ลูกติดจุกนมหลอก แก้อย่างไร

จุกนมปลอม

ลูกติดจุกนมหลอก (modernmom)
โดย นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์

          ลูกติดจุกนมหลอก อยากได้วิธีแก้ เพราะกลัวมีผลเสียต่อรูปปากและฟัน

          Q : ตอนนี้ลูกสาวอายุ 8 เดือนกว่าแล้ว ยังติดจุ๊บนม ทั้ง ๆ ที่ลูกกินแต่นมแม่อย่างเดียว ตอนที่ลูกอายุ 1 สัปดาห์ แกมักจะร้องไห้ตอนประมาณ 1-2 ทุ่มโดยไม่ทราบสาเหตุและเป็นแบบนี้ทุกวัน พอได้กินนมแม่อิ่มแล้วก็ไม่หลับไม่นอน แต่ละคืนจะหลับได้ก็ต้องดูดนมแห้งของคุณยายจนกว่าจะนอน เพราะคุณยายไม่มีน้ำนม ถ้าดูดนมแม่แกจะอาเจียนทุกครั้งเพราะล้นกระเพาะ ตอนนี้เลยติดหัวนมแล้วค่ะ คุณแม่กังวลและหนักใจมากอยากทราบถึงข้อดีและข้อเสียของการจุ๊บนม และถ้าจะเลิกต้องทำอย่างไร ควรเลิกตอนอายุเท่าไหร่ เคยได้ยินว่า ถ้าให้ลูกติดจุ๊บนมแล้วจะเลิกยาก แถมฟันและริมฝีปากก็จะไม่สวยด้วยจริงหรือเปล่า

          คุณแม่พิทยา/พัทลุง

          A : แม้จุกนมหลอกจะมีข้อดีอยู่บ้างแต่เมื่อติดแล้วอาจเลิกยาก จนทำให้เกิดผลเสียระยะยาวต่อโครงสร้างของฟัน ต้นเหตุของฟันไม่สวยอย่างที่คุณแม่เข้าใจ และยังมีปัญหาการบดเคี้ยวอาหารหรือการพูดตามมาในอนาคตได้ครับ โดยทั่วไปกุมารแพทย์ไม่แนะนำให้เด็ก ๆ ดูดจุกนมหลอกครับ เพื่อป้องกันข้อเสียที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

          และเราสามารถใช้วิธีอื่นที่ได้ผลไม่แพ้กันเพื่อหลีกเลี่ยงการติดจุกนมหลอกได้ครับ เช่น มีการศึกษาพบว่า การให้เด็กดูดจุกนมหลอก สามารถป้องกันการเกิดภาวะเสียชีวิตเฉียบพลันไม่ทราบสาเหตุ หรือที่เราเรียกว่า SIDS (sudden infant death syndrome) ได้ แม้จะยังไม่ทราบอย่างชัดเจนว่าจุกนมหลอกไปช่วยป้องกันการเกิด SIDS ได้อย่างไร แต่เราสามารถป้องกันการเกิด SIDS ได้ด้วยวิธีอื่นครับ เช่น ให้ลูกนอนหงายแทนนอนคว่ำ เลือกที่นอนหรือหมอนที่ไม่นุ่มเกินไป ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสม ไม่ให้มีผ้าห่มที่ไม่จำเป็นบนที่นอนของเด็ก

          นอกจากนั้นจุกนมหลอกยังอาจถูกใช้เป็นตัวแทนของคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูใกล้ชิดเพื่อลดอาการกังวลจากการแยกจาก เช่นเดียวกับ ผ้าห่ม ตุ๊กตา รวมทั้งเด็กบางคนอาจดูดจุกนมหลอกเพื่อกล่อมให้ตัวเองนอนหลับได้อีกด้วยครับ หากเด็กรับประทานนมแม่ไม่ควรเริ่มจุกนมหลอกก่อนอายุ 1 เดือน เพื่อไม่ให้เด็กสับสนกับการดูดนม ซึ่งรบกวนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ครับ

          ส่วนข้อเสียของการติดจุกนมก็อาจทำให้เกิดผลเสียต่อโครงสร้างของเหงือกและฟันจนผิดรูปร่างไปอย่างถาวร ซึ่งส่งผลต่อการสบฟันของเด็ก เมื่อมีปัญหาด้านการสบฟันก็จะทำให้มีผลต่อการบดเคี้ยวอาหาร เมื่อบดเคี้ยวอาหารได้ไม่ดี กระเพาะอาหารจะต้องทำงานหนักมากขึ้น ที่สำคัญร่างกายอาจได้รับสารอาหารจากอาหารที่รับประทานเข้าไปไม่เต็มที่เพราะการบดเคี้ยวช่วยให้สารอาหารส่วนหนึ่งถูกปลดปล่อยออกมาจากอาหารเพื่อให้ร่างกายดูดซึมไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายครับ

          ในเด็กที่ติดแล้วเมื่อต้องการให้เลิก คุณแม่ต้องสังเกตว่าลูกใช้จุกนมหลอกเพื่อวัตถุประสงค์อะไร เช่น เพื่อกล่อมตัวเองให้นอนหลับ ใช้เมื่อรู้สึกเบื่อหรือเหงา ใช้เมื่อรู้สึกวิตกกังวลหรือเครียด เพื่อจะได้วางแผนรับมือและช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมครับ

          เด็กที่ติดจุกนมเพราะต้องใช้กล่อมให้ตัวเองนอน มักดูดก่อนนอนถ้าไม่ดูดจะนอนไม่หลับ ต้องช่วยลูกอย่างนี้ครับ ให้เขาดูดเมื่อถึงเวลานอนพอลูกเริ่มเคลิ้ม ๆ ให้ค่อย ๆ ดึงจุกนมหลอกออก เพื่อให้เขาเข้าสู่วงจรการนอนขั้นต่อไปด้วยตัวของเขาเอง ถ้าดึงออกแล้วลูกตื่นขึ้นมาก็ไม่เป็นไรครับ ให้เขาดูดใหม่แล้วสังเกตใหม่แสดงว่าขณะที่เราดึงออกนั้นลูกยังรู้ตัวอยู่วงจรของการนอนยังไม่ลึกพอ ตรงนี้ต้องอาศัยทักษะการสังเกตและความนุ่มนวลของการดึงจุกนมออกเป็นสำคัญครับ ด้วยความที่วงจรการนอนของทุกคนจะหมุนเวียนไปเรื่อย ๆ จากหลับตื้นสู่หลับลึกแล้วหมุนขึ้นมาเป็นหลับตื้นตามด้วยรู้สึกตัวสะลึมสะลือเป็นอย่างนี้หลายรอบในระหว่างคืน

          ดังนั้นเมื่อลูกหลับไปแล้ว คุณแม่อาจวางจุกนมไว้ใกล้ ๆ ลูก เผื่อลูกตื่นขึ้นมาไขว่ขว้าไปดูดเองได้ในรอบการนอนรอบต่อ ๆ ไป เมื่อเขารู้สึกตัวว่า จุกนมไม่อยู่ในปาก จะได้ไม่ลำบากคุณแม่ต้องตื่นขึ้นมาหาจุกนมให้เขา เมื่อลูกหลับไปแล้วไม่ต้องกังวลครับ คุณแม่ก็นอนของคุณแม่ไป ฝึกเขาตอนก่อนเข้านอนก็พอครับ ที่สำคัญต้องอดทนครับ ฝึกไปเรื่อย ๆ ใช้เวลาหลายวันพอควร

          ส่วนเวลากลางวันคุณแม่อาจใช้วิธีเหมือนกับการติดจากสาเหตุอื่นครับ เช่น หากลูกต้องการจุกนมเพราะเหงา หรือกังวลกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว คุณแม่ลองหากิจกรรมที่ลูกสนใจทำร่วมกับลูกดูนะครับ วิธีนี้จะเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจได้ครับ

          การนอนในเวลากลางวันคุณแม่อาจใช้วิธีหลังนี้หรือวิธีเหมือนนอนกลางคืนก็ได้ ส่วนการติดนมคุณยายใช้วิธีแบบเดียวกันนี้ได้เลยครับ จะเลิกได้เร็วหรือช้าขึ้นกับว่าเขาต้องการจุกนมเพื่อวัตถุประสงค์อะไร ส่วนใหญ่ถ้าต้องการเพื่อเป็นตัวแทนของคุณแม่เหมือนตุ๊กตาเน่า ๆ ผ้าห่มเน่า ๆ โดยทั่วไปไม่เกิน 4 ขวบก็หายแล้วครับ ส่วนติดเพราะต้องกล่อมตัวเองให้นอนได้มักเลิกตอนกลางวันได้ก่อนกลางคืนครับ การดูดกลางวันมักหายไปก่อนเพราะพอไปโรงเรียนเด็กจะอายเพื่อนจนเลิกได้เอง แต่กลางคืนอาจติดไปอีกนานหากไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมครับ ถ้าคุณแม่ตั้งใจอยากจะปรับเปลี่ยนต้องใช้ความหนักแน่น อดทน และสม่ำเสมอเป็นอาวุธครับ ผมเอาใจช่วยครับ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลูกติดจุกนมหลอก แก้อย่างไร อัปเดตล่าสุด 17 ธันวาคม 2558 เวลา 14:33:36 20,183 อ่าน
TOP
x close