ตามติดความคิดลูกน้อย ตั้งแต่แรกเกิด

แม่และเด็ก

ตามติดความคิดหนูน้อย (Mother&Care)

           แรกเกิด : หนูมีความรู้สึกที่ไวต่อการสัมผัสทางกาย โดยเฉพาะไออุ่นจากอ้อมกอดแม่ หนูจำแม่น แล้วก็ชอบที่สุด ส่วนแม่อารมณ์ดีหรือไม่ดี หนูก็รับรู้อารมณ์ได้นะ ถึงจะยังคิดไม่เป็นก็ตาม ดังนั้น แคร์ความรู้สึกหนูบ้าง

           1 เดือน : ถึงโลกของหนูมีแค่ความหิว ความอบอุ่น ความเปียกชื้น ความง่วงเพราะนอนทั้งวัน ตื่นเมื่อหิว แต่หนูก็รับรู้ความรู้สึกของพ่อแม่ได้ ซึ่งเป็น สิ่งสำคัญที่จะพัฒนามาเป็นอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของหนูต่อไปด้วย

           2 เดือน : หนูเริ่มคุ้นหน้าบางคน รู้สึกพึงพอใจที่ได้เห็น หนูจะยิ้มให้เฉพาะคนที่หนูรักอย่างพ่อแม่ ที่ยิ้มให้ก็เพราะสมองหนูเรียนรู้ที่จะคิดเชื่อมโยง "การยิ้ม" เข้ากับ "ความพึงพอใจ" ในตัวพ่อแม่ที่หนูเห็นได้แล้วนี่นา

           3 เดือน : หนูเชื่อมโยงการกระทำกับผลที่เกิดขึ้นได้ เช่น ใช้มือให้เรียนรู้การสัมผัส ระยะทาง รูปร่าง ขนาด หนูจึงทำอาการนั้นบ่อย ๆ เช่น ตีของซ้ำ ๆ กัน แล้วก็เริ่มคิดเรื่องเหตุผลขึ้นแล้ว เช่น จับโมบาย โมบายก็เคลื่อนที่ได้

           4 เดือน : ที่ผ่านมาหนูง่วนอยู่กับการใช้มือ ตอนนี้หนูมองเห็นไกลขึ้น ทำให้มองเห็นขา จึงเล่นถีบขา หนูชอบเล่น เพราะการเล่นทำให้สมองเริ่มคิดแล้วก็รับรู้รูปร่าง สี ผิววัสดุ ความสัมพันธ์ของหนูกับสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น

           5 เดือน : เริ่มคิดว่าหนูเป็นคนละส่วนกับสิ่งอื่น ก็หนูชอบทำความรู้จักตัวเองคู่กับการเชื่อมความสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวอยู่เรื่อย เช่น ดูดนิ้วก็รู้ว่านี่คือตัวหนู แต่เมื่อเอาของเล่นเข้าปากดูด ก็รู้ว่านี่ไม่ใช่ตัวหนู แต่เป็นสิ่งอื่น

           6 เดือน : หนูคิดได้แล้วว่าถ้าอยากให้ช่วยเหลือ ต้องใช้เสียงเรียกแทนการร้องไห้ ลองใช้คำที่ได้ยิน ปาป๊า มาม๊า ดีกว่า อุ๊บ!!! เปล่งเสียงออกไปแล้วน่าอายจัง ฟังไม่ค่อยเป็นภาษา แต่ก็ได้ผลนะ พ่อกับแม่หันมาทำตาโตด้วย

           7 เดือน : หนูเริ่มเชื่อมโยงความคิดกับสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้นแล้ว เวลาได้ยินเสียงประตูเปิดปิดตอนฟ้ากำลังมืด หนูรู้เลยว่าปาป๊ากลับมาแล้ว ได้ยินเสียงตู้เย็นเปิดปิดก็รู้ว่ามาม๊าเตรียมอาหารให้ เห็นไหมหนูคิดเก่งขึ้นตั้งเยอะ

           8 เดือน : เวลาหนูเห็นสิ่งใด เห็นใคร ก็จะนึกภาพในใจเปรียบเทียบ เริ่มแยกออกว่าใครคือคนแปลกหน้า ถ้าปาป๊า มาม๊าทิ้งหนูให้อยู่กับใครก็ไม่รู้ หนูก็จะร้อง กลัว ห้ามความรู้สึกหนูไม่ได้หรอก ก็หนูรู้จักคิดเป็นแล้วนี่

           9 เดือน : หนูเข้าใจลำดับเหตุการณ์มากขึ้น พอเสียงโทรศัพท์ดัง หนูก็คิดว่าเดี๋ยวปาป๊ากะมาม๊าจะต้องมารับ หนูก็ส่งเสียงเรียกให้ด้วยนะ บางทีก็คลานเข้าไปยกหูขึ้นมาฟังเสียงข้างใน ก็อยากรู้ว่าเสียงมันเกิดขึ้นได้ไงนี่นา

           10 เดือน : หนูทดสอบความคิดอยู่เรื่อย ลองยกถ้วยน้ำเทหรือเทชามข้าว พอมาม๊ามาเช็ดก็สนใจดู พอวางถ้วยน้ำ ชามข้าว หนูก็เทอีก หนูไม่ได้แกล้งนะ แค่อยากรู้ผลของการเท ต้องการกะระยะทาง ความสูงต่ำเท่านั้นเอง

           11 เดือน : หนูจับความสัมพันธ์ในพฤติกรรมของคนและสิ่งต่าง ๆ ได้ ลองเอารูปเป็ดหรือแมวมาให้ดูสิ หนูจะขยับปากพยายามเปล่งคำว่า "ก้าบ" หรือ "เมี้ยว" ได้นะ ถึงฟังไม่ค่อยเป็นภาษา แต่หนูก็คิดเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ได้ล่ะ

           12 เดือน : หนูคิดขั้นตอนหรือกระบวนการของกิริยาท่าทางขึ้นในใจก่อนแสดงออกมาได้ด้วย เช่น ส่ายหน้าเมื่อหนูคิดว่าหนูไม่ต้องการ หรือพยักหน้าเมื่อหนูคิดว่าหนูต้องการ โบกมือเมื่อแม่บอกให้ลาคนอื่นได้อีกด้วย

          เด็ก ๆ ที่สามารถแสดงความรักต่อสิ่งอื่นนอกเหนือจากตัวเอง เช่น ตุ๊กตาตัวโปรด ชอบกอด หอม มักเป็นผลมาจากประสบการณ์ที่ตัวเองได้รับความรักจากพ่อแม่มาก่อน ดังนั้น แสดงความรักให้ลูกรับรู้ สนใจลูก ชื่นชมยินดีที่ลูกทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ เพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีต่อตัวเองให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นใจต่อไปนะคะ 




ขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตามติดความคิดลูกน้อย ตั้งแต่แรกเกิด อัปเดตล่าสุด 15 ตุลาคม 2555 เวลา 16:30:44 1,984 อ่าน
TOP
x close