6 สัญญาณ เบบี้บอกรักแม่ (รักลูก)
โดย: เมธาวี
รู้ไหมคะว่าลูกน้อยกำลังบอกรักคุณแม่ทุกวันผ่านพัฒนาการที่เขาแสดงออก แล้วสัญญาณแบบไหนนะที่แสดงว่าลูกน้อยกำลังบอกรักแม่?
1. มองหน้าสบตา ยิ้มตอบให้แม่
ลูกน้อย 1-2 เดือน เป็นวัยที่ยังไม่มีความต้องการอะไรมาก แต่ต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ หลังจากที่อยู่ในท้องแม่มานาน 9 เดือน เมื่อได้ยินเสียงแม่เขาจะตื่นเต้น สนใจ อยากคุยกับแม่
วัยนี้ตาจะเริ่มมองเห็นชัดในระยะ 8-9 นิ้ว จึงอยากเห็นหน้าแม่ใกล้ ๆ ดังนั้น การส่งเสริมพัฒนาการที่ดีให้กับลูก คือคุณแม่ควรอุ้มสัมผัสอย่างอ่อนโยน และช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือตอนอุ้มให้นมแม่ ด้วยสัมผัสที่อ่อนโยนจากอ้อมแขนของแม่ การมองหน้า สบตา และพูดคุยขณะให้นม จะช่วยส่งประสาทสัมผัสทั้ง 5 ด้วย และยังเป็นการมอบความรักที่แม่มีต่อลูก ซึ่งจะเป็นการเติมเต็มความต้องการของลูกให้ได้ความรักความอบอุ่นค่ะ
สัญญาณบอกรัก : สัญญาณบอกแม่ว่าหนูก็รักแม่นะ ด้วยการมองหน้า สบตาแม่ และยิ้มตอบ อยากให้แม่อยู่ใกล้ ๆ ซึ่งลูกน้อยจะรู้สึกอบอุ่น และยังเป็นการแสดงออกถึงพัฒนาการที่ดีของลูกน้อยวัยนี้ด้วยค่ะ
2. หันหาเสียง มองตาม แม่อยู่ไหน
เมื่อเริ่มเข้าสู่วัย 3-4 เดือน เวลาจับลูกนั่งเขาจะตั้งศีรษะได้ตรง หรือเวลานอนคว่ำจะสามารถใช้มือยันยกอกพ้นพื้นได้ ช่วงวัยนี้คุณแม่ควรอุ้มลูกพิงอกในท่านั่ง หรือปล่อยให้ลูกนอนคว่ำ ซึ่งจะเป็นช่วงที่ลูกฝึกการชันคอได้อย่างดี
นอกจากนี้ลูกจะเริ่มมีพัฒนาการด้านการมองที่ดีขึ้น เริ่มมีการมองตาม ดังนั้น คุณแม่ควรหาของเล่นที่ถือง่าย เช่น กรุ๊งกริ๊ง ตุ๊กตาบีบมีเสียง เล่นกับลูก ถือของเล่นย้ายไปมาซ้ายขวา เพื่อให้เขามองตามเสียง และเอื้อมมือคว้าจับของเล่น ระหว่างเล่นคุณแม่ชวนพูดคุยไปด้วย เช่น ของเล่นอยู่ไหนเอ่ย จับให้ดูหน่อยสิค่ะ ลูกจะชอบใจมีความสุข ส่งเสียงหัวเราะโต้ตอบกับแม่ด้วยค่ะ
สัญญาณบอกรัก : เวลาที่แม่เดินไปไหน ลูกน้อยจะคอยหันหาเสียงของแม่ ส่งยิ้ม หรือส่งเสียงหัวเราะ เพื่อแสดงให้รู้ว่าหนูอยากอยู่ใกล้แม่ อยากเล่นกับแม่ และมีความสุขที่มีแม่อยู่ข้าง ๆ
3. ส่งเสียงโต้ตอบให้แม่
ในวัย 5-6 เดือน พัฒนาการของลูกน้อยจะเริ่มเปลี่ยน โดยนอนพลิกคว่ำหงายได้เอง นั่งเอามือยันพื้นได้ มองเห็นได้ไกลขึ้น และสามารถส่งเสียงโต้ตอบได้หลายเสียงซึ่งลูกน้อยวัยนี้จะมีจุดเปลี่ยนสำคัญของพัฒนาการหลายอย่าง ทั้งด้านการกิน เริ่มมีการกินอาหารเสริม ด้านการมอง เริ่มมีการมองได้ไกลขึ้น รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน และเริ่มส่งเสียงโต้ตอบ มีความเข้าใจด้านภาษาเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้น ถ้าอยากให้ลูกมีพัฒนาการด้านการพูดที่ดี เป็นเด็กพูดเก่ง ฉลาด คุณแม่ควรพูดคุยโต้ตอบกับลูก ด้วยเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ชัดเจน จะเป็นการส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาที่ดีให้ลูกน้อย
สัญญาณบอกรัก : เขาจะสื่อสารตอบกลับบอกแม่ว่าหนูมีความสุข และรักแม่มาก ด้วยการส่งเสียงโต้ตอบ เป็นเสียงอ้อแอ้ คำสั้น ๆ พูดซ้ำ ๆ หรือส่งเสียงหัวเราะเอิ๊กอ๊ากออกมา ซึ่งการที่ลูกมีความสุขจะเป็นพื้นฐานของพัฒนาการที่ดี เก่ง และเป็นเด็กฉลาด
4. คืบคลานหาแม่
พอลูกน้อยเข้าสู่วัย 7-8 เดือน จะเริ่มนั่งทรงตัวได้มั่นคงขึ้น ลุกนั่งได้เอง เริ่มคืบคลานได้ อยากที่จะคลานไปคว้าของเล่น หรือคืบคลานไปหาคุณแม่ ซึ่งวัยนี้เป็นช่วงสำคัญที่จะส่งเสริมพัฒนาการด้านการทรงตัว ด้วยการจับลูกน้อยนั่งบนเข่า ให้ลูกน้อยพยายามลุกขึ้นนั่งด้วยตัวเอง โดยมีคุณแม่เป็นกำลังใจอยู่ข้าง ๆ หรือจับอุ้มเล่นในท่ายืน
นอกจากนี้ยังเป็นวัยที่ลูกน้อยชอบทำเสียงเลียนแบบ เช่น เลียนแบบเสียงสัตว์ ให้คุณแม่อ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง พร้อมกับให้ดูรูปภาพสัตว์ และออกเสียงสัตว์ที่คุ้นเคย ลูกจะพยายามเลียนเสียงตาม สร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินให้ลูก และยังได้เรียนรู้เรื่องสัตว์ต่างๆ และฝึกเรื่องการฟังเสียงด้วยค่ะ ให้คุณแม่ถือของเล่น หรือนำของใช้ชิ้นโปรดถือไว้ แล้วให้ลูกน้อยคลานมาหยิบ โดยการเรียกชื่อ เขาจะหันหาคุณแม่ และรีบคลานเข้าไปหา
สัญญาณบอกรัก : ให้คุณแม่ลองเดินห่างออกไป แล้วเรียกชื่อลูกให้ลูกคลานมาหา เขาจะยิ้มให้แล้วรีบคลานมาหาคุณแม่ ให้คุณแม่ชมเชยเขาบ้างว่าเก่งจังเลย คลานหาแม่ได้แล้ว ลูกน้อยจะมีความสุข และดีใจมากที่ตัวเองสามารถคลานมาหาแม่ได้ค่ะ
5. ตั้งใจฟังแม่พูด เข้าใจภาษา ออกเสียงซ้ำ ๆ
วัย 9-12 เดือน คุณแม่จะรู้สึกดีใจและภูมิใจ ที่ลูกน้อยสามารถลุกยืนได้เอง และค่อยๆ เริ่มเดินโดยเกาะไปตามโต๊ะ ดังนั้นช่วงวัยนี้ต้องปล่อยให้ลูกฝึกเดินเอง ด้วยการให้เขาได้เกาะยืน ค่อย ๆ ปีนป่ายไปตามโซฟา โดยที่คุณแม่คอยดูอย่างใกล้ชิด จะทำให้ลูกมั่นใจ กล้าที่จะเดินด้วยตัวเอง
อีกทั้งยังหยิบของชิ้นเล็ก ๆ ด้วยนิ้วมือ และเปิดหาของที่ซ่อนไว้ได้ และเข้าใจภาษามากขึ้น เข้าใจท่าทางที่คุณแม่สื่อออกไป เช่น กวักมือเรียก ยกมือห้าม หรือชูมือจะอุ้ม ลูกน้อยจะรับรู้และเข้าใจท่าทางที่คุณแม่แสดงออกมาได้มากขึ้น
นอกจากนี้จะสามารถพูดคำสั้น ๆ ซ้ำ ๆ ได้ เช่น หม่ำ ๆ จ๋าจ้ะ ดังนั้น เวลาที่ลูกน้อยหิว มีความต้องการอยากกิน จากที่เคยร้องไห้บอกคุณแม่ ก็จะพูดเป็นคำสั้น สื่อให้คุณแม่รู้ว่าเขาต้องการอะไร เพื่อให้คุณแม่ตอบสนองได้ตรงความต้องการของลูกค่ะ
สัญญาณบอกรัก : ลูกน้อยวัยนี้เริ่มออกเสียงคำสั้น ๆ ได้ ดังนั้นเมื่อเขามีความต้องการอะไร เขาจะส่งเสียง เพื่อให้แม่สนใจ และรับรู้ว่าอยากให้แม่มาจัดการให้เขานะ เช่น หิวข้าว ก็ออกเสียงหม่ำ ๆ ให้ได้ยิน เมื่อคุณแม่ตอบสนองความต้องการของลูกได้ดีแล้ว ลูกจะรู้สึกอุ่น ไม่เป็นเด็กหงุดหงิด ซึ่งจะเป็นพื้นฐานด้านอารมณ์ที่ดีต่อไป
6. พูดคำว่า "แม่"
ลูกน้อยวัย 12 เดือน เป็นวัยที่เดินได้เอง เขาก็จะสนุกกับการเดินไปหาแม่ และเป็นวัยที่กำลังจะเริ่มพูด คุณแม่ควรเสริมพัฒนาการด้วยการชวนลูกพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งของรอบตัว ให้ดูภาพ เล่านิทานสั้น ๆ พูดคำสั้น ๆ แล้วให้ลูกพูดตามหรือพูดคุยให้เรียนรู้เกี่ยวกับอวัยวะในร่างกาย ด้วยการจับมือเขาแล้วชี้ไปที่จมูก แล้วบอกว่านี่คือจมูก ชี้ไปที่ปาก ก็บอกว่านี่คือปาก ลูกจะค่อย ๆ เรียนรู้ และรู้ความหมายของคำต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
สัญญาณบอกรัก เมื่อลูกมีความสุขกับการได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ กับคุณแม่ และคุณแม่เต็มใจที่จะมอบความรัก พร้อมที่จะทำทุกอย่างให้ลูกด้วยความเต็มใจ และพร้อมมอบสิ่งที่ดีที่สุดด้วยความรักจากใจจริง ผ่านการเล่น การดูแล และการตอบสนองสิ่งที่ลูกต้องการ ลูกน้อยจะรับรู้ได้ ว่าใครคือคนที่รักเขา ใครคือคนที่เขาไว้ใจ อยากใกล้ชิดเพราะมีความสุข เขาก็จะแสดงออกมาด้วยการเรียกคำว่า "แม่" ค่ะ
การที่ลูกพูดคำว่าแม่ครั้งแรก ไม่ว่าแม่คนไหนได้ฟังแล้ว ความเหนื่อย ความเครียดที่ต้องเลี้ยงลูกมาตลอด กลับละลายหายไปกลายเป็นความดีใจอย่างที่สุดเลยค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก