ผ่าคลอด และวิธีดูแลแผลอย่างถูกต้อง

ตั้งครรภ์

ผ่าคลอด และวิธีดูแลแผลอย่างถูกต้อง
(รักลูก)
โดย อาราดา

          หากดูแลแผลผ่าคลอดไม่ถูกวิธี ระวังปัญหาสุขภาพหลังคลอด

          การผ่าคลอดมักทำหลังจากคุณหมอได้พิจารณาแล้วว่า หากคลอดผ่านทางช่องคลอดจะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ แต่ผลจากการผ่าคลอดไม่ได้ทิ้งไว้แค่ร่องรอยแผลที่ไม่น่าดูเท่านั้นนะคะ หากดูแลแผลไม่ถูกวิธี ก็จะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ค่ะ

          มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการผ่าคลอดกันก่อน เพื่อจะได้เตรียมตัวและรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นหลังคลอดได้อย่างมั่นใจ

ทำไมต้องผ่าคลอด

          การผ่าคลอดเป็นการผ่าตัดคลอดทารกออกมาทางหน้าท้องบริเวณด้านล่างของมดลูกและจะทำในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น คุณหมอประจำตัวจะมีข้อบ่งชี้เพื่อใช้พิจารณาในการผ่าตัด ดังนี้

          ทารกมีขนาดใหญ่มาก เมื่อเทียบกับกระดูกเชิงกรานของแม่ ส่วนใหญ่ทารกมักเอาหัวลง ช่วงใกล้คลอดแพทย์จะตรวจขนาดศีรษะทารกเทียบกับกระดูกเชิงกรานของแม่ เพราะถ้าหัวใหญ่กว่ามากก็จะติดขัดจนอาจทำให้เกิดอันตรายทั้งแม่และลูกได้

         
ท่าของทารกผิดปกติ คือไม่เอาหัวลง หรือมีส่วนนำมากกว่าหนึ่ง เช่น มีศีรษะพร้อมกับแขน หรือขา มีความผิดปกติเกิดขึ้นระหว่างรอคลอด เช่น คุณแม่ปวดท้องคลอดอยู่นานก็ไม่ออกเสียที หรือระหว่างรอคลอดพบว่าการเต้นของหัวใจลดลง ทารกเริ่มมีปัญหาก็จะเปลี่ยนไปใช้วิธีผ่าตัด เนื่องจาก รวดเร็วและปลอดภัยที่สุด

          เคยมีการผ่าคลอดในครรภ์ครั้งก่อน

          คุณแม่มีอายุมาก ตั้งครรภ์ตอนอายุ 35 ปีขึ้นไป สภาพร่างกายจึงไม่สมบูรณ์เท่าแม่อายุน้อย ทำให้แรงเบ่งไม่พอ

          ความต้องการของคุณแม่เอง ถ้าไม่มีเหตุผิดปกติ คุณหมอจะอธิบายถึงข้อดีและให้คลอดแบบธรรมชาติ ซึ่งหากคุณแม่ยืนยันความประสงค์ว่าจะผ่าตัดคลอด ก็สามารถทำได้เพราะถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่คุณหมอจะต้องตรวจสภาพร่างกายทั้งตัวคุณแม่เอง และทารกในครรภ์อย่างละเอียด เพื่อจะได้ไม่เกิดอันตรายทั้งลูกและแม่ค่ะ

ลักษณะแผลผ่าคลอด…

          1.การผ่าแนวตั้ง ปกติการผ่าคลอด จะต้องผ่าลงไปถึง 7 ชั้น โดยผ่าตัดเนื้อผ่านชั้นผิวหนัง จากนั้นก็ลงไปเจอไขมันใต้ผิวหนัง ตามด้วยเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อ เยื่อหุ้มช่องท้อง ผนังเยื่อหุ้มมดลูก และกล้ามเนื้อมดลูกซึ่งเป็นชั้นสุดท้าย การผ่าตัดแนวตั้งจะผ่าจากใต้สะดือลงมาถึงช่วงกลางหัวหน่าว นิยมทำในอดีต เนื่องจาก การแพทย์สมัยนั้นยังไม่ทราบว่าสามารถผ่าแนวนอนได้ พราะเมื่อผ่าลงไปชั้นกลางๆ อย่างพวกชั้นเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ เยื่อช่องท้อง เส้นกล้ามเนื้อหน้าท้องจะเป็นแนวตั้ง แพทย์ในอดีตจึงเข้าใจว่าการลงแผลแนวตั้งจะช่วยแหวกกล้ามเนื้อได้โดยไม่ฉีกขาด

          2.การผ่าแนวขวาง แนวนอน หรือบิกินีไลน์ เมื่อเทียบกับแบบแรกแล้วจะดีกว่าตรงที่ แผลเป็นน้อยกว่า เจ็บน้อยกว่า เนื่องจาก หน้าท้องของแม่ท้องจะมีความหย่อนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น แพทย์ก็จะลงแผลแนวนอนเพื่อเปิดผิวหนังเข้าไปข้างใน เมื่อถึงบริเวณชั้นของกล้ามเนื้อ ก็จะเปลี่ยนไปลงแนวตั้งเหมือนปกติ วิธีนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อไม่ช้ำ และแผลบริเวณผิวหนังสวยกว่าแบบแนวตั้ง

ดีแน่...แค่ขยับ

          คุณหมอส่วนมากจะแนะนำให้คนไข้หลังผ่าตัด ขยับตัว เคลื่อนไหวร่างกายให้มาก การผ่าตัดคลอดก็เช่นเดียวกันค่ะ

          โดยปกติเมื่อผ่าตัดในช่องท้องจะมีน้ำคร่ำ และเลือดหลงเหลืออยู่ แม้คุณหมอจะพยายามซับให้แห้ง แต่ตามช่องท้อง ลำไส้ของคนเรามีซอกหลืบเยอะหากคุณแม่ไม่ยอมขยับตัว หรือเคลื่อนไหวร่างกาย ก็จะทำให้เกิดพังผืดขึ้นซึ่งจะไปเกาะยึดติดอวัยวะภายในช่องท้อง ส่งผลให้...

          เสี่ยงกับภาวะมีบุตรยากในอนาคต เนื่องจาก พังผืดไปติดกับท่อนำไข่ทำให้เกิดการอุดตันของท่อนำไข่ได้

          ทำให้การผ่าคลอดในลูกคนต่อไป หรือกรณีมีเรื่องที่ต้องผ่าตัดภายในช่องท้องทำได้ยากขึ้น เพราะพังผืดไปรั้งลำไส้หรืออวัยวะภายในให้ติดผนังช่องท้อง อาจทำให้ผ่าไปโดนอวัยวะภายในได้ เนื่องจากอยู่ผิดตำแหน่ง

          ลำไส้เคลื่อนไหวได้ไม่สะดวกเมื่ออายุมากขึ้น อาจทำให้ท้องผูกเรื้อรัง หากเป็นมากก็อาจทำให้ลำไส้อุดตันต้องผ่าเพื่อเลาะพังผืดออก

          เพราะฉะนั้น หลังคลอดใหม่ ๆ ถ้าสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้เร็วเท่าไร ก็จะยิ่งลดปัญหาการเกิดพังผืดได้ค่ะ

ดูแลแผลผ่าคลอด

          ในอดีตหากคุณแม่คลอดด้วยวิธีผ่าตัดจะต้องมีการเช็ดล้างทำความสะอาดแผลทุกวัน แต่ปัจจุบันคุณแม่ไม่ต้องมาเสียเวลากับความสะอาดแผลอีกแล้ว เนื่องจากความก้าวหน้าของน้ำยาล้างแผล รวมไปถึงวัสดุปิดแผลที่สามารถกันน้ำเข้าได้

          ถึงแม้จะไม่ต้องมาห่วงกังวลกับการล้าง ทำความสะอาดแผล แต่ก็มีเรื่องความสวยงามที่คุณแม่แทบทุกคนเป็นกังวล ซึ่งคุณหมอมีข้อแนะนำดังนี้ค่ะ

          ในช่วง 3 เดือนแรก ซึ่งมีโอกาสสูงที่แผลจะกลายเป็นคีลอยด์ คือมีลักษณะหนา นูน สามารถป้องกันได้โดยไม่ยกของหนัก หรือยืดเหยียดแผลมากจนแผลตึงเกินไป การยืดเหยียดจนแผลตึงทำให้ร่างกายปรับสภาพตัวเอง เนื่องจากกลัวว่าแผลจะหลุด จึงสร้างเส้นใยคอลลาเจนหนา ๆ เพื่อทำให้แผลแน่นขึ้น พอเส้นใยคอลลาเจนหนาเกินไปจึงกลายเป็นแผลนูนขึ้นมาเป็นแผลคีลอยด์ในที่สุด

          การทาครีมซึ่งมีส่วนผสมของเสตียรอยด์อ่อน ๆ หรือครีมที่มีส่วนผสมของวิตามินอี ก็สามารถช่วยลดการเกิดแผลเป็นได้ สำหรับคุณแม่ท่านไหนที่ให้นมลูกอยู่ก็ไม่ต้องกังวลใจไปว่าครีมที่ทาจะส่งผลต่อน้ำนม เพราะการทายาเป็นเพียงการใช้ยาภายนอก และเฉพาะที่ ไม่เหมือนการกินที่ตัวยาจะแทรกซึมไปทั่วร่างกาย

          หวังว่าคุณแม่ที่ใกล้จะคลอด หรือเพิ่งผ่านการคลอดมาจะนำวิธีเหล่านี้ไปปฏิบัติ เพื่อดูแลแผลผ่าตัดหลังคลอดได้อย่างถูกวิธีนะคะ

ขยับแค่ไหน เรียกว่าพอดี?

          การขยับตัวมาก ๆ จะไม่ส่งผลกระทบกับแผลหากการขยับนั้นไม่ทำให้แผลมีการยืดขยาย สังเกตง่ายๆ คือ ขยับตัวได้เท่าที่ไม่รู้สึกเจ็บ หากเจ็บหรือรู้สึกตึง ๆ แสดงว่า แผลมีการยืดขยายออกแล้ว

อาหารต้องห้าม!!

          คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าหลังผ่าคลอด ห้ามกินไข่ นม ข้าวเหนียว เพราะจะทำให้แผลหายช้า ถือเป็นความเชื่อที่ผิด ความจริงแล้วสามารถกินได้ทุกอย่าง เนื่องจาก ร่างกายสึกหรอจากการผ่าตัด การกินไข่ นม ข้าวเหนียว ซึ่งเป็นอาหารมีโปรตีนจะช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และสร้างน้ำนมให้กับลูกน้อยอีกด้วย






ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผ่าคลอด และวิธีดูแลแผลอย่างถูกต้อง อัปเดตล่าสุด 20 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 15:28:23 73,585 อ่าน
TOP
x close