สอนลูกเรียนรู้ ช่วยเหลือตัวเอง (modernmom)
เรื่อง : โอบา
ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในทุก ๆ วันที่ลูกเติบโต เราจะเลี้ยงลูกให้พอเหมาะ...พอดี ไม่ตามใจจนเหลิงหรือเข้มงวดจนลูกหงอได้อย่างไร
การเลี้ยงลูกเป็นศิลปะเฉพาะตัว ที่ยากจะหาใครเลียนแบบได้ ซึ่งแต่ละครอบครัวจะมีวิธีการอบรมเลี้ยงดูลูกแตกต่างกันไปตามพื้นฐานการเรียนรู้และอุปนิสัยใจคอของผู้เลี้ยง ลูกจึงเป็นเสมือนส่วนผสมของทั้งพ่อและแม่ (หรือพี่เลี้ยง) ขึ้นอยู่กับว่า ชีวิตในแต่ละวันของลูกคลุกคลีอยู่กับใครมากที่สุด
ลูกน้อยในวัย 1-3 ปี เป็นวัยที่เพิ่งจะเริ่มเรียนรู้โลกด้วยตัวของเขาเอง ยังต้องการที่จะเรียนรู้ ลองผิดลองถูกกับสิ่งต่าง ๆ อีกมากมายบนโลกใบนี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย สติปัญญา ภาษา อารมณ์ จิตใจ และสังคม ซึ่งนับว่าหนักหนาเอาการสำหรับเด็กตัวเล็ก ๆ ที่กำลังจะหัด "รู้ภาษา"
การเลี้ยงลูกให้พอเหมาะพอดีไม่ใช่เรื่องยาก หากเพียงคุณพ่อคุณแม่เข้าใจในพัฒนาการของลูก ให้เวลาและส่งเริมอย่างเหมาะสม
เรียนรู้ลูกรักวัยเตาะแตะ
จำเป็นอย่างยิ่งค่ะ ที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำความเข้าใจในธรรมชาติแห่งวัยของลูกให้ดี ๆ ไม่เช่นนั้นอาจมีสิทธิ์ งง สับสน ไปกับพฤติกรรมบางอย่างของลูกได้ ที่สำคัญ การทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของลูก จะช่วยให้เราปรับแนวคิด และวิธีการในการเลี้ยงลูกได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับบริบทของครอบครัวเราด้วย
วัย 1-2 ปี เริ่มต้นเรียนรู้ด้วยตัวเอง
ลูกวัยนี้กำลังน่ารักน่าชัง ด้วยกำลังเริ่มต้นหัดทำอะไรต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเดินอย่างมั่นคงให้ได้ การหัดกินอาหารด้วยตัวเอง หัดใส่เสื้อผ้าเอง ฝึกนั่งกระโถน หรือแม้กระทั่งการหัดพูดให้เป็นประโยค
ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจ และปล่อยให้ลูกได้พยายามทำอะไร ๆ ด้วยตัวเอง ก็จะช่วยส่งเสริมให้ลูกเป็นเด็กที่มีความมั่นใจในตัวเอง มีวินัยและความรับผิดชอบในอนาคตต่อไปได้ง่าย เรียกว่า เริ่มต้นดี ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง แต่ถ้าไม่เข้าใจ อะไร ๆ ก็ทำให้ลูกไปเสียหมดทุกอย่าง เพราะไม่อยากให้ลูกเหนื่อย หรือว่าตัวเองใจเย็นไม่พอที่จะรอให้ลูกทำอะไร ๆ อันนี้ย่อมส่งผลให้ลูกขาดทักษะ ทำอะไรด้วยตัวเองได้ยากและมักจะพึ่งพิงคนอื่นเสมอ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น การฝึกให้ลูกวัยนี้กินข้าว ซึ่งแน่นอนว่าถ้าคุณแม่ทำใจกับการเก็บกวาดเศษอาหารที่เลอะเทอะไม่ได้ โอกาสที่ลูกจะได้เรียนรู้ สัมผัสกับสิ่งที่เขากิน ได้ลองผิดลองถูกกับการตักอาหารใส่ปากด้วยตัวเองก็ย่อมเป็นไปได้ยากเช่นกัน
