที่คุณแม่ต้องดูแลตัวเองให้แข็งแรง สุขภาพดีอย่างต่อเนื่อง เพราะคุณแม่ยุคใหม่รู้ดีว่า น้ำนมแม่เป็นอาหารจานด่วนที่มีคุณค่าที่สุดสำหรับทารก และเพิ่มภูมิต้านทานให้แก่ทารก ดังนั้นคุณแม่ที่ให้นมลูกยังต้องเอาใจใส่เรื่องอาหารการกินต่อไป เพื่อให้น้ำนมแต่ละหยดทรงคุณค่าและให้พลังงานเต็มที่

กินอย่างไรได้น้ำนมคุณภาพ

          ขณะให้นมลูกสารอาหารที่แม่รับเข้าไปต้องแบ่งให้ลูกผ่านน้ำนมด้วย เรียกว่าต้องบำรุงทั้งคุณแม่คุณลูก ช่วงนี้คุณแม่จึงต้องเอาใจใส่กับอาหารการกินให้มากสักหน่อย เพียงแต่นึกไว้เสมอว่า คุณแม่กินอย่างไรลูกก็ได้กินอย่างนั้น โดยยึดหลักว่า อาหารสำหรับแม่ที่ให้นมลูกจะต้อง...

        เริ่มที่กินอาหารธรรมดา ๆ แต่ขอให้อิ่มและครบคุณค่า

        เลือกสรรอาหารสดใหม่ ปรุงสุก

        พยายามหมุนเวียนและอย่าให้ซ้ำซากจำเจ

        เน้นโปรตีน วิตามิน เกลือแร่ แคลเซียม และธาตุเหล็ก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะลดสารอาหารประเภทอื่น ๆ ลง

        กินให้ครบทุกหมู่ เนื้อ นม ไข่ ผัก ผลไม้สด ห้ามขาด

        มีคุณค่าสูง คืออาหารที่มีโปรตีน ธาตุเหล็ก แคลเซียม เกลือแร่และวิตามินต่าง ๆ ซึ่งสารอาหารเหล่านี้มีอยู่มากในเนื้อสัตว์ ตับ เครื่องในสัตว์ นม ไข่ ถั่ว ผักและผลไม้

        ย่อยง่าย มีกากมาก เพื่อร่างกายจะได้เอาไปใช้ได้เต็มที่ และให้ขับถ่ายได้ง่ายเพราะในระยะหลังคลอดใหม่ ๆ ฮอร์โมนที่ทำให้ท้องผูกยังออกฤทธิ์อยู่

        รสไม่จัด เพราะอาหารรสจัดอาจทำให้คุณแม่ท้องเสียและลูกท้องเสียตามไปด้วย

        มีน้ำมากเพื่อชดเชยน้ำที่สูญเสียออกไปเป็นน้ำนม นอกจากอาหารที่เป็นน้ำแล้ว ควรทานน้ำและนมให้มากด้วย

          อิ่ม หมายถึง กินปริมาณที่ให้พลังงานมากเพียงพอ ซึ่งแม่ให้นมลูกโดยทั่วไปต้องการพลังงานประมาณ 2,200 แคลอรีต่อวัน จึงจะทำให้มีน้ำนมมากพอแก่ความต้องการของลูกน้อยและการฟื้นตัวหลังคลอดของคุณแม่เอง

          ปริมาณน้ำนมที่ลูกต้องการในวันหนึ่งๆ ราว 600-1,000 มิลลิลิตร และนมแม่ 1,000 มิลลิลิตร ต้องใช้พลังงานในการผลิตประมาณ 1,000 แคลอรี พลังงานทั้งหมดที่แม่หลังคลอดใช้ไม่ได้มาจากอาหารเพียงอย่างเดียว ส่วนหนึ่งถูกดึงมาจากไขมันที่เก็บสะสมไว้ระหว่างการตั้งครรภ์ด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อคุณแม่ให้นมลูกจะผอมลง ในขณะที่ลูกจะอ้วนเปล่งปลั่งขึ้น

อาหารเพื่มน้ำนม

กินเพื่อสุขภาพช่วงให้นมแม่

          เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่ว งา เนื้อปลา อาหารทะเล เครื่องในสัตว์ เป็นอาหารที่ให้โปรตีนรวมถึงแร่ธาตุสำคัญอย่างแคลเซียม ซึ่งสำคัญกับคุณแม่ช่วงนี้เป็นอย่างมาก เพราะปริมาณแคลเซียมและแมกนีเซียมในร่างกายที่เพียงพอมีผลต่อกลไกน้ำนมให้นมไหลได้อย่างต่อเนื่องและมีปริมาณเยอะ

          ปริมาณแนะนำ เพิ่มปริมาณเนื้อสัตว์และอาหารที่ทดแทนเนื้อสัตว์จากเดิมวันละ 1.5 -2 ถ้วยตวง เป็น 2.5 ถ้วยตวง ไข่วันละ 1 ฟอง นมแบบไขมันต่ำ 3 ถ้วย

          ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต แป้งไม่ขัดสี เป็นอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่จะให้ที่จะให้พลังงานกับร่างกาย

