7 วัน 7 แผนโภชนาการ คุณแม่ตั้งครรภ์

ตั้งครรภ์

7 วัน 7 แผนโภชนาการ คุณแม่ตั้งครรภ์ (Mother&Care)

1. กิน 1 ต้องเผื่อถึง 2

เผื่อ 1 คือลูก

          "รกมีขนาดเล็กเพราะเติบโตไม่ดี ลูกเสี่ยงต่อการแท้ง คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย มีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูง เส้นเลือดหัวใจตีบ โรคอ้วน ภาวะเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าลูกได้รับอาหารที่เพียงพอตั้งแต่ในครรภ์"

          เพราะลูกได้รับสารอาหารทั้งหมดจากแม่เพียงคนเดียวเท่านั้น ดังนั้น เมื่อจะกินสิ่งใดจึงต้องนึกถึงลูกไว้ก่อนว่าได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าเพียงพอหรือไม่ เพื่อช่วยให้มั่นใจได้ว่าลูกที่เกิดมาจะมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ เติบโตดี มีพละกำลังดี เลี้ยงดูง่าย กระตือรือร้น และเป็นโรคต่าง ๆ น้อย
 
เผื่อ 2 คือแม่

          "เรี่ยวแรงไม่ค่อยมี หงุดหงิด เหนื่อยง่าย ร่างกายอ่อนเพลีย มีอาการแทรกซ้อนบ่อย เป็นตะคริวง่าย เลือดจางบ่อย แรงเบ่งคลอดก็ไม่ค่อยมี ภาวะเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าแม่ได้รับอาหารที่เพียงพอตลอดการตั้งครรภ์"

          เพราะพลังงานในการอุ้มท้องอันยาวนานและการคลอดมาจากอาหารที่แม่กินทั้งหมด ซึ่งเป็นตัวช่วยสำคัญในการเติบโตที่ดีของลูกแล้วยังช่วยลดอาการแทรกซ้อนของแม่ด้วย เช่น กินอาหารที่มีแคลเซียมเพียงพอจะช่วยลดตะคริว กินอาหารที่มีธาตุเหล็กช่วยลดโลหิตจาง แม่ที่กินไม่ค่อยได้ควรหันมาใส่ใจตัวเองเป็นพิเศษ

2. เลือกกินให้เหมาะสม

        กินให้ได้สารอาหารครบทุกหมู่ เฉลี่ยรวมกันในแต่ละวันแล้วได้ปริมาณสารอาหารเพียงพอ

        มื้อเดียวอาจจัดให้มีอาหารครบทุกชนิด หรือชนิดใดชนิดหนึ่งสลับกับมื้ออื่น แต่เมื่อรวมกัน 3-5 มื้อในแต่ละวันแล้วได้รับครบทุกชนิดตามที่กำหนดคร่าวๆ ดังนี้

        อาหารที่มีโปรตีนครบ 3 มื้อ จากเนื้อสัตว์ ปลา กุ้ง ไข่ นม ถั่ว โยเกิร์ต เนยแข็ง งา จมูกข้าวสาลี

        อาหารที่มีวิตามินซี 2 มื้อ จากพริกหยวก มะเขือเทศ มะขามป้อม ฝรั่ง ส้ม น้ำมะนาว

        อาหารที่มีแคลเซียม 4 มื้อ จากกุ้งแห้ง เต้าหู้  ถั่วเหลือง ปลาตัวเล็กตัวน้อย นม เนยแข็ง ผักใบเขียว

        ผักใบเขียวและผลไม้ 3 มื้อ ผักผลไม้ตามฤดูกาล เช่น มะม่วง ส้ม แตงโม แครอท คะน้า บร็อคโคลี 

        ข้าวหรือก๋วยเตี๋ยว 4-5 มื้อ จากอาหารจำพวกแป้งที่ไม่ได้ขัดสี เช่น ก๋วยเตี๋ยวที่ทำจากถั่วเหลือง        

        อาหารที่มีธาตุเหล็ก 2 มื้อ จากตับ เนื้อสัตว์ ปลา ไข่แดง ขี้เหล็ก ตำลึง ใบชะพลู ถั่วเปลือกแข็ง

        น้ำเปล่าบริสุทธิ์ 8 แก้วต่อวัน
 
3. เพิ่มสารอาหารจำเป็น

        โปรตีน แม่ต้องกินให้มากพอกับความต้องการของลูก ที่นำไปใช้สร้างอวัยวะต่าง ๆ กล้ามเนื้อ กระดูก ผิวลูก โดยกินให้ได้อย่างน้อย 3 ชนิดต่อวัน ทั้งโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ปลา หรือโปรตีนจากพืช ถั่ว งา เมล็ดธัญพืชต่าง ๆ

        คาร์โบไฮเดรต อาหารที่ไม่ได้ขัดสีจะมีคุณค่าสูง เพราะให้ทั้งพลังงาน วิตามิน แร่ธาตุ เส้นใย ส่วนน้ำตาลจะให้พลังงานทันที เพราะถูกดูดซึมได้เร็ว ถ้าแพ้ท้องจนกินไม่ได้ หรือเป็นลม ก็ช่วยได้ถ้าต้องการพลังงานเร่งด่วน

        วิตามิน กินผักสด ผลไม้หลายชนิดคละกันทุกวัน เพื่อช่วยให้แม่ได้รับเส้นใยและวิตามินต่าง ๆ ครบถ้วน แม่ที่กินมังสวิรัติมักขาดวิตามินบี 12 ซึ่งพบในเนื้อสัตว์เท่านั้น ต้องกินวิตามินบี 12 เสริมด้วย รวมทั้งกินโฟลิก เพื่อการสร้างสมอง ไขสันหลัง กระดูกสันหลังทารก จากผักใบเขียว แป้งถั่วเหลือง น้ำส้ม กล้วย หรือกินยาเม็ดเสริม

        แร่ธาตุ ลูกต้องการธาตุเหล็กสูง เพื่อใช้สร้างเลือด แม่จึงต้องกินให้มาก แต่อาจทำให้การดูดซึมของสังกะสีที่จำเป็นต่อสมองลดลงได้ จึงควรกินปลา ปลาหมึก อาหารทะเลที่มีสังกะสีเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนสัปดาห์ 4-6 เป็นช่วงลูกสร้างกระดูก ควรกินแคลเซียมให้มาก กินไข่เป็นประจำ เพราะวิตามินดีในไข่จะช่วยให้ดูดซึมแคลเซียมได้ดี
 
4. ทำอาหารถูกสุขลักษณะ

        ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารทุกครั้ง

        ใช้ช้อนกลางเมื่อชิมหรือคนอาหารเสมอ

        ต้องแน่ใจว่าอาหารปรุงสุกก่อนกิน โดยเฉพาะเนื้อสัตว์

        ถ้าจะดื่มนม ต้องมั่นใจว่าผ่านการฆ่าเชื้ออย่างถูกต้องเรียบร้อยแล้ว

        อาหารสดแช่แข็ง เมื่อนำมาละลายน้ำแข็งแล้วไม่ควรนำกลับไปแช่แข็งใหม่ ควรกะขนาดที่จะใช้ปรุงให้พอดี

        หลีกเลี่ยงการปรุงด้วยการทอด ควรอบ นึ่ง ย่าง หรือปรุงอาหารด้วยไมโครเวฟ

        ใช้กระทะเคลือบที่ปรุงอาหารได้โดยไม่ต้องใช้น้ำมันหรือใช้น้ำมันน้อยที่สุด

        ทำอาหารที่ใช้นมเป็นส่วนผสมให้มาก เพื่อให้ร่างกายได้แคลเซียมเพิ่มขึ้น
 
5. รู้เท่าทันอันตราย

        ล้างผักสดและผลไม้ให้สะอาดก่อนกินทุกครั้ง เพื่อป้องกันสารเคมีหรือยาฆ่าแมลง

        อาหารค้างคืนให้อุ่นกินได้อีกเพียงครั้งเดียว ไม่ควรอุ่นซ้ำบ่อย ถ้ามีกลิ่นไม่ดีไม่ควรกิน

        ก่อนซื้อควรอ่านฉลากเพื่อพิจารณาส่วนประกอบต่าง ๆ ประโยชน์ และสารที่อาจเป็นอันตรายต่อลูกในท้องทุกครั้ง

        งดอาหารกระป๋อง ผลไม้กระป๋องแช่น้ำเชื่อม ควรหันมากินผลไม้สดแทน

        งดไอศกรีม ครีมเทียม ขนมหวาน เครื่องดื่มน้ำอัดลม น้ำผลไม้-กระป๋อง ควรดื่มน้ำผลไม้คั้นสดแทน

        งดอาหารที่ใช้แป้งเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น ขนมเค้ก โดนัท

        งดเครื่องปรุงที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสมสูง เช่น น้ำสลัด น้ำจิ้ม ที่มีรสหวานจัด

        งดอาหารที่มีสารกันบูด สารแต่งกลิ่น แต่งสี หรือสารเคมีใด ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อลูก

        งดอาหารสำเร็จรูปที่มักมีสารเคมีเพิ่มรสชาติ และเก็บได้นาน เช่น ไส้กรอก เครื่องแกงกระป๋อง

        ห้ามซื้ออาหารที่ไม่ระบุส่วนประกอบ และไม่มีสลากบอกวันหมดอายุ

        งดอาหารที่มีสลากเขียนว่า Monosodium glutamate เพราะทำให้ร่างกายแม่ขาดน้ำ และปวดหัวได้

        งดกินอาหารที่เก็บได้นาน เช่น เนื้อตากแห้ง ปลาเค็ม อาหารดอง กุนเชียง ไส้กรอก เพราะมักมีไนเตรตที่มีผลต่อ เม็ดเลือดแดง ทำให้นำออกซิเจนสู่ร่างกายส่วนต่าง ๆ ได้น้อย ส่งผลให้ลูกในท้องได้ออกซิเจนลดลงด้วย

6. เตรียมพร้อมอาหารทันใจ

        เลือกซื้อผักสดหลายชนิดมาแช่เก็บไว้ในตู้เย็นเสมอ

        ซื้อสลัดรวมผักสดสำเร็จรูปติดตู้เย็นไว้เสมอ

        ถ้าจะเก็บแช่เนื้อสัตว์และปลา ควรเก็บไว้พอประมาณ ในช่องแช่แข็ง และนำมาใช้เฉพาะทำในแต่ละมื้อ

        เนื้อสัตว์และปลาควรซื้อจากร้านที่เชื่อถือได้ว่าสะอาด ปราศจากสิ่งแลกปลอมที่เป็นพิษต่อร่างกาย

        ถ้ามีเวลาน้อย อาจปรุงอาหารไว้ก่อนแล้วแช่แข็งเก็บไว้ เมื่อจะกินค่อยนำมาอุ่นใหม่

        ถ้าไม่มีเวลาไปจ่ายตลาดจริงๆ อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง ใช้ปรุงแทนอาหารสดใหม่ได้

        ทางที่ดีที่สุดควรทำอาหารกินเอง อาจหาเวลาทำวันหยุด

        สร้างความรู้สึกสนุกกับการทำอาหาร เช่น คิดเมนู จ่ายตลาดซื้อเครื่องปรุงสดใหม่ ดัดแปลงเมนูใหม่ ๆ ที่มีคุณค่า

        ถ้าเหนื่อยจากการทำงานจริง ๆ แล้วมีกับข้าวเหลือในตู้เย็น อาจนำมาอุ่นกินใหม่บ้างก็ได้
 
7. สร้างนิสัยการกินที่ดี

        กินให้น้อย แต่กินบ่อย โดยกินครั้งละน้อย ๆ ประมาณ 5-6 มื้อ

        กินหลากหลายให้ได้สารอาหารครบดีกว่ากินมื้อใหญ่ครั้งละมาก ๆ เพียงวันละ 1-2 มื้อ

        กินให้ครบคุณค่า ลดอาหารไร้ประโยชน์ เพราะจะทำให้มีไขมันส่วนเกินหลงเหลือในช่วงหลังคลอดมาก

        กินอาหารไม่ผ่านการแปรรูป เช่น ข้าวซ้อมมือ ขนมปังธัญพืช เพราะคุณค่าอาหารที่ผ่านกระบวนการขัดสีจะน้อย เส้นใยและวิตามินบางส่วนสูญเสียไป เช่น ข้าวสาร แป้ง น้ำตาลทราย

        กินอาหารที่สดที่สุด เช่น ผลไม้ ควรซื้อตามฤดูกาลและเลือกผลไม้ที่มีผิวเต่งตึง ขั้วไม่แห้งเหี่ยว

        อดกลั้นต่ออาหารที่อยากกิน โดยเฉพาะถ้าอาหารนั้นไร้ประโยชน์ เช่น ของหวาน ของกินเล่นทั้งหลาย

        อย่ากินจนอิ่ม เพราะท้องที่โตขึ้นขณะตั้งครรภ์จะดันกระเพาะให้เล็กลง ถ้ากินมากจะยิ่งอึดอัดแน่นหน้าอกเพิ่มขึ้น







ขอบคุณข้อมูลจาก
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
7 วัน 7 แผนโภชนาการ คุณแม่ตั้งครรภ์ อัปเดตล่าสุด 1 ตุลาคม 2555 เวลา 16:15:43 4,641 อ่าน
TOP
x close