วัย 2-3 ปี ฝึกฝน ทำซ้ำ ย้ำเพื่อเรียนรู้
วัยนี้เริ่มรู้ภาษามากขึ้น มีความเป็นตัวเองมากขึ้น ช่างถาม ช่างสงสัยจนคุณพ่อคุณแม่อาจรู้สึกว่า "จะถามอะไรกันนักกันหนา" ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจว่าจริง ๆ แล้ว ก็เป็นธรรมชาติของเด็ก ที่นอกจากจะอยากพูดคุยซักถามในสิ่งที่ตนพบเห็นหรืออยากรู้ แล้วการถามยังเป็นการฝึกทักษะทางภาษาของลูกด้วยว่า สิ่งที่เขาพยายามสื่อสารออกมานั้น คุณเข้าใจหรือไม่ ซึ่งแทนที่เราจะมัวแต่รำคาญกับคำถามซ้ำ ๆ น่าจะใช้โอกาสนี้ในการอธิบายในสิ่งที่ลูกสงสัย หรือแนะนำการใช้คำพูด
การเรียบเรียงประโยคที่ถูกต้อง จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้มากกว่าจะแสดงอาการเบื่อหน่าย ดุว่า หรือตวาดแว้ดใส่ลูก ซึ่งนอกจากจะบั่นทอนจิตใจลูกแล้ว ยังส่งผลต่อบุคลิกของลูกให้กลายเป็นเด็กขี้กลัว เก็บกด ไม่กล้าซักถามได้ อีกอย่างหนึ่งคือเด็กวัยนี้เริ่มเป็นตัวเองมากขึ้น และมักจะปฏิเสธไว้ก่อน จนบางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจรู้สึกว่า "ทำไมลูกดื้อจัง"บางครั้งเราเองอาจต้องหันกลับมาคิดใหม่ทำใหม่เหมือนกัน เพราะว่าธรรมชาติของเด็กวัยนี้ไม่ค่อยชอบให้เราไปวุ่นวายนัก (แต่ก็ยังอยากให้พ่อแม่อยู่ใกล้ ๆ อยู่นะ) อยากทำอะไรด้วยตัวเองมาตั้งแต่ขวบปีที่แล้ว แต่ก็เข้าใจว่า บางครั้งคุณแม่ก็อดที่จะแนะนำหรือเข้าไปวุ่นวายไม่ได้ ทางที่ดี คือ เป็นผู้ดูอยู่ใกล้ ๆ ให้ลูกไม่ทำอะไรที่จะก่อให้เกิดอันตรายก็พอ ถ้าเขาอยากได้ความช่วยเหลือจากเรา เขาจะร้องขอเอง ขอเพียงเราอยู่ใกล้ ๆ ก็พอค่ะ
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ช่วยได้
อยู่ใกล้ เฝ้าสังเกต คอยให้ความช่วยเหลือเมื่อลูกต้องการ
ปกป้อง ดูแล เห็นว่าสิ่งที่ลูกทำจะก่อให้เกิดอันตราย
อดทน ใจเย็น และเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว รวมทั้งเรียนรู้ที่จะทำอะไร ๆ ด้วยตัวเอง
ให้กำลังใจและชื่นชมทุกครั้งที่ลูกทำอะไรด้วยตัวเองสำเร็จ
ส่งเสริมให้ลูกได้ฝึกฝนและใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่
เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็น
โดยทั้งหมดทั้งมวล ต้องไม่ลืมว่า สิ่งที่ลูกวัยนี้ต้องการมากที่สุด คือ ความรัก ความเข้าใจ การยอมรับ การคุ้มครองปกป้องและความมั่นใจว่า ตนจะไม่ถูกทอดทิ้ง รวมถึง ต้องการโอกาสในการเรียนรู้โลกรอบตัว เพื่อการเติบโตอย่างรอบด้านนั่นเอง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.17 No.204 ตุลาคม 2555