ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะของแม่ตั้งครรภ์ (modernmom)
เรื่อง : รศ.ดร.นพ.ดิฐกานต์ บริบูรณ์หิรัญสาร สูติแพทย์ โรงพยาบาลศิริราช
ดูท่าว่าคุณแม่ท้องจะมีปัญหาจุกจิกกับเครื่องของกระเพาะปัสสาวะ อาการที่เกิดขึ้นจะรับมือและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร
ในขณะตั้งครรภ์ ระบบการทำงานของร่างกายของเราจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในด้านกายภาพ รวมทั้งฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกาย "ระบบทางเดินปัสสาวะ" ก็เป็นระบบหนึ่งของร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากระหว่างการตั้งครรภ์ครับ โดยจะทำงานมากขึ้นกว่าเดิม ท่อไตจะเกิดการยืดขยายและเคลื่อนไหวได้ช้าลงกว่าเดิม กระเพาะปัสสาวะจะมีความจุลดน้อยลงจากการกดเบียดของมดลูกและส่วนของทารกในครรภ์ เป็นต้น ซึ่งสิ่งหนึ่งที่คุณแม่หลายคนจะสังเกตได้ก็คือ คุณแม่จะปัสสาวะบ่อยกว่าเดิมทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดได้ แต่อาจจะก่อให้เกิดความไม่สุขสบายเนื่องจากต้องไปปัสสาวะบ่อยครั้งกว่าเดิมเท่านั้นเอง... แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในบางครั้งก็อาจส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ได้ โดยเฉพาะถ้าคุณแม่ไม่คอยระวังให้ดี หรือปฏิบัติตัวให้เหมาะสมครับ... เรื่องที่ว่านั้นก็คือ "การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ" นั่นเองครับ....
เรื่องการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะนั้น คุณผู้หญิงหลายคนอาจคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ทั้งนี้เพราะสามารถเกิดได้ง่ายในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงนั้นสั้นกว่าทำให้เกิดการติดเชื้อของท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะได้ง่าย... เชื่อว่าหลายคนคงเคยเกิดภาวะท่อปัสสาวะอักเสบ หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบกันมาแล้ว โดยจะมีอาการปัสสาวะบ่อย กะปริดกะปรอย รวมทั้งมีอาการปัสสาวะแสบขัดหรือเจ็บ โดยเฉพาะตอนปัสสาวะสุด ในบางกรณีอาจมีเลือดปนมาในปัสสาวะได้ด้วย ซึ่งภาวะดังกล่าวโดยทั่วไปก็ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายมาก และการรักษาด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะก็มักได้ผลดี
เพราะเหตุใดเสี่ยงมากขึ้น
ในระหว่างตั้งครรภ์ การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ อาจไม่ได้เป็นธรรมดาเหมือนตอนไม่ตั้งครรภ์ครับ รวมทั้งอาจก่อให้เกิดผลเสียต่าง ๆ กับการตั้งครรภ์ได้อีกด้วย...
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้ง่ายขึ้นกว่าตอนที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ครับ นอกจากนั้นการติดเชื้ออาจลุกลามจากบริเวณท่อปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะขึ้นไปยังท่อไต และไตได้ง่ายอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะ "กรวยไตอักเสบ" ซึ่งเป็นภาวะที่มีความรุนแรงและก่อให้เกิดผลเสียต่อการตั้งครรภ์ได้หลายอย่างทีเดียว
ถ้าเป็นเพียงกระเพาะปัสสาวะอักเสบก็จะมีอาการดังที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่ถ้าเกิดภาวะกรวยไตอักเสบ คุณแม่จะมีอาการไข้สูง หนาว สั่นร่วมด้วย รวมทั้งอาจเกิดการปวดบริเวณบั้นเอว ค่อนไปทางด้านหลัง (ซึ่งเป็นตำแหน่งของไต) ด้วยก็ได้ครับ ภาวะนี้ถือว่าเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง เพราะมักไม่ได้เป็นเพียงการอักเสบติดเชื้อเฉพาะที่เหมือนกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แต่มักเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมด้วยครับ
ผลเสียต่อการตั้งครรภ์
ในกรณีที่คุณแม่เป็นเพียงกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ก็มักไม่ส่งผลเสียอะไรมากนัก แต่ก็อาจกระตุ้นให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดได้ในบางกรณี ส่วนถ้าเกิดภาวะกรวยไตอักเสบนั้น ถ้าการติดเชื้อมีความรุนแรงมาก อาจเพิ่มความเสี่ยงของคุณแม่ต่อการแท้งบุตรได้ โดยเฉาพะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ นอกจากนั้นก็ยังเพิ่มความเสี่ยงของการเจ็บครรภ์และคลอดก่อนกำหนด รวมทั้งภาวะทารกมีน้ำหนักน้อยได้อีกด้วย
รักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบ
การวินิจฉัยการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะนั้น สามารถทำได้ไม่ยาก เนื่องจากคุณแม่มักมีอาการชัดเจน การตรวจร่างกาย รวมทั้งการตรวจปัสสาวะเบื้องต้นก็สามารถให้การวินิจฉัยได้แล้ว ส่วนถ้าเกิดภาวะกรวยไตอักเสบ อาจต้องมีการตรวจเลือดเพิ่มเติมเพื่อประเมินความรุนแรง รวมทั้งอาจต้องทำการเพาะเชื้อจากปัสสาวะหรือเลือด เพื่อหาสาเหตุที่แน่นอน เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป ส่วนการรักษานั้นโดยทั่วไปคือ
ให้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อกรณีที่เป็นเพียงกระเพาะปัสสาวะอักเสบก็ให้เป็นยารับประทานได้
หากเกิดภาวะกรวยไตอักเสบ ก็ต้องให้ยาทางหลอดเลือด
รักษาตามอาการ เช่น การให้น้ำเกลือ เพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่เสียสมดุล เพราะการดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยลดการติดเชื้อได้ รวมทั้งการให้ยาลดไข้ แก้ปวด เป็นต้น ซึ่งต่างกันในแต่ละกรณี
ทั้งนี้ตัวคุณเองก็ต้องคอยตรวจประเมินสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ดังกล่าวอีกด้วย สุดท้ายก็คงต้องขอเตือนคุณแม่ทุกท่านไว้ว่า เรื่องนี้ต้องระวังเป็นอย่างยิ่งนะครับ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ต้องทำงานทั้งวัน หรืองานยุ่ง จนลืมดื่มน้ำหรือไม่อยากละจากงานที่ทำเพื่อไปเข้าห้องน้ำ หรือในช่วงที่คุณแม่ต้องเดินทางไกล ซึ่งอาจไม่มีที่แวะพักเข้าห้องน้ำ หรือกังวลเรื่องความสะอาดของห้องน้ำสาธารณะมากเกินไป เป็นต้น ก็เลยกลั้นปัสสาวะกันไว้ และเป็นต้นเหตุของการติดเชื้อต่าง ๆ นั่นเอง
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือ เมื่อใดที่คุณแม่มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการปัสสาวะดังที่ได้กล่าวมา แนะนำคุณแม่รีบพบแพทย์ เพื่อตรวจประเมินครับ เพราะถ้าเกิดการติดเชื้อในระยะแรก และเป็นเพียงการติดเชื้อเฉพาะที่นั้น การรักษาจะสามารถทำได้ง่าย และมักได้ผลดี ซึ่งจะสามารถป้องกันการลุกลามของการติดเชื้อได้ด้วยครับ แต่อย่างไรก็ตาม ป้องกันไว้ก่อนดีที่สุดครับ
เลี่ยงกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
ป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อดังกล่าวขึ้น ด้วยการดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน (1.5-2 ลิตร) เพื่อกำจัดเชื้อโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ
ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม เพราะการกลั้นปัสสาวะจะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อแบคทีเรียและเกิดการเพิ่มจำนวน ซึ่งนำไปสู่การติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
รักษาสุขอนามัยทั่วไป เช่น ใส่ชุดชั้นในที่สะอาด ไม่อึดอัด ระบายอากาศได้ดี
หลีกเลี่ยงความอับชื้น การทำความสะอาดหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง การเช็ดทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลังเป็นต้น ส่วนการรักษาความสะอาดนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาทำความสะอาดใด ๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งไม่ต้องทำการสวนล้างด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.18 No.210 เมษายน 2556