          ปริมาณแนะนำ สามารถกินได้มากเท่ากับช่วงตั้งครรภ์ ไม่ต้องกลัวอ้วน เพราะคุณแม่ต้องใช้พลังงานในการเลี้ยงลูก หากกินน้อยคุณแม่อาจจะอ่อนเพลียได้ แต่ทางที่ดีควรแบ่งกินครั้งละน้อย ๆ จะช่วยให้ย่อยง่าย สบายท้องกว่า ปริมาณที่กินให้กินตามปกติ คือ 3-6 ถ้วยตวงต่อวัน ไม่ต้องเพิ่มปริมาณอีก เพราะอาจทำให้น้ำหนักของคุณแม่เพิ่มขึ้น

           ผักสดและผลไม้หลากสี เป็นอาหารที่ให้วิตามินและเกลือแร่สำคัญต่าง ๆ กับร่างกาย เช่น วิตามินเอ วิตามินซี แคลเซียม ฯลฯ นอกจากนี้ยังมากไปด้วยกากใย ช่วยให้ระบบย่อยและระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างดี ปัญหาท้องผูกจะได้ไม่กวนใจ

          ปริมาณแนะนำ ให้เพิ่มปริมาณจากเดิมอีกเท่าตัว เป็นผักและผลไม้อย่างละ 2-3 ถ้วยตวงต่อวัน

          เนยและน้ำมัน ไขมันเป็นสารอาหารจำเป็นที่ให้พลังงานและช่วยให้ร่างกายดูดซึมวิตามิน เพื่อสุขภาพที่ดีควรเลือกใช้ไขมันคุณภาพ เช่น ไขมันพืชแทนไขมันสัตว์

          ปริมาณแนะนำ ไม่ต้องเพิ่มปริมาณมากขึ้น โดยวันหนึ่งควรได้รับไขมันทั้งหมดวันละไม่เกิน 2.5 -3 ช้อนโต๊ะเท่านั้น

          น้ำสะอาด คุณแม่อย่าลืมดื่มน้ำสะอาดไม่น้อยกว่า 8 แก้ว ยิ่งถ้าเป็นน้ำอุ่นจะช่วยให้น้ำนมไหลดีขึ้น เพราะน้ำอุ่นจะช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่น เลือดไหลเวียนได้ดี เป็นการกระตุ้นให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้นอีกทางหนึ่ง และถ้าดื่มก่อนให้นมทุกครั้ง อาจจะเป็นการสร้างเงื่อนไขให้ร่างกาย ทำให้น้ำนมไหลดีขึ้นด้วย

อาหารห้ามกินขณะให้นมแม่

          คุณแม่ควรระวังอาหารที่คุณแม่แพ้ อาหารที่ใส่เครื่องเทศ เครื่องแกง อาหารรสจัด เพราะกลิ่นและรสสามารถส่งผ่านไปยังลูกได้ จึงควรงดอาหารเหล่านี้ไว้ก่อน

          เช่นเดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาดองเหล้า น้ำชา กาแฟ ยาบางชนิด (ควรปรึกษาแพทย์) เพราะลูกจะได้รับสารเหล่านี้ออกมาพร้อมน้ำนมได้ เด็กตัวนิดเดียวร่างกายยังไม่สามารถขับสารแปลกปลอมได้เร็วเท่าผู้ใหญ่ ถ้าได้รับสารนี้จนไปสะสมอยู่ในร่างกายมาก ๆ ลูกจะนอนไม่หลับ แขนขาจะสั่นอยู่ตลอดเวลา ระยะนี้คุณแม่จึงควรอดเปรี้ยวไว้กินหวาน

ตัวอย่างเมนูบำรุงน้ำนม

          เมนูแนะนำน่ากินสำหรับแม่ให้นม เช่น ดอกแคสอดไส้ทอด ข้าวยำใบแมงลัก ปลานึ่ง แกงจืดปลาหมึกสอดไส้ แกงเลียงผักเบญจพันธุ์ ผัดผักปวยเล้ง ข้าวหน้าตับ

1. แกงเลียงผักรวม

          ตำกุ้งแห้งให้ละเอียด แยกพักไว้ ตำพริกไทยกับหอมแดงและกะปิ (1ช้อน ชา) เข้าด้วยกันตามด้วยกุ้งแห้งป่น ต้มน้ำให้เดือด ใส่เครื่องแกงลงไปคน ให้ละลาย ตามด้วยกุ้งสด และใส่ผัก (เห็ด ตำลึง ฟักทอง บวบ หัวปลี) ที่หั่นไว้ตามลงไป โดยเลือกใส่ผักที่สุกง่ายเป็นลำดับสุดท้าย ปรุงรสและโรยใบแมงลัก ก่อนยกขึ้น

2. น้ำขิง

          ซอยขิงสดเป็นแว่นบาง ๆ 1 หยิบมือ ชงกับน้ำร้อนเดือดจัด ๆ ปล่อยทิ้งไว้ ให้เย็น ผสมน้ำตาล 1-2 ช้อนชา ดื่มบ่อย ๆ

3. ไก่อบขิง

          หั่นขิงแก่หั่นเป็นแผ่นบาง ๆ ทุบให้แหลก ต้มในน้ำเดือด (น้ำไม่ต้องเยอะ) จนน้ำเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม เติมน้ำมัน 2-3 ช้อนโต๊ะผัดต่อสักครู่ ใส่ ไก่ลงไปคนให้เข้ากัน เติมเกลือแล้วปิดฝาทิ้งไว้ 20 นาที รอให้น้ำงวดแล้วยกลง



          




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมนูอาหารเรียกน้ำนม อัปเดตล่าสุด 21 มิถุนายน 2556 เวลา 16:35:03 87,365 อ่าน
TOP
x close