
อุบัติเหตุที่พบบ่อยในเด็กวัย 1-3 ปี (momypedia)





เด็กจมน้ำตายส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก มักเกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึงภายในบ้าน เช่น จมถังน้ำ อ่างอาบน้ำ กะละมัง หรือไม่ก็อาจจะจมน้ำในแหล่งน้ำรอบ ๆ บ้าน เช่น คูน้ำหลังบ้าน บ่อน้ำ หรือสระว่ายน้ำ สิ่งแวดล้อมที่ดูเหมือนจะไม่มีอันตราย เพราะไม่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กเล็กที่กำลังซุกซนและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
อุบัติเหตุจมน้ำในเด็กเล็กมักเกิดขึ้นในขณะที่เด็กอยู่ในความดูแลของคุณพ่อคุณแม่ เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่เผอเรอชั่วขณะเด็กก็เกิดการจมน้ำได้ เช่น พ่อแม่เดินไปเข้าห้องน้ำ ไปล้างจาน รับโทรศัพท์ คุยเพลิน หรือเผลอหลับไปเพียงครู่เดียว การปล่อยให้เด็กวิ่งไปมาใกล้แหล่งน้ำที่ไม่มีรั้วกั้นมีความเสี่ยงต่อการจมน้ำอย่างมาก เด็กที่จมน้ำจะขาดอากาศหายใจ หากเกิน 4-5 นาที สมองจะเกิดภาวะสมองตายซึ่งไม่สามารถกลับฟื้นได้ ทำให้เสียชีวิตหรือพิกลพิการตลอดชีวิต เด็กจมน้ำส่วนใหญ่จะเสียชีวิตก่อนมาถึงโรงพยาบาล ดังนั้นทางที่ดีที่สุดพ่อแม่ควรป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์จมน้ำเกิดขึ้น และหากเกิดขึ้นเด็กจะต้องได้รับการปฐมพยาบาลและปฏิบัติการกู้ชีพเบื้องต้น ที่ถูกต้องและรวดเร็วที่สุด

สร้างสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้ปลอดภัยโดยเฉพาะหากมีลูกในวัยหัดเดิน โดยทำรั้วกั้นให้เด็กมีพื้นที่ที่จำกัด ไม่สามารถเดินเข้าห้องน้ำได้ หรือปิดประตูห้องน้ำ หรือ ใช้ถังน้ำที่มีฝาปิด มีความสูงเพียงพอที่เด็กจะไม่สามารถปีนขึ้นได้
ไม่ปล่อยให้ลูกคลาดสายตา การป้องกันเด็กจมน้ำในอ่างอาบน้ำ กะละมัง ป้องกันได้โดยไม่ปล่อยเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เล่นน้ำในอ่างหรือสระว่ายน้ำตื้น ๆ แต่เพียงลำพัง พ่อแม่พึงคิดไว้เสมอว่าระดับน้ำตื้น ๆ สามารถทำให้เด็กจมน้ำได้
ใส่ใจสิ่งแวดล้อมรอบชุมชน บ่อน้ำ คู คลองในชุมชนก็เป็นจุดอันตรายที่ทำให้เด็กจมน้ำได้เหมือนกัน อย่าคิดว่า "เรื่องอย่างนี้คงไม่เกิดกับลูกเราหรอก" เพราะอาจจะมีสักวันที่ลูกเราออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านแล้วอาจเกิดอุบัติเหตุขึ้น คนในชุมชนจึงต้องมีความตั้งใจร่วมกันที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมให้ลูกหลานในชุมชนสามารถวิ่งเล่นไปมาได้โดยปลอดภัย เพราะฉะนั้นควรช่วยกันสำรวจรอบชุมชนเพื่อดูว่าตรงไหนบ้างที่เป็นจุดเสี่ยง อาจทำให้เด็กจมน้ำได้ เช่น บ่อน้ำ คูน้ำ แล้วทำรั้วกั้น รั้วต้องสูงอย่างน้อย 150 ซม. ซี่รั้วต้องไม่ห่างเกิน 10 ซม. เป็นต้น
สอนลูกอย่าไว้ใจน้ำ เด็กอายุ 18 เดือนขึ้นไปควรได้รับการสอนให้รู้จักอันตรายของการอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ก็สามารถเรียนว่ายน้ำได้ อย่างน้อยเพื่อให้สามารถช่วยตัวเองให้โผล่พ้นน้ำขึ้นมาได้เมื่อจมน้ำ ทำให้มีผู้พบเห็นและช่วยได้ทัน อย่างไรก็ตามพ่อแม่ไม่ควรวางใจให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ที่ว่ายน้ำเป็นอยู่ในแหล่งน้ำตามลำพัง(แม้ว่าจะว่ายน้ำเป็นแล้วก็ตาม)

สิ่งที่พ่อแม่ควรตระเตรียมไว้เพื่อความปลอดภัยของลูกคือเรียนรู้วิธีกู้ชีพฉุกเฉิน เพราะหน่วยฉุกเฉินที่ต้องโทรศัพท์เรียกมาห้องฉุกเฉิน และไอ.ซี.ยู.ของโรงพยาบาลจะช่วยลูกได้น้อยมาก ผลการวิจัยพบว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ที่พ่อแม่หรือผู้อยู่ใกล้ชิดเด็กที่จมน้ำทำการปฐมพยาบาลผิดวิธี มักใช้ท่าอุ้มพาดบ่าเพื่อเอาน้ำออก บางคนเอาเด็กวางลงบนกระทะคว่ำเพื่อรีดเอาน้ำออก การกระทำดังกล่าวไม่ช่วยเหลือเด็กแต่อย่างไร แต่ทำให้เสียเวลาในการช่วยการหายใจเด็ก นอกจากนั้นผลการวิจัยยังพบว่าในรายที่พ่อแม่พาเด็กที่จมน้ำไปยังคลินิกใกล้บ้าน พ่อแม่มักจะได้รับคำแนะนำให้รีบพาส่งโรงพยาบาลต่อไปโดยที่แพทย์ไม่ได้ช่วยเหลือเบื้องต้นและไม่ได้นำส่งด้วยตัวเองทั้ง ๆ ที่เด็กมีอาการหนัก


เด็กวัย 1-3 ปี ชอบที่จะได้เล่นในสนามเด็กเล่น ได้เล่นเครื่องเล่นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชิงช้า กระดานหก กระดานลื่น ราวโหน ม้าหมุน ฯลฯ ล้วนแต่มีประโยชน์แก่เด็ก ๆ อย่างมาก แต่สนามเด็กเล่นนั้นก็มีอันตรายเหมือนกัน สาเหตุการตายส่วนใหญ่เกิดจากการล้มทับของเครื่องเล่น สำหรับการบาดเจ็บนั้นกว่า 70% เกิดจากการพลัดตกหกล้ม โดยเฉพาะเครื่องเล่นที่เป็นประเภทแกว่งไกวไปมา มีการเหวี่ยงการชนเกิดขึ้นได้เสมอคือชิงช้า ที่นั่งชิงช้าโยกไปมาควรทำด้วยผ้า ยาง หรือวัสดุที่อ่อนนุ่ม มีขอบมนและมีผิวเรียบซึ่งย่อมปลอดภัยกว่าที่นั่งชิงช้าที่ทำด้วยโลหะหรือไม้แข็ง ที่เสี่ยงต่อการโดนกระแทกหากมีเด็กวิ่งตัดหน้าตัดหลัง หรือพลัดตกลงมาได้ ส่วนในบ้านก็มีที่สูงที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรประมาทเหมือนกัน เพราะสามารถทำอันตรายถึงแก่ชีวิตของลูกได้




























รถเข็นเด็กถือเป็นหนึ่งในผู้ช่วยของคุณแม่ไปแล้ว แต่การจะใช้งานรถเข็นนั้น มีข้อควรระวังและรูปแบบการใช้งานเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย ควรเรียนรู้อุปกรณ์ของรถเข็นให้ครบทุกจุด สายรัดอยู่ตรงส่วนใดบ้าง ล็อกล้อรถเข็นแบบใด และที่สำคัญคุณแม่ควรใช้งานให้คล่องแคล่วในบ้านก่อนจะพาเจ้าตัวเล็กออกนอกบ้าน และเมื่อลูกนั่งควรรัดให้ครบทุกสาย อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาถึงแม้จะเป็นการนั่งเพียงช่วงทางเดินสั้นเดินไปที่รถก็ไม่ควรประมาท
อย่างไรก็ตามรถเข็นลูกไม่ใช่รถเข็นของ จึงไม่ควรวางของหนักเกินไป แต่หากกรณีจำเป็นมีเทคนิคการวางของคือให้วางของในตำแหน่งด้านหลังล่างของรถเข็น อาจจะอยู่ในตำแหน่งด้านหน้าของล้อหลัง หรือพอดีกับล้อหลัง แต่ไม่ควรแขวนที่ด้ามของรถเข็น เพื่อป้องกันไม่ให้รถเข็นเสียสมดุลจนอาจจะเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง
คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนำรถเข็นที่มีเด็กนั่งในรถลงบันไดเลื่อน ยอมช้าและอดทนรอลิฟต์เพื่อความปลอดภัยของลูกจะดีกว่า แต่หากเลี่ยงไม่ได้ควรอุ้มลูกไว้แทนที่จะให้นั่งบนรถเข็น พยายามจับล็อกล้อรถเข็นให้ตรงกับบันไดเลื่อน เพื่อป้องกันรถเข็นหล่นร่วงกรณีที่บันไดเลื่อนสะดุดหรือหยุดกะทันหัน จนเป็นเหตุให้กลิ้งตกลงมาทั้งหมดได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
