10 อาการตอนท้องที่มองข้ามไม่ได้ (รักลูก)
เรื่อง : ก้านแก้ว
10 อาการต่อไปนี้ อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์ในทุก ๆ ไตรมาส โดยรุนแรงมากน้อยต่างกันไปค่ะ
1.ปวดท้องน้อย (ช่วงไตรมาสที่ 1)
เพราะมดลูกที่ยืดขยาย และเส้นเอ็นที่ยึดมดลูกกับกระดูกหัวหน่าว บริเวณขาหนีบทั้ง 2 ข้าง ถูกดึงให้ตึง ทำให้เวลาที่ต้องเคลื่อนไหว จะรู้สึกปวดท้องน้อย และเจ็บบริเวณขาหนีบทั้ง 2 ข้าง โดยอาการข้างเคียงนี้จะไม่ส่งผลต่อลูกน้อย แต่จะทำให้แม่ไม่สบายตัว หรือกังวลกับอาการปวดท้องจนเกิดความเครียดได้ และบรรเทาอาการโดยการใช้ท่านอนหงาย งอเข่า งอสะโพก จะช่วยให้อาการปวดท้องน้อยลดลงได้ค่ะ
2.ขาบวม (ช่วงไตรมาสที่ 2-3)
อาการขาบวมที่เกิดจากปริมาณของเหลวในร่างกายที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นอาการปกติ สามารถบรรเทาได้โดยคุณแม่หลีกเลี่ยงการยืนนาน ๆ และพยายามนอนยกขาสูงค่ะ
แต่ถ้าเป็นอาการขาบวมที่เกิดจากภาวะเลือดคั่งในหลอดเลือดดำส่วนลึกของขา อันตรายค่ะ ส่วนใหญ่จะเกิดในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่นอนนาน ๆ การไหลเวียนของเส้นเลือดดำที่ขาลดลง คือเลือดจะหยุดไหลเวียนแล้วจับตัวแข็งในเส้นเลือด ทำให้ขาบวม เห็นเส้นเลือดขอดที่ขาชัดเจน เป็นตะคริวบ่อย ๆ เมื่อกดที่น่องแล้วรู้สึกปวด
ในรายที่มีอาการมากจนเกิดการอักเสบ และมีไข้ด้วยต้องมารับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยคุณหมออาจต้องให้ยาละลายลิ่มเลือด แต่ยาบางชนิดส่งผลไปถึงลูกในท้องได้ จึงต้องอยู่ในการดูแลของคุณหมอค่ะ
3.อาการแพ้ท้อง (ช่วงไตรมาสที่ 1)
อาการแพ้ท้องของคุณแม่แต่ละคนไม่เหมือนกัน อาจจะมีอาการแพ้ท้องธรรมดา และแพ้ท้องรุนแรงโดยอาเจียนมาก กินอาหารไม่ได้เลย เวียนศีรษะบ่อย ๆ หรือแพ้ท้องตลอด 9 เดือนของการตั้งครรภ์ ถ้าแพ้ท้องรุนแรงจะส่งผลให้ลูกในครรภ์เจริญเติบโตช้า ตัวเล็กผิดปกติ เพราะอาหารที่ลูกได้รับไม่เพียงพอ ถ้าพบว่ามีอาการแบบนี้ต้องรีบปรึกษาแพทย์
คุณแม่ควรดูแลตัวเองด้วยการหลีกเลี่ยงอาหารมัน ๆ ไม่ควรปล่อยให้ท้องว่าง อย่าปล่อยให้รู้สึกหิวหรือมีน้ำลายออกมาจำนวนมาก ควรหาขนมปังหรือแครกเกอร์กินเพื่อรองท้อง หรือตอนเช้าดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้งอุ่น ๆ สักแก้ว ก็จะช่วยลดอาการแพ้ท้องได้
4.รู้สึกจุกแน่นหน้าอกและมีเสมหะในลำคอ (ช่วงไตรมาสที่ 2)
คุณแม่ที่มีประวัติเป็นภูมิแพ้มาก่อน อาจเข้าใจว่าเป็นอาการภูมิแพ้กำเริบ ซึ่งมักมีเสมหะในลำคอตอนเช้า และเย็น แต่ถ้ามีอาการจุกเสียด แสบร้อนที่คอและยอดอกมากผิดปกติ จนตอนกลางคืนนอนไม่หลับ ควรมาพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของอาการกรดไหลย้อน
ป้องกันอาการนี้ โดยการกินอาหารมื้อเล็ก แต่บ่อยมื้อ จะทำให้ไม่มีอาการค้างในกระเพาะเยอะเกินไป เคี้ยวอาหารช้า ๆ ลดอาหารจำพวกถั่วเพราะมีแก๊สเยอะ และหลังอาหาร 1 ชั่วโมง ไม่ควรรีบนอนเร็วเกินไป ควรรอให้ระบบย่อยอาหารในร่างกายทำงานก่อน รวมทั้งไม่ควรเครียด เพราะเมื่อเครียด กรดในกระเพาะจะหลั่งออกมา ทำให้ส่งผลเสียต่อร่างกายได้ค่ะ
5.หน้ามืดเป็นลม (ช่วงไตรมาสที่ 2-3)
อายุครรภ์ 5 เดือนขึ้นไป มดลูกที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จะเอียงไปทางขวา และกดทับกับหลอดเลือดดำใหญ่ที่นำเลือดกลับสู่หัวใจ ทำให้เลือดไหลเวียนได้น้อยและช้าลง ส่งผลให้เวลาลุกขึ้นเร็ว ๆ จะเป็นลมง่าย ถ้ามีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ยกของหรือเดินมากก็เป็นลมง่าย ต้องระวังภาวะโรคหัวใจที่อาจจะตามมา
ถ้าไม่ได้เป็นโรคหัวใจ เพียงแต่หน้ามืดเป็นลมง่าย ควรบรรเทาด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมการนอน โดยนอนตะแคงด้านซ้ายลง ทำให้มดลูกไม่ทับหลอดเลือด และเวลาตื่นนอนให้ตะแคงด้านซ้ายลงแล้วนับ 1-10 เพื่อให้เลือดไหลเวียนดี จึงค่อยลุกขึ้น
6.อาการตัวบวม (ช่วงไตรมาสที่ 2-3)
เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 คุณแม่จะมีอาการบวม ซึ่งเกิดจากปริมาณของเหลวในร่างกายที่เพิ่มขึ้น หรือเมื่อต้องยืนนาน ๆ อาจมีอาการบวมที่เท้าได้ อาการบวมจะทำให้รู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว ซึ่งไม่ได้มีผลกับลูกในท้อง แต่ต้องระวังอาการบวมที่ผิดปกติจากครรภ์เป็นพิษด้วยค่ะ
โดยอาการที่สงสัยว่าครรภ์เป็นพิษ คือ คุณแม่ท้องจะมีน้ำหนักมากขึ้น ปวดหัว และตาพร่ามัว ต้องปรึกษาคุณหมอโดยด่วน
7.หายใจติดขัด (ช่วงไตรมาสที่ 2-3)
คุณแม่จะรู้สึกเหนื่อยง่าย หายใจเร็ว หายใจตื้น เกิดจากฮอร์โมนการตั้งครรภ์ทำให้การหายใจเปลี่ยนไป และระดับกะบังลมเลื่อนสูงขึ้น กระตุ้นให้หายใจเร็วและตื้นขึ้น ประกอบกับช่วงตั้งครรภ์จะมีเลือดมาผ่านหัวใจมากขึ้น 40% และสรีระของคุณแม่ท้องที่เปลี่ยนไป จะเพิ่มภาระให้หัวใจทำงานหนักขึ้น
กรณีที่คุณแม่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว หัวใจจะต้องทำงานหนักมากขึ้นหลายเท่า ดังนั้นถ้าคุณแม่รู้สึกว่านอนกลางคืนแล้วหายใจลำบาก นอนราบไม่ได้เลย มีอาการไอเป็นเลือด เป็นลมง่าย เส้นเลือดดำที่คอโป่ง ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพแม่ได้
คุณแม่ควรดูแลร่างกายโดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหนัก ๆ ที่ต้องเคลื่อนไหวเยอะเกินไป เดินให้ช้าลงและพักผ่อนให้มาก ๆ
8.ตกขาว (ช่วงไตรมาสที่ 2-3)
ช่วงตั้งครรภ์จะมีตกขาวหรือน้ำเมือกในช่องคลอดมากกว่าปกติ ตามปกติในช่องคลอดมีเชื้อราอยู่ประมาณ 10% แต่ด้วยอิทธิพลของฮอร์โมนและปริมาณน้ำเมือกที่มากขึ้น จึงทำให้ช่องคลอดอับชื้นและอักเสบได้ง่าย โดยคุณแม่จะมีอาการคันบวมแดงที่อวัยวะเพศ มีตกขาวลักษณะเหมือนแป้งออกมามาก รวมทั้งอาการช่องคลอดอักเสบเพราะติดเชื้อจากพยาธิ โดยตกขาวจะมีสีเขียวและกลิ่นเหม็น
ถ้ามีอาการตกขาวที่ผิดปกติลักษณะนี้ ควรมาหาคุณหมออย่างรวดเร็ว เพราะการติดเชื้อที่ช่องคลอดอาจจะกระตุ้นให้ถุงน้ำคร่ำแตก ทำให้คลอดก่อนกำหนดได้
9.ปัสสาวะบ่อย (ช่วงไตรมาส 1 และ 3)
ช่วงไตรมาสที่ 1 มดลูกเริ่มยืดขยายใหญ่ ขนาดของมดลูกจะเบียดกับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้คุณแม่รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย และในช่วงไตรมาสที่ 3 ลูกในท้องจะตัวใหญ่ขึ้น นอนอยู่ในท่าที่หัวหรือก้นเป็นส่วนนำ (ใกล้กับช่องคลอด) ตรงกับตำแหน่งของกระเพาะปัสสาวะพอดี อาการปัสสาวะบ่อย จึงพบในคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ปกติ เมื่อคุณแม่เริ่มชินกับการปัสสาวะบ่อยก็มักเริ่มกลั้นปัสสาวะ ทำให้อาจติดเชื้อทางเดินปัสสาวะจากแบคทีเรียได้ค่ะ
อาการเริ่มแรกของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ คือการปวดปัสสาวะบ่อย ดังนั้น ควรสังเกตว่า เวลาปัสสาวะใกล้เสร็จถ้ารู้สึกปวดเสียวที่ท้องน้อย ปัสสาวะสีขุ่นผิดปกติร่วมกับมีไข้ ปวดหลัง ให้สงสัยว่ามีการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ ต้องรีบมาพบแพทย์
คุณแม่ตั้งครรภ์จึงไม่ควรกลั้นปัสสาวะ ควรดื่มน้ำมาก ๆ เพราะน้ำจะช่วยชะล้างเชื้อโรคในร่างกายของเราออกไปด้วย
10.ปวดศีรษะ (ช่วงไตรมาสที่ 2-3)
ฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์ที่สูงขึ้นส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายทำให้อาการไมเกรนกำเริบได้ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ก่อนตั้งครรภ์เป็นไมเกรนอยู่แล้ว จึงจะต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เป็นไมเกรน เช่น ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ หลีกเลี่ยงอากาศ ร้อนจัด และเย็นจัด โดยสามารถบรรเทาอาการไมเกรนด้วยการนวดผ่อนคลาย บริเวณต้นคอและหัวไหล่ หรือดื่มน้ำหวานให้ร่างกายสดชื่นขึ้นค่ะ
โดยต้องคอยสังเกตตัวเองด้วยว่า การปวดศีรษะ มาจากอาการไมเกรนหรือครรภ์เป็นพิษ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดกับการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 ในคุณแม่ท้องแรก ท้องแฝด และครรภ์อายุมาก
ถ้าครรภ์เป็นพิษจะมีอาการปวดศีรษะบริเวณขมับ และปวดร้าวที่หน้าผาก พร้อมกับอาการตาพร่ามัว ตัวบวมและรุนแรงจนชักได้ ต้องรีบรักษาทันที เพราะหากครรภ์เป็นพิษ เกิดขึ้นแล้วรุนแรง อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 31 ฉบับที่ 362 มีนาคม 2556