พัฒนาสมองลูกตั้งแต่ในครรภ์ (modernmom)
โดย : ชุติมา
มีการเข้าใจกันว่ารอยหยักและจุดเชื่อมต่อของสมองลูกนั้นธรรมชาติเป็นผู้สร้าง ส่วนพ่อแม่จะส่งเสริมได้อีกครั้งก็หลังคลอด แต่จริง ๆ แล้ว สมองของทารกนั้นถูกสร้างขึ้นและมีการทำงานของระบบการเชื่อมต่อแล้วตั้งแต่อยู่ในครรภ์
สมองของลูกจะมีการพัฒนาหลังการปฏิสนธิภายใน 8 สัปดาห์ ขณะที่อยู่ในครรภ์ของแม่ นิวรอน (Neuron) หรือเซลล์ประสาทของทารกจะเพิ่มขึ้น 250,000 เซลล์ต่อนาที และวันที่ลูกคลอดจะมีเซลล์สมองถึงหนึ่งร้อยพันล้านเซลล์ เพราะฉะนั้นทุกนาทีจึงมีความหมายในการพัฒนาศักยภาพสมองของลูก ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่ลูกอยู่ในท้องเลย
0-2 เดือน
แม่ตั้งครรภ์
คุณแม่ควรกินโฟลิกแอซิก แต่ถ้าจะให้ดีควรเริ่มกินตั้งแต่ 3 เดือนก่อนตั้งครรภ์ และกินต่อเนื่องอีก 3 เดือนหลังตั้งครรภ์ เพราะโฟลิกแอซิกจะช่วยป้องกัน Ectoderm ให้โค้งเข้ามาหากันเป็น Neuron Group ได้อย่างสมบูรณ์
ลูกน้อยในท้อง
เป็นช่วงสำคัญของการเพิ่มจำนวนของเซลล์สมอง เพราะหลังการปฏิสนธิแล้วส่วนที่จะกลายมาเป็นสมองเรียกว่า Ectoderm ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นแบน ๆ (ช่วง 17 วันแรก) หลังจากนั้นก็จะเริ่มโค้งมาชนกันคล้ายอุโมงค์เรียกว่า Neuron Group และจะติดกันเรียกว่า Neuron Tube หรือหลอดประสาทเมื่อครบ 21 วัน
หลังจากนั้นหลอดประสาทส่วนหน้าสุดจะกลายเป็นสมอง แล้วค่อยแยกออกไปเป็นสมองส่วนหน้า สมองส่วนกลางจะกลายเป็นไขสันหลัง และส่วนปลายจะกลายเป็นเส้นประสาทและพัฒนาเป็นอวัยวะอื่น ๆ ต่อไป
2-3 เดือน
แม่ตั้งครรภ์
ช่วงนี้การพัฒนาสมองของลูกขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของแม่ค่ะ ฉะนั้นคุณแม่ควรมีสุขภาพจิตที่ดี กินอาหารดี ไม่กินยาที่รบกวนการพัฒนาของสมองลูก ไม่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมลภาวะ เลี่ยงสเปรย์ สี หรือน้ำยาย้อมผม ดัดผม เพราะสมองของลูกกำลังอยู่ในช่วงพัฒนา
ลูกน้อยในท้อง
เซลล์สมองจะเริ่มเพิ่มมากขึ้น และทารกในครรภ์จะเริ่มรับรสของน้ำคร่ำได้ 4 รส คือ ขม หวาน เค็ม และเปรี้ยว
3-4 เดือน
แม่ตั้งครรภ์
คุณแม่ต้องดูแลร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะช่วงนี้การกระตุ้นจากภายนอกอาจจะยังไม่มีผลต่อสมองลูกสักเท่าไหร่ แต่ถ้าคุณแม่อยากฟังเพลงคลาสสิกก็ทำได้ค่ะ เพราะเพลงทำให้ผ่อนคลาย เมื่อแม่สบายใจก็ส่งผลดีไปยังลูกด้วย
ลูกน้อยในท้อง
สมองจะมีการสร้างไขมันมาล้อมรอบ ตาและหูของลูกเริ่มทำงาน เริ่มมีปฏิกิริยากับเสียงแต่จะเป็นเพียงการได้ยินเฉย ๆ ไม่สามารถจำหรือแยกแยะได้ว่าเสียงใคร
4-6 เดือน
แม่ตั้งครรภ์
ช่วงนี้คุณแม่เริ่มการกระตุ้นจากภายนอกได้แล้วค่ะ เริ่มด้วยการฟังเสียง คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นพูดคุยกับลูก ซึ่งเสียงของคุณแม่ลูกจะได้ยินอยู่แล้ว ส่วนคุณพ่อนั้นอาจจะเข้ามาคุยใกล้ ๆ ท้องคุณแม่ ระยะห่างประมาณ 1 ฟุต หรือใกล้กว่านั้น แต่ถ้าไกลกว่า 1 ฟุตลูกจะไม่ได้ยิน คุยกับลูกเป็นจังหวะ พูดซ้ำ ๆ โทนเสียงกลาง ๆ ในเวลาเดิม คุณแม่จะสังเกตได้ว่าเวลาที่เราพูดคุยกับลูก เขาจะโต้ตอบด้วยการดิ้น นอกจากพูดแล้วคุณแม่ก็ฟังเพลงคลาสสิก หรือเพลงอื่น ๆ ที่ท่วงทำนองไม่เร็วเกินไปด้วย
ลูกน้อยในท้อง
ลูกจะไวต่อการสัมผัสและมีการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อได้ เริ่มดิ้นอย่างมีพลังงานมากขึ้น ซึ่งการดิ้นหรือการขยับก็เป็นการทำงานของสมอง ช่วงนี้ลูกจะเรียนรู้และแยกแยะรสชาติอาหารได้ดี ซึ่งการรู้รสชาติที่แตกต่างกันช่วยพัฒนาเซลล์สมองและการเชื่อมต่อของสมอง
6-7 เดือน
แม่ตั้งครรภ์
คุณแม่ควรเริ่มกระตุ้นการมองเห็นของลูก ด้วยการใช้ไฟฉายส่องท้องห่างประมาณ 1 ฟุต และเคลื่อนที่ไปมาช้า ๆ จะช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ประสาทให้มีการแตกแขนงและเชื่อมต่ออย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการแตกแขนงเหล่านี้จะทำให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจได้อย่างรวดเร็วเมื่อโตขึ้นค่ะ แต่ต้องระวังอย่าให้แสงจ้าเกินไปนะคะ เพราะอาจจะเป็นอันตรายกับจอประสาทตาของลูก
ลูกน้อยในท้อง
สมองลูกยังคงเรียบและไม่มีรอยหยัก แต่จะมีการสร้างเซลล์สมองเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งประสาทตาจะเริ่มทำงานอย่างจริงจัง และตอบสนองของแสงมากที่สุดคือในช่วง 28 สัปดาห์ขึ้นไป คุณแม่ก็จะช่วยโดยการเอาไฟส่อง แต่ว่าส่องห่างประมาณสักฟุตหนึ่งก็พอ
7-9 เดือน
แม่ตั้งครรภ์
ช่วงนี้การกระตุ้นด้วยแสงและเสียงยังคงต้องทำต่อเนื่อง แต่อาจจะปรับเปลี่ยนบ้างเล็กน้อย เพราะเมื่อลูกได้ยินเสียงเหมือนกับเด็กแรกเกิดแล้ว คุณแม่ควรฮัมเพลงหรือเปิดเพลงเดิม ๆ วันละแค่ 1-2 ชั่วโมง ในช่วงเวลาเดิมจะทำให้ลูกจำเสียงเหล่านั้นได้ และหลังคลอดถ้าลูกร้อง คุณแม่ก็ฮัมเพลงหรือร้องเพลงนั้น ลูกก็จะเงียบฟัง
ลูกน้อยในท้อง
ช่วงนี้สมองของลูกจะเริ่มมีรอยหยัก เพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวของสมอง เพิ่มพื้นที่ในการเก็บข้อมูลให้มากขึ้น และการได้ยินของทารกวัยนี้จะมีประสิทธิภาพเท่าเด็กแรกเกิด และลูกจะจำเสียงของพ่อแม่ได้แล้วล่ะ
ช่วงตั้งครรภ์มักจะหงุดหงิดง่าย ตัวช่วยสำคัญอย่างคุณพ่อจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทในการดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจของคุณแม่ เพราะอารมณ์และสภาพแวดล้อมรอบตัวล้วนมีผลต่อพัฒนาการของลูกค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก