อาหารนอกบ้าน...ลูกเสี่ยงเป็นโรคทางเดินอาหาร

โรคทางเดินอาหาร

อาหารนอกบ้าน...ลูกเสี่ยงเป็นโรคทางเดินอาหาร
(รักลูก)

          การพาลูกหลานออกไปเที่ยวนอกบ้าน หากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ลูกกินแบบไม่เลือกแล้วล่ะก็ อาจนำไปสู่โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารในเด็กได้นะคะ

          พ.ญ.พัชรินทร์ อมรวิกาส กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเด็กสมิติเวชศรีนครินทร์ ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหารในเด็กว่า

          โรคระบบทางเดินอาหารในเด็ก แม้ว่าไม่อันตราย แต่ก็สร้างความไม่สบายกาย ให้กับเด็กได้ไม่น้อย สาเหตุมาจากสุขลักษณะในการใช้ชีวิตประจำวันเป็นหลัก เพราะโดยพื้นฐานของเด็กนั้น ชอบทำตัวเป็นนักสำรวจ หยิบจับอะไรได้ก็เข้าปาก จึงทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย ที่พบได้บ่อยได้แก่

          ไวรัสลงกระเพาะ เด็กมักจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มีไข้ต่ำ ๆ เนื่องจากภาวะขาดน้ำ ทำให้อ่อนเพลีย ร้องไห้โยเย เกิดได้กับเด็กวัยตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป เนื่องจากเริ่มมีพัฒนาการในการหยิบ จับ และนำสิ่งต่าง ๆ เข้าปาก อมมือ อมของเล่น ยิ่งเด็กในช่วงวัยเรียนที่ต้องอยู่ร่วมกันในชั้นเรียน หรือใช้ของเล่นร่วมกับเพื่อน เมื่อเด็กคนหนึ่งเล่นแล้วนำเข้าปาก ทำให้ของเล่นเปียกน้ำลาย คนที่หยิบไปเล่นต่อ ก็อาจจะนำไปเข้าปากอีกจึงทำให้ติดเชื้อโรคได้ง่าย

          โรคไวรัสลงกระเพาะเป็นโรคที่ไม่อันตรายค่ะ แต่ควรหมั่นที่จะดูแลเรื่องความสะอาดล้างมือให้เด็กบ่อย ๆ ก็จะช่วยลดการเกิดโรคได้มาก แต่ก็ยกเว้นในกรณีมีอาการอาเจียนมากกว่า 2-3 ครั้งต่อวัน ซึ่งจะทำให้เด็กมีภาวะขาดน้ำมาก ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาต่อไป

          เชื้อโรคเข้าไปในกระเพาะอาหาร และส่วนหนึ่งลงไปถึงลำไส้ใหญ่ อาการที่เรียกว่าท้องเสีย คือถ่ายเหลวเป็นจำนวน 3 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายเป็นมูกปนเลือด 1 ครั้งต่อวัน อาการท้องเสียสามารถเกิดได้ทั้งจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย

           1.ท้องเสียจากการติดเชื้อไวรัส เด็กมักมีไข้ต่ำ ๆ ถ่ายเป็นน้ำไม่ค่อยมีกลิ่น ไม่เพลีย ไม่ซึม แบบนี้ไม่น่าเป็นห่วง ยกเว้นเชื้อไวรัสโรต้า จะมีอาการถ่ายเป็นน้ำ 8-10 ครั้งต่อวัน ทำให้ร่างกายเสียน้ำเยอะ อ่อนเพลีย กรณีนี้ควรไปพบแพทย์ ซึ่งอาจต้องให้เด็กนอนให้น้ำเกลือที่โรงพยาบาล แต่สำหรับซื้อไวรัสธรรมดานั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถรักษาได้ตามอาการ คือ ให้ดื่มเกลือแร่ทดแทนภาวะขาดน้ำ โดยใช้ผงเกลือแร่สำเร็จรูป ชงในน้ำ 1 แก้ว แล้วค่อย ๆ ใช้ช้อนตักป้อนทีละน้อยให้หมดภายใน 3-4 ชม. ที่สำคัญไม่ควรให้เด็กดื่มเกลือแร่จากขวดนมหรือใช้หลอดดูด เพราะจะทำให้ร่างกายดูดซึมได้ไม่ดีลำไส้ปรับสภาพไม่ทัน และเกลือแร่จะออกมากับปัสสาวะหมดนั่นเองค่ะ

           2.อาการท้องเสียจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เกิดจากเชื้อบิด หรือเชื้อไทฟอยด์ อาการของเด็กมักมีไข้สูง ถ่ายเป็นมูกและมีเลือดปน มีอาการปวดท้องแบบบิด ๆ ซึ่งกรณีนี้ค่อนข้างเป็นอันตราย และซึ่งไม่สามารถหายได้เอง จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะในการรักษา จึงควรรีบมาพบแพทย์ทันที

          ส่วนเรื่องการดูแลใช้หลักประโยชน์ ปลอดภัย และประหยัด ควรเลือกกินอาหารที่ได้สารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ หากในวันนั้นไม่สามารถทำได้ก็ต้องจัดสรรอาหารมื้อต่อ ๆ ไปให้ดี เลือกอาหารที่มีสีสันตามธรรมชาติ ไม่ฉูดฉาด เลือกร้านที่ปลอดแมลงวัน หลีกเลี่ยงอาหารที่เห็นแล้วดูเกินจริง เช่น น้ำแข็งใสสีแดงแจ๊ดแจ๋ นั่นหมายถึงมีสารเจือปนอยู่มากมาย ซึ่งเด็กบางคนอาจจะเกิดการแพ้สารเหล่านี้ได้

          หากคุณพ่อคุณแม่สามารถทำอาหารเองง่าย ๆ เช่น แซนด์วิช ไข่ดาว เพื่อนำไปกินระหว่างวันก็จะยิ่งดี เพราะเราย่อมเลือกของที่ดีที่สุดให้กับลูกเสมอ นอกจากประหยัดแล้วยังปลอดภัยและได้ประโยชน์แน่นอนค่ะ






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 31 ฉบับที่ 363 เมษายน 2556

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาหารนอกบ้าน...ลูกเสี่ยงเป็นโรคทางเดินอาหาร อัปเดตล่าสุด 16 พฤษภาคม 2556 เวลา 17:19:26 1,723 อ่าน
TOP
